เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ร่วมกับผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 เพื่อให้ทุกจังหวัดเป็นแนวหน้าและเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ร่วมกับทีมงานของ UN และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งในท้องถิ่นและชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
"การลงนามประกาศเจตนารมณ์ฯ ในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่ชาวมหาดไทยทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดีให้กับโลกใบนี้ อันเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเห็นถึงความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะเกื้อกูลทำให้ทรัพยากรน้ำอันมีค่า อันมีความหมายต่อชีวิตคนไทยและชาวโลกได้อุดมสมบูรณ์ ดังพระราชดำรัส "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า" ซึ่งได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันสะท้อนให้เห็นแก่นของการที่จะทำให้วัฏจักรของน้ำสมบูรณ์ คือ การทำระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์ สอดรับกับเรื่องการลดภาวะโลกร้อน
รวมไปถึงแนวพระราชดำริที่สะท้อนผ่านโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มุ่งส่งเสริมให้มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืชและทรัพยากร ด้วยการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติจนเกิดประโยชน์ และมีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชและทรัพยากรสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมให้พันธะสัญญาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลก เพราะ "เราทุกคนไม่มี 'แผนสอง' ในเรื่องการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี 'โลกที่สอง' ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว" นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามประกาศเจตนารมณ์ฯ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน "โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 13 Climate Action ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" บังเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัดที่เป็นผู้นำของจังหวัด บูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาทุกแห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดหาพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน ป่าชุมชน สวนสาธารณะ ป่าชายเลน หรือสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อจัดกิจกรรม "ปลูกต้นไม้คู่ชีวิต" ของนักเรียนทุกคนในทุกโรงเรียน
ตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของรัฐบาล ด้วยการส่งเสริมให้นักเรียนปลูกต้นไม้ในพื้นที่นั้นๆ อย่างน้อยคนละ 1 ต้น เพื่อให้ต้นไม้เป็นเหมือนเพื่อนคู่ชีวิตที่จะต้องดูแลทำนุบำรุงต้นไม้นั้นตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนทั้ง 3 ปี หรือ 6 ปี เพื่อให้เกิดความผูกพันและหมั่นดูแลเอาใจใส่ รู้คุณค่า คุณประโยชน์ของต้นไม้ กระทั่งกลายเป็นวิถีชีวิต กลายเป็น DNA ของคนรักสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในสายเลือด และเมื่อนักเรียนทุกรุ่น ทุกปี ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เป็นจำนวนมาก และช่วยกันจัดทำ QR Code เพื่อสแกนค้นหาว่าต้นไม้นั้นคือต้นอะไร มีคุณค่า มีประโยชน์อย่างไร ก็จะทำให้กลายเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศน์ ศึกษาต้นไม้พันธุ์ต่าง ๆ ชั้นยอดที่อยู่ภายในพื้นที่ สอดคล้องกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกด้วย
"ในการปลูกต้นไม้คู่ชีวิตของนักเรียนทุกโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดในปีแรก ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่จัดหาพันธุ์กล้าไม้ให้กับนักเรียนทุกคนเพื่อใช้ปลูกก่อน พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการดูแล การเพาะพันธุ์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ เพื่อใช้ปลูกขยายพันธุ์ในปีต่อๆ ไป รวมทั้งรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนที่มีสมาชิกในบ้านในครอบครัวหลายคน ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ ลุง ป้า น้า อา คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ได้ช่วยกันเก็บเมล็ดพันธุ์ ช่วยกันเพาะชำ ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน หรือที่พักอาศัย หรือนำพันธุ์ไม้จากที่บ้านไปปลูกในพื้นที่สาธารณะที่จัดไว้ หรือบางครอบครัวที่มีความสามารถในกล้าเพาะพันธุ์กล้าไม้ก็สามารถนำมาแจกจ่ายให้ผู้สนใจ นำไปปลูกหรือจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งการปลูกต้นไม้เหมือนการมอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้กับโลก ช่วย ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้โลกมีอากาศบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น ช่วยลดภาวะโลกร้อนไปพร้อม ๆ กันยังได้สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในเรื่องอาหาร การมีไม้ไว้ใช่สอย หรือสร้างที่อยู่อาศัย อีกด้วย นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการเดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญที่สุดที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ "การพัฒนาคน" เพื่อให้คนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถ่องแท้ และลงมือทำด้วยตนเอง ด้วยแรงปรารถนา (Passion) ที่มีจิตอาสา อยากทำประโยชน์ให้เกิดกับส่วนรวม ซึ่งการดำเนินกิจกรรม "ปลูกต้นไม้คู่ชีวิต" ที่กำลังจะเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และตลอดไปนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อชุมชน/หมู่บ้าน ต่ออำเภอ ต่อจังหวัด ต่อประเทศไทย และต่อโลกใบเดียวนี้ ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่บริสุทธิ์ และเป็นหลักประกันว่าลูกหลานของพวกเราในอนาคตจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในโลกที่สดใสอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น