เป้าหมายหนึ่งของการลงพื้นที่ทั่วประเทศของทีมงานข่าวนอกจากติดตามไปดูแปลง โคก หนอง นา ที่ประสบผลสำเร็จ มีปัญหาและอุปสรรคให้อะไรบ้างแล้ว อีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อไปดูผลผลิตที่ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินการแปลงโคก หนอง นา มีผลผลิตอะไรบ้าง แล้วเจ้าของมีแนวคิดที่จะต่อยอดในการแปรรูปออกจำหน่ายอย่างไรบ้าง
และการดำเนินการตรงนี้มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ต้องการสื่อสารให้กับประชาชนหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกระทรวงมหาดไทย เข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างไรบ้าง อย่างเช่นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีครัวเรือนระดับ 15 ไร่ ผลผลิตออกจำหน่ายแล้ว จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนทำจานรองจาก “ใบตองตึง” ไม่มีตลาดรองรับ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวง มหาดไทย ขอตัวอย่างไปดูและรับปากจะดูแลให้
เช่นเดียวกันที่ “จังหวัดเพชรบูรณ์” แปลงโคก หนอง นา ขนาด 3 ไร่ของ “การ์ฟิว” ณัฎฐากร แก้วคง ตำบลนาซำ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ทีมงานเคยเดินทางมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว ตอนนั้นเพิ่งเริ่มปลูกและเอามื้อสามัคคี ตอนที่เราเดินทางไปถึง เห็นมีคนงานผู้สองอายุ 2 คนกำลังช่วยกันตัดหญ้า ทั้งสองเมื่อเห็นเราถามจุดประสงค์ที่มาแล้ว บอกเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ตอนนี้ผลผลิตในสวนออกเยอะแล้ว มีทั้งผักและปลา “เถ้าแก่” นอกจากจ่ายเงินเดือนมีบ้านพักให้แล้ว ปลา ผัก ในสวนก็อนุญาตให้กินได้ด้วย อยู่แบบนี้มีความสุขมาก สบายใจกว่าอยู่บ้าน เมื่อทีมงานเดินชมสวนสักพัก “การ์ฟิว” ก็เดินทางมาถึงทักทายเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เดินพาชมแปลงโคกหนองนา พร้อมกับบอกว่า ตอนนี้ผลผลิตในแปลงออกมาหลายอย่างแล้ว ขั้นพื้นฐาน 4 พ. ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น ตอนนี้สบายแล้ว ทำบุญ ทำทานก็ได้ทำ พร้อมกับชี้ไปที่สระน้ำซึ่งมีดอกบัวหลวงกำลังออกดอกบานสะพรั่ง และกล่าวว่า ตอนนี้ขายได้ทั้งดอก เมล็ด และใบ ตลาดต้องการเยอะ ไม่พอขาย
“สำหรับดอกบัวขายดอกละ 2 บาท ตัวเมล็ดขายเป็นถุง ๆละ 20 บ้าง 30 บ้าง แล้วแต่ขนาด สำหรับใบบัวหากใบใหญ่สวย ๆ จะแพงหน่อยเขาใช้สำหรับรองรับปลงผมนาค หรือไม่ก็ไปห่อข้าว ใบละ 20 บาท ความจริงตลาดพวกนี้หาไม่ยากตามตลาด ตามรถกับข้าว บางทีคนก็มาดูถึงสวนนี้เลย..”
“การ์ฟิว” เดินไปคุยไปด้วยความภาคภูมิใจกับผลผลิตที่ออกมาจากแปลงโคกหนองนา ที่ตนเองลงมือทำเองทุกตารางนิ้ว โดยมีพ่อและแม่เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งทุกวันช่วงเย็น ๆ จะร่วมกับครอบครัวมารับประทานอาหารและทำกิจกรรมร่วมกันที่นี้
“ตอนนี้ปลา ไก่ มีเยอะ ไข่ไก่ขายได้วันหนึ่งประมาณ 2 แผง เป็ดก็มีตอนนี้ขายอยู่ตัวละประมาณ 100-200 บาท อยากต่อยอดที่ว่าจะทำโฮมสเตย์ตอนนี้ก็ยังไม่ถึง อีกอย่างหนึ่งก็คืออยากจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ สำหรับปลาผมเอามาเลี้ยงไว้เยอะแล้วมันโตผมจะทำปลาส้ม เป็นแบรนด์ปลาส้มของกำนันจุน ประมาณนั้น แล้วก็ผลิตภัณฑ์จากกล้วย กล้วยเรามีเยอะแล้วก็อาจจะตัดมาทำตากแห้ง อบแห้ง แล้วก็ทำโรงเรือนอบพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วก็ผลิตภัณฑ์จากล้วยอื่นๆอีกด้วย ซึ่งตอนนี้ผมไม่มีทุนที่จะทำตรงนั่นเลย อยากขอกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่กล้าพอที่จะร้องขอ เพราะทาง พช.เอง ท่านก็ช่วยเรามาเยอะพอสมควรแล้ว..”
หลังจากเดินชมแปลงโคก หนอง นา ขนาด 3 ไร่ ของ “การ์ฟิว” ณัฎฐากร แก้วคง ที่ตอนนี้กำลังมีผลผลิตออกมาเป็นรูปเป็นร่างพร้อมที่จะต่อยอด “ขั้นก้าวหน้า” เป็นศูนย์เรียนรู้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังติดอยู่คือว่า การต่อยอดทำโรงเรือนอบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ยังไม่มีทุนหรือแหล่งทุนที่จะเข้ามาสนับสนุนเพื่อทำเป็นวิสาหกิจชุมชน
“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ฝากคำพูดก่อนลงพื้นที่กับ “ทีมข่าวพิเศษ” ไว้ว่า “การลงพื้นที่จริง หากมีโอกาสขอให้พี่ได้คุยกับชาวบ้านบ้าง เพื่อให้กำลังใจพวกเขาที่ร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมและประเทศชาติ หรือหากชาวบ้านเขาเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลืออะไร หากช่วยได้ ก็จะได้ช่วยเหลือกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนได้บ้าง..”
หน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” การเข้าถึงประชาชนแบบให้ทันต่อความต้องการเป็นสิ่งหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยโหยหาจากภาครัฐในทุกมิติ โดยเฉพาะประชาชนจำนวนมากมักติดภาพการทำงานของข้าราชการแบบ “เช้าชาม เย็นชาม” และซ้ำมองภาพกลุ่มข้าราชการมีการทุจริตคอร์รัปชัน ค่อนข้างสูง ซึ่งความจริงมีข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่ทำงานเพื่อประชาชนได้ “อยู่ดี กินดี”
“ทีมข่าวพิเศษ” ได้ต่อสายให้ “การ์ฟิว” หรือ ณัฎฐากร แก้วคง ได้เล่าการดำเนินการแปลงโคกหนองนา ประสบผลสำเร็จอะไรบ้าง และอยากต่อยอดอย่างไรต่อ กับปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ซึ่งหลังพูดคุยเสร็จเรียบร้อยการ์ฟิว ยิ้มแย้มด้วยใบหน้าเบิกบานแบบมีความหวังในการที่จะต่อยอดเป็นขั้นก้าวหน้า
“นางสาวมนทิรา เข็มทอง” พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ถือว่าเป็นมือทำงานคนหนึ่งที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ตั้งแต่ตั้งไข่ จนขับเคลื่อนกระจายไปสู่ประเทศ มีครัวเรือนเข้าร่วม 25,179 ครัวเรือน แบ่งเป็นขนาด 15 ไร่จำนวน 337 แปลง ขนาด 1ไร่และ 3 ไร่ 24,842 แปลง จาก 73 จังหวัด 575 อำเภอ และ 3,246 ตำบล เม็ดเงินกระจายสู่ชุมชนหมู่บ้านมากกว่า 4,000 พันล้าน เริ่มตั้งแต่จ้างงาน 8,000 กว่าตำแหน่ง สร้างงานให้รถขุดดิน คนขายต้นไม้ คนขายปุ๋ยชีวภาพ เจ้าของคอกวัว คอกหมู และร้านขายอุปกรณ์การเกษตร จากการริเริ่มตรงนี้ปัจจุบันประชาชนอยู่แบบ 4 พ. คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น นับหมื่นครัวเรือน สร้างชุมชนสามัคคีแบบพึ่งพาตนเองได้ หลายชุมชนหมู่บ้าน
“พี่มน” หรือ นางสาวมนทิรา เข็มทอง นัดให้ทีมเราไป เพื่อดูแปลงโคกหนองนาอีกแปลงที่ วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ อำเภอศรีเทพ ซึ่งห่างจากแปลงของ “การ์ฟิว” จากอำเภอหล่มเก่า ประมาณ 200 กิโลเมตร พร้อมกับบอกว่าจะรออยู่ที่วัดเพื่อร่วมดูแปลงโคก หนอง นา ของวัดที่ร่วมทำด้วยกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขนาด 15 ไร่
“พระภาวนามังคลาจารย์ วิ.” เจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยพัฒนาการจังหวัดเดินพาชมแปลงโคกหนองนา เท่าที่สังเกตสภาพดินที่นี่ไม่ดี มีแต่ก้อนกรวด แม้ทางวัดพยายามห่มดิน ใส่ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อปรับสภาพดินแล้วก็ตาม พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. พาชุมแปลงพลางพรรณนาบรรยายถึงความดีของปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญว่า ว่าเป็นเป็นคนติดดิน เข้าถึงประชาชน เป็นคนวัด มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตอนเริ่มทำโคก หนอง นา ท่านก็มาหว่านข้าวและร่วมปลูกต้นไม้ที่แปลงแห่งนี้ ปัจจุบันต้นไม้โตแล้ว พร้อมกับกล่าวว่าที่นี่มีปัญหาสภาพดิน แต่ก็พยายามปลูกผักไว้แจกจ่ายประชาชนยามเดือดร้อน
“จริง ๆ เพื่อให้ประชาชนพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ประสบปัญหาโควิด เพราะว่าอาหารการกินเราก็ไม่ได้เตรียมพร้อมส่วนใหญ่ทำงานที่กรุงเทพกัน เวลากลับมาบ้านนอกไม่มีอาหาร เพราะว่าที่ไร่ที่นาก็แห้งแล้ง ไม่ได้มีการปลูกกล้วยหรือปลูกอาหารที่จะกิน ชีวิตประจำวันของเกษตรกรที่นี้เนื่องด้วยชาวบ้านเป็นคนยากคนจนหาเช้ากินค่ำ เวลาที่จะมาทำการเกษตรที่หล่อเลี้ยงชีวิตยาก ก็เลยคิดว่ามีโครงการโคก หนอง นา เกิดขึ้นก็เลยอยากให้มี อยากให้ประชาชนมีอาหารกินการอยู่ มีโรงครัว อย่างสบายไม่เดือดร้อน ช่วยประหยัดเงินเพราะว่าถ้าเรากินแบบประจำๆ โคกหนองนาก็ช่วยให้ประหยัดลง เพราะว่าถ้าเรามีมะละกอ มีสะเดา และผักต่างๆเราไม่จำเป็นต้องซื้อ เราก็จะได้ประหยัดเงินมา รายจ่ายเราก็ลดลง การเป็นอยู่ก็ไม่เดือดร้อนดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 ท่านบอกว่าให้ชาวบ้านอยู่แบบเรียบง่ายอยู่แบบมัชฌิมา คืออยู่แบบทางสายกลางพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่สร้างความทุกเดือดร้อนให้กับตนเองและครอบครัว หรือสังคม อยู่แบบสบาย ๆ ซึ่งโคก หนอง นา ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทำอยู่นี่ คือคำตอบที่ชัดเจน ตรงเป้าหมายที่สุดในยุคนี้..”
ไม่ไกลจากวัดพระวรราชาทินัดดามาตุมากนัก “พี่มน” พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์พาไปดูอีกแปลงโคก หนอง นา อีกแปลงหนึ่ง ขนาด 3 ไร่ ซึ่งตรงนี้แปลกกว่าแปลงโคก หนอง นา ที่ทีมงานดูมาแล้วทั่วประเทศคือมีป้าย “โคก หนอง นา โมเดล” ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ประกบอยู่กับป้าย กรมการพัฒนาชุมชนร่วมอยู่ด้วย ได้สอบถามเจ้าหน้าที่คนหนึ่งตอบว่ามันคือ แปลง โคก หนอง นา ของราษฎรผู้กระทำความดี พร้อมกับอธิบายต่ออีกว่า
“ราษฎรผู้กระทำความดี” คือ บุคคลตัวอย่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงอนุเคราะห์ให้พสกนิกรของพระองค์ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อตอบแทนคุณงามความดีของประชาชนทั่วไปที่บำเพ็ญตนให้กับสังคมและประเทศชาติ
“ลุงผวน ขามโคกกรวด” ราษฎรหมู่ 5 ต.นาสนุ่น อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ อายุ 72 ปี คือ ราษฎรผู้โชคดีและมีบุญวาสนาที่ว่านั้น
“จื้อ” หรือ “ศุภกร ขามโคก กรวด” ลูกชายลุงผวน เล่าให้ฟังว่า วันนี้พ่อไม่สบายเลยไม่ได้มาดูแปลงโคกหนองนา ตามปกติ หากว่างไม่ได้ไปวัด ท่านจะมาอยู่ที่แปลงโคกหนองนาแห่งนี้
“ราษฎรผู้กระทำความดี คือ รางวัลความดีที่ในหลวงท่านทรงมอบให้กับคุณพ่อ เนื่องจากพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นคลิปของวัดพระพุทธแสงธรรม จ.สระบุรี ชื่อคลิปว่า ขอจับมือคนมีบุญ จิตเป็นบุญ – ธรรมะสัญจร เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก ซึ่งเนื้อหาในคลิป หลวงพ่อ พระสุนทรธรรมภาณ เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี คณะธรรมยุต ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ชอบช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนทั่วไปที่ยากไร้ วันหนึ่งท่านสัญจรมาถึงบ้าน เห็นพ่อกำลังกวาดถนนอยู่ ท่านคงสงสัยว่าทำไมกวาดถนนสาธารณะ จึงเดินเข้าไปถามทำให้รู้ว่า คุณพ่อกวาดหินกรวดเล็ก ๆ เพื่อให้พระที่เดินบิณฑบาตสบายเท้า ไม่ถูกก้อนกรวดทิ่มแทงเท้า และคุณพ่อท่านก็ทำแบบนี้ประจำ รายละเอียดในคลิปจะมีอยู่..”
หลังจากมีภาพเผยแพร่ออกไปไม่นานก็มีหน่วยทหารจากกองบัญชาการทหารพัฒนา มาหาพ่อที่บ้านสอบถามการเป็นอยู่ และอาชีพ คุณพ่อท่านอยากมีบ่อน้ำ ทำแปลงเกษตรแบบ “โคก หนอง นา” ทหารจึงมาขุดบ่อให้ นำอุปกรณ์การเกษตรมาช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันแปลงตรงนี้มีประมาณ 9 ไร่ตอนนี้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็มาช่วยทำให้ด้วย มีมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำหรือ “EarthSafe” เข้ามาดูแลเรื่องการติดตั้งโซล่าเซลล์ให้
“ตอนนี้การเป็นอยู่ของครอบครัวเราหากวัดตามทฤษฎี 9 ขั้นของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขั้นพื้นฐาน 4 พอ คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็นครบแล้ว ทำบุญทำทานแบ่งปันครบแล้ว ตอนนี้ถึงขั้นก้าวหน้าบ้างแล้ว คือ ขาย แต่ ยังไม่เต็มที่เพราะเพิ่งเริ่มได้ปีกว่า ๆ และปัญหาหลักที่นี่คือ ปัญหาที่ดิน ต้องแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม..”
นางสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้สรุปภาพรวมของการดำเนินการแปลงโคก หนอง นา ในจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า ในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเป้าหมายโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เราดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 จำนวน 1,081 แปลง แบ่งเป็น ขนาด 1 ไร่ 202 แปลง ขนาด 3 ไร่ 874 แปลง และขนาด 15 ไร่ 5 แปลง ได้รับการจัดสรรเงิน 164,219,240 บาท ดำเนินการขุดปรับแปลงเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ตอนนี้ขั้นพื้นฐานตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวง 4 พ.คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ชาวบ้านพึ่งตนเองได้แล้ว
“การที่ก้าวสู่การต่อยอดสู่เขตเศรษฐกิจพอเพียงในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นำ Model ของการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง หรือที่เราเรียกกันว่า SEDZ ซึ่งหมายถึง Sufficiency Economy Development Zones ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ มาปรับใช้ ได้แก่ การสร้าง PLM (Province Lab Model) : ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ โดยทั้ง 11 อำเภอ จะต้องดำเนินการสร้างเครือข่าย DLM ซึ่งประกอบด้วยครัวเรือน HLM ในแต่ละอำเภอ รวมกันเป็น DLM และจะใช้ CLM แม่ข่าย ได้แก่ แปลงวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ แปลง นางสาวไพลินรุ้ง ขันธ์วราพันธิชัย ตำบลยางงาม อำเภอหนองไผ่ แปลง นายพัฒนพงษ์ เทืองน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก แปลงนายบุญธรรม ดวงอุปะ หมู่ที่ 6 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง และแปลงของ นายวรพล บุญศิริ ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก เพื่อให้ ครัวเรือน HLM แต่ละอำเภอเข้ารับการฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้โคกหนองนาโมเดล โดยใช้กลไก 3- 5 -7 สำหรับการขับเคลื่อน : สานพลัง 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคี ร่วมปฏิรูปประเทศด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเรามั่นใจว่าตอนนี้เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนการต่อยอดเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว..”
การตระเวนดูแปลงโคก หนอง นา ทั้ง 3 แปลงตลอดทั้งวันใช้เวลานานจนใกล้มืดค่ำ ก่อนจากกัน “พี่มน” พัฒนาการจังหวัดฝากบอกให้ทีมงานพรุ่งนี้ให้ไปดูอีกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอวิเชียรบุรี ย้อนกลับไปทางอำเภอหล่มเก่า ซึ่งเป็นอำเภอติดกันกับอำเภอศรีเทพที่ตั้งของแปลง “ลุงผวน” ราษฎรผู้กระทำความดี พร้อมกับกล่าวว่าไม่ห่างไกลนักตรงนั้นถึง “ขั้นก้าวหน้า” หมายถึงมีผลผลิตจากโคก หนอง นา ออกจากหน่ายและแปรรูปแล้ว
“สำนึกรักบ้านเกิด” เป็นโครงการที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมรณรงค์มาเนิ่นนานแล้วในสังคมไทย เพื่อปลุกจิตสำนึกให้เยาวชน นักศึกษาที่จบการศึกษากลับไปพัฒนาบ้านเกิดมากกว่ามุ่งเข้าสังคมอุตสาหกรรมหรือทิ้งบ้านเกิดเรือนนอนปล่อยให้ที่ดิน บ้าน หรือพ่อแม่อยู่ตามลำพัง ซึ่ง “นางสาวฐิติรัตน์ พรมนอก” ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหญิงสาวคนหนึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว จากบ้านไกลเรือนนอนไปค้าแรงงานอยู่ที่จังหวัดชลบุรี จนวันหนึ่งในฐานะลูกสาวคนเดียวของครอบครัวเห็นว่า พ่อแม่ทำเกษตรมาตั้งแต่เกิด แต่ทำไมกำหนดราคาไม่ได้ ทำนาข้าวแต่ต้องซื้อข้าวกิน มีแต่หนี้ ซ้ำตอนหลังพ่อป่วย จึง “ลาออก” จากงาน มาดูแลพ่อและแม่
“เราแม้จะเป็นลูกชาวนา แต่ไม่รู้เรื่องเกษตรเลย เริ่มแรกก็ไปเรียนกับอาจารย์เทพ เพียมะลัง ประธานเครือข่าย “คนต้นน้ำเพชบุระ ตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ต.นางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ที่บอกว่า ถ้ารักพระเจ้าอยู่หัว ให้มาเรียนรู้งานของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครั้งแรกเราไปดูของท่านซึ่งทำเกี่ยวกับโคกหนองนาด้วย ท่านเป็นวิทยากรด้วยในวันนั้น พาไปดูในส่วนของพื้นที่ซึ่งบริบทพื้นที่มันเหมือนกับของเรา คือน้ำท่วม แล้งก็โคตรแล้งเลย พอกลับมาก็มองพื้นที่เราว่ามันมีปัญหาแบบนี้นะ เราอยู่ติดแม่น้ำก็จริงแต่เราไม่สามารถใช้ได้ เพราะว่าสระน้ำอยู่ปลายนา ซึ่งถ้าพ่อป่วยผักทุกอย่างคือตาย เพราะว่าพ่อเป็นคนเดียวที่สามารถเอาเครื่องลงได้แล้วก็ต่อน้ำเป็น ก็เลยเข้าไปที่ ธกส. แล้วก็ประสานเรื่องพ่อแม่เป็นหนี้ไหม จึงทำเรื่องขอรับใช้หนี้ต่อ แล้วก็ขอกู้มาเพิ่ม 40,000 บาทเพื่อที่จะมาขุดแนวน้ำ เพราะนั้นเราคิดว่าน้ำคือปัญหาหลัก หลังจากขุดสระเสร็จก็ทำมาตั้งแต่ปี 61 จนโครงการ โคก หนอง นา เข้ามาก็ไปสมัคร จนมีผลผลิตดังที่เห็นทุกวันนี้..”
นางสาวฐิติรัตน์ พรมนอก เล่าต่อว่า ตอนนี้มีรายได้ทุกวันขายไข่บ้าง ผักบ้าง ส่งให้กับคนวัยเกษียณและคนสูงอายุ ซึ่งเป็นลูกค้าประจำมีอยู่ประมาณ 10-20 ครัวเรือน สำหรับผลผลิตที่เป็นผักปลอดสารพิษในสวนก็จะไปขายที่โรงพยาบาลและตลาดศาลเจ้าที่แปลงโคก หนอง นา “ตาตา -ยายเอี่ยม” เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนแถวนี้ด้วยจะมาทำร่วมสบู่บ้าง น้ำยาซักผ้า ปลอดสารเคมีบ้าง บางส่วนเอาไว้ใช้ หากไม่หมดก็เอาไปขาย ตอนนี้มีความสุขกว่าทำงานบริษัทเยอะ เพราะได้อยู่กับครอบครัวและได้ทำสิ่งที่ตนเองชอบ!!
จังหวัดเพชรบูรณ์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 117 ตำบล 1,430 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ ประมาณ 7,917,760 ไร่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ ลักษณะทางกายภาพของจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มแบบท้องกระทะ ประกอบด้วยเนินเขา ป่า และที่ราบเป็นตอน ๆ สลับกันไป พื้นที่มีลักษณะลาดชันจากเหนือลงไปใต้ ตอนเหนือมีทิวเขาสูง ตอนกลางเป็นพื้นที่ราบและมีเทือกเขาขนาบกันไปทั้งสองข้างมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายสำคัญโดยไหลจากจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ ผ่านไปสู่จังหวัดในภาคกลาง แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ จึงส่งผลให้พื้นจังหวัดเพชรบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ดินมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทำการเกษตร โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังโรงงาน ถั่วเขียว ยาสูบ ยางพารา มะขามหวาน กะหล่ำปลี เป็นต้น
การดำเนินการขับเคลื่อนแปลง โคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นอกจากตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านแล้ว สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ระบุไว้ว่าจะมุ่งการส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม และรวมทั้งมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตรกรรุ่นใหม่อีกด้วย