วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562

นายกสภาจุฬาฯหนุน 'สวช.' พัฒนาวัคซีนไทยให้มั่นคงยั่งยืน



นายกสภาจุฬาฯ เชื่อการมี พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ สร้างโอกาสการพัฒนาวัคซีนไทยให้เกิดความยั่งยืน พร้อมหนุน “สวช.” เดินหน้าพัฒนาวัคซีน

วันที่ 25 ส.ค.2562 ศ.(กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง “พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีน โอกาสการพัฒนาวัคซีนไทยอย่างยั่งยืน” ในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่สำคัญในการควบคุมป้องกันโรค เป็นนวตกรรมทางสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มทุน การมีพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เป็นการยกระดับเรื่องวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนในประเทศมีวัคซีนใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึง

ศ. (กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาจนถึงการผลิตวัคซีนแต่ละชนิดออกมาใช้ป้องกันโรคนั้น มีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉลี่ยชนิดละ 500-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปี 2556-2558 พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าวัคซีนสูงถึงร้อยละ 92-96 ของวัคซีนที่ต้องการใช้ในประเทศ สะท้อนว่า ไทยยังพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนไม่ได้

ทั้งนี้ ขณะที่การผลิตวัคซีนเป็นธุรกิจเต็มตัว แต่กลไกตลาดยังล้มเหลว เพราะมีผู้ผลิตน้อยราย จึงมีลักษณะกึ่งผูกขาด ผู้ผลิตมีแนวโน้มผลิตเพื่อป้อนตลาดที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้น บางกรณีแม้ไม่มีสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ก็ลดการผลิตวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีกำลังซื้อต่ำ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะขาดแคลนวัคซีนมาหลายครั้ง ด้วยปัจจัยข้างต้นทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาและผลิตวัคซีนบางชนิดที่จำเป็นขึ้นมาใช้เอง

นายกสภาจุฬาฯ กล่าวว่า การมี พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ จะเปิดโอกาสให้สามารถใช้อำนาจทางกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต จัดหาและพัฒนาวัคซีน ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ต้องซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ในส่วนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตลง เพิ่มโอกาสส่งวัคซีนไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขัน มีความมั่นคงวัคซีน และพึ่งพาตนเองได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมาแล้วแต่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ 1. การจัดทำอนุบัญญัติอีก 19 รายการ และ 
2. การขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ไปดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

“ปัจจัยสำคัญสุดคือการรวมพลัง การบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามีการแก้ไขต่างๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น ผมมีความเชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ น่าจะเพิ่มโอกาสพัฒนาวัคซีนไทย ให้มีความมั่นคงยั่งยืนในที่สุด” ศ (กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...