วันที่ 23 ส.ค.2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Environment Program (UNEP) จัดการประชุมระดมความเห็นในหัวข้อ "วิกฤตสิ่งแวดล้อม: ถึงเวลาปฏิรูปการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมในระบบการศึกษาไทย?" เพื่อเป็นเวทีในการร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในการยกระดับการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมให้สามารถสร้างจิตสำนึกกับเยาวชนได้อย่างแท้จริง และผลักดันให้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและกล่าวว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะเป็นประเด็นหนึ่งที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนัก จึงเกิดแผนปฏิบัติการ 5 ปีในชื่อโครงการ Chula Zero Waste ขึ้น เพื่อให้เกิดระบบการลดขยะและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งได้รวมถึงแผนงานด้านการปรับปรุงการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา
โดยได้มีการทำงานร่วมกับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม และโรงเรียนทางเลือก อย่างไรก็ดี ในภาพรวมของระบบการศึกษาไทย การเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเน้นเพียงการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ไม่มีการปฏิบัติจริงเท่าที่ควร ทำให้เยาวชนไทยไม่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องปัญหาขยะที่เกิดในชีวิตประจำวันและปัญหาโลกร้อน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนจะต้องสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอเป็นสื่อกลางในการเชื่อมประสานแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องให้มาพูดคุย หารือ และพัฒนานโยบายและหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่จะสร้างสังคมแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป”
คุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวเปิด พร้อมให้คำมั่นที่จะผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเรื่องการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง
ในการประชุม ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในต่างประเทศขององค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น UNEP, องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO และผู้แทนสถานทูตจากนานาประเทศ ได้แก่ เยอรมัน ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสนใจต่อประเด็นการศึกษาเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับฟังข้อเรียกร้องของเยาวชน นำโดย ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร หรือน้องลิลลี่ นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ที่ต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติกในไทยตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และกลุ่ม Grin Green International โดยได้เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการมีการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยมีความตระหนักและร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังวิกฤตอยู่ในขณะนี้
ปัจจุบัน โรงเรียนที่มีการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังตามแนวคิด ECO-school ยังมีอยู่น้อยมาก จากข้อมูลของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีเพียง 233 แห่ง ซึ่งเป็นปริมาณไม่ถึง 1% ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ โจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงนับเป็นโจทย์สำคัญของประเทศท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระดับโลก เนื่องจากการสร้างเยาวชนไทยให้มีจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นการสร้างรากฐานพลเมือง และจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวของประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากคการริเริ่มของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมได้มีการนำเสนอความพยายามในการปลูกฝังจิตสำนึกของเด็กในประเด็นปัญหาขยะพลาสติกในทะเลที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกรองจากปัญหาโลกร้อนนั้น โดยมีตัวอย่างจากโรงเรียนทอสี ซึ่งมีการปลูกฝังจิตสำนึกในประเด็นนี้ตั้งแต่วัยอนุบาล การปรับสภาพแวดล้อมและการกำหนดนโยบาย zero waste ที่ชัดเจนของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม รวมทั้งตัวอย่างการออกแบบ eco-school ของโรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหิน มีการจัดตั้งเครือข่าย ECOBEAST ของครูโรงเรียนนานาชาติที่ตระหนักถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ของนักเรียนที่ชื่อ Grin Green International เพื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวรณรงค์ให้สังคมไทยและรัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาขยะและปัญหาโลกร้อน และมีการจัดทำสื่อการเรียนการสอนเรื่องการจัดการขยะ โดยครูโรงเรียนนานาชาติที่ จ.ภูเก็ต และโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือนิทานเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องขยะพลาสติกในทะเล
ในการประชุมยังมีการระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอที่จะยื่นต่อกระทรวงศึกษาและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกัน แผนการดำเนินงาน เป้าหมาย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของโรงเรียนเพื่อให้เกิดการขยายจำนวนโรงเรียน eco-schools มากขึ้นในประเทศไทย และเสริมความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนเครือข่ายที่ดำเนินการอยู่
โดย นายอลงกต ศรีวิจิตรกมล ผู้อำนวยการกลุ่มสิ่งแวดล้อมศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้มีการแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา ทั้งในรูปแบบนโยบาย หลักสูตร และโครงการ แต่ก็พบเสียงสะท้อนถึงปัญหาจากบุคลากรทางการการศึกษา เนื่องจากวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นวิชาที่ไม่บังคับต่อกระทรวงศึกษาธิการ จึงถูกมองว่าเป็นงานนอกเวลาและถูกลดความสำคัญลง
ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งการบรรจุวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาในหลักสูตรแกนกลางโดยเร็วที่สุด” ด้านนายวรเมธ ชัยมงคล จากเครือข่ายเยาวชน Young Moves เน้นย้ำว่า การออกแบบกิจกรรมหรือหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาควรให้สอดคล้องกับปัญหาชุมชนในพื้นที่เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ในงานยังมีการแสดงนิทรรศการ Chula Zero Waste เกี่ยวกับปัญหาขยะในทะเล และหลักสูตรการเรียนการสอนนอกห้องเรียนที่ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนกลุ่มความสามารถพิเศษ อาจารย์ และผู้ปกครอง โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม นับว่าเป็นกิจกรรมทัศนศึกษาบูรณาการกับแผนปฏิบัติการสำรวจไมโครพลาสติกระดับประถมศึกษาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีการประยุกต์ใช้ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับชุดอุปกรณ์ CU Smart lens เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนการใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป และนิทรรศการของภาคีเครือข่าย Chula Zero Waste จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมที่จัดแสดงผลงานนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะที่ได้รับรางวัลจากต่างประเทศ การแสดงผลงานของกลุ่ม Grin Green International และ กลุ่ม ECOBEAST
Cr.เพจอีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น