การประชุมและกิจกรรมพระธรรมทูตในสหรัฐฯ มีศักยภาพในการเผยแผ่ธรรมะที่สร้างสรรค์และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยและสังคมโลกให้เป็นไปในทางที่ดี สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการดำเนินงานตามหลักพุทธธรรมที่เมตตา กรุณา และปรับเปลี่ยนได้ตามบริบท
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนไทยในต่างแดนกับสังคมอเมริกัน งานของพระธรรมทูตเป็นการสืบทอดพุทธศาสนาประยุกต์เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม สังคม และศาสนาภูมิหลังของประเทศปลายทาง
หลักการและอุดมการณ์
บทบาทของพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกามุ่งเน้นการเผยแผ่ธรรมะที่ปรับตัวให้สอดคล้องกับชีวิตในสังคมอเมริกัน โดยมีหลักการสำคัญ เช่น การให้บริการทางศาสนาโดยไม่เลือกชนชั้น และการสอนวิปัสสนากรรมฐาน พระธรรมทูตเป็นศูนย์กลางในการประสานระหว่างชุมชนไทยและชาวอเมริกัน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและศาสนา
วิธีการและวิสัยทัศน์
วิธีการที่ใช้ในการเผยแผ่พุทธศาสนาในสหรัฐฯ รวมถึงการจัดตั้งวัดและชุมชนศาสนาให้เป็นจุดศูนย์กลางของการเรียนรู้และสังคม เช่น การดำเนินการโดยวัดไทย 119 แห่งทั่วสหรัฐฯ โดยผ่านการบริหารงานที่ได้รับการศึกษาอบรมจากวิทยาลัยพระธรรมทูต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) พระธรรมทูตมุ่งมั่นเผยแผ่พุทธศาสนาในลักษณะการบริหารภายในวัด การให้บริการทางศาสนา และการสอนวิปัสสนา
แผนงานและโครงการ
แผนงานของพระธรรมทูตไทยมีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น สมาคมศิษย์เก่ามจร กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา การประชุมเสวนาและกิจกรรมเผยแผ่ธรรมะที่มีการระดมความคิดเห็นในประเด็นปัญหา อุปสรรค จุดแข็ง และผลลัพธ์ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 13 พ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) พระเทพวัชรสารบัณฑิต หรือ เจ้าคุณประสาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร พร้อมด้วยพระมหาบัณฑิต ปณฺฑิตเมธี คณบดีคณะครุศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการกองแผนงาน พระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตเชียงใหม่ พระครูสุธีกิตติบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ พระครูสังฆรักษ์เอกลักษณ์ อชิโต อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ในส่วนคฤหัสถ์ประกอบด้วย นายภัทรพงศ์ พุ่มผลึก ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านสังคม 2/1 สำนักงบประมาณ นางกรรชรัชฎ์ โอทกานนท์. ผู้อำนวยการส่วนงบประมาณกระทรวงการอุดมศึกษาฯ 4 . สำนักงบประมาณ น.ส.นวลทิพย์ โกมลเมศ ที่ปรึกษาอธิการบดี มจร ผศ.ดร.ไพรัตน์ ฉิมหาด ผู้ช่วยอธิการบดีวิทยาเขตนครศรีธรรมราช นางสาวกาญจนา นารี รองผู้อำนวนการกองแผนงาน
สำหรับพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย พระวิเทศรัตนาภรณ์ เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา พระครูสิริสิทธิวิเทศ รองประธานบอร์ดบริหารวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และคณะ ในส่วนของสมาคมศิษย์เก่า มจร กรุงวอขิงตัน ดี.ซี. ประกอบด้วย นายวรชัย กลิ้งโพธิ์ นายสงบ เนาไธสง นายสุชาติ สุขสำราญ นายภาพ อุดานนท์ นายแพทย์กรีฑา พิบุญโยภาส พร้อมคณะ ได้ร่วมกับวัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี. รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา สมาคมศิษย์เก่า มจร กรุงวอขิงตัน ดี.ซี.และสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ได้จัดประชุมเสวนาเรื่อง “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา)” โดยได้เชิญผู้แทนสำนักงบประมาณจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นในประเด็น ปัญหา อุปสรรค จุดแข็ง ผลงาน และแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พระวิเทศรัตนาภรณ์ เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า พระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาก่อกำเนิดวัด เมื่อปี พ.ศ.2515 โดยได้พัฒนาการเป็นพระธรรมทูตมาตามลำดับ ตั้งแต่มีวัดไม่มากนัก ปัจจุบันได้ก่อตั้งสมัชขาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาจนเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง มีวัดทั่วทุกรัฐจำนวน 119 วัด ในส่วนของการบริหารจัดการนั้น ดำเนินการตามที่ได้ศึกษาอบรมมาจากวิทยาลัยพระธรรมทูต มจร โดยบทบาทของพระธรรมทูตนั้น มี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหาร คือ การบริหารภายในวัดที่พระธรรมทูตสังกัด ด้านการบริการ คือการให้บริการ แก่พุทธศาสนิกชนและชาวสหรัฐอเมริกาโดยไม่เลือกชนชั้น และ ด้านบริกรรม คือ การสอนวิปัสสนากรรมฐาน และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
นายภัทรพงษ์ พุ่มผลึก ได้กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและเป็นบุญยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการเสวนาในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ได้มาพบ มาเห็น มาเสวนาแลกเปลี่ยนกับพระธรรมทูตในสถานที่จริงในต่างประเทศ ส่วนการให้การสนับสนุนส่งเสริมในด้านงบประมาณ เราจะจัดสรรผ่านหน่วยรับงบประมาณที่มีภารกิจ หน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในประเทศ เช่น มจร, มมร, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น
นางกรรชรัชฏ์ โอทกานนท์ ได้กล่าวว่า การเดินทางมาร่วมกับ มจร เพื่อมาเสวนางานพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสด้วยตนเอง ขออนุโมทนาชื่นชมพระธรรมทูตทุกรูปที่ปฎิบัติศาสนกิจอย่างเข้มแข็ง เสียสละ อดทน งานของท่านได้เกื้อกูลคนไทย คนอเมริกา คนต่างศาสนาได้เป็นอย่างดี ในเรื่องของงบประมาณ จะจัดสรรให้ผ่านหน่วยรับงบประมาณ เพื่อสนับสนุนภารกิจ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ต่อไป
นายแพทย์กรีฑา บุญพิโยภาส กล่าวว่า อยากเห็น พระธรรมทูตที่อบรมมาจาก มจร อยากให้มีการอบรมภาคภาษาอังกฤษ (ภาคอินเตอร์)ด้วย เข่นเดียวกับ พระครูสิริสิทธิวิเทศ บอกว่าอยากให้มีการอบรมที่เมืองไทยเป็นการอบรมพระธรรมทูตเป็นภาคภาษาอังกฤษล้วนๆ และควรร่วมมือกันในการส่งบุคลากร มจร มาศึกษาเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกาให้เพิ่มมากขึ้น
หลังจากนั้นคณะได้เข้ากราบถวายสักการะพระเดชพระคุณพระเทพมงคลวชิรรังษี หรือ หลวงตาชี เจ้าอาวาสวัดไทยกรุงวอชิงตัน ,ดี.ซี. พระมหาเถระที่เป็นที่พึ่งของพระสงฆ์ และคนไทยในสหรัฐอเมริกาในโอกาสเจริญอายุวัฒนมงคล 100 ปี 80 พรรษา
"การที่ มจร ได้เดินทางมาร่วมประชุมเสวนาในครั้งนี้ คณะจะได้รวบรวมข้อมูลจากการไปดูงานที่วัด เช่น วัดโปรดเกศเชษฐาราม อเมริกา โดยพระมหาปิยะ อุตฺตมปญฺโญ และ จากการเสวนาร่วมกันในครั้งนี้นั้น จะได้นำไปข้อมูลไปวิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ และสนับสนุนส่งเสริมงานพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาให้มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นต่อไป และในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.2567 ) คณะจะเดินทางไปดูงานที่วัดมงคลรัตนาราม เมืองแทมป้า รัฐฟลอริดา มีพระเดชพระคุณพระมงคลรัตนวิเทศ เป็นเจ้าอาวาส โดยคณะทั้งหมดทั้งพระสงฆ์ และฆราวาสทุกคนจะเข้าพักในวัดเพื่อร่วมกันทำวัตร สวดมนต์ ถวายภัตตาหารเช้า เพลเพื่อศึกษาวิถีชีวิตประจำวันของพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา อย่างใกล้ชิดและรู้เห็นจากวิถีชีวิตประจำวันจริงๆด้วย" พระเทพวัชรสารบัณฑิต กล่าวในตอนท้าย
อิทธิพลต่อสังคมไทยและสังคมอเมริกัน
การทำงานของพระธรรมทูตส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนไทยในต่างแดนและสังคมอเมริกัน โดยการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทยผ่านงานพระธรรมทูต เช่น การสอนวิถีชีวิตแบบพุทธ การจัดกิจกรรมวัฒนธรรม และการให้การช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความลำบาก
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
การสนับสนุนงบประมาณ: รัฐบาลและสถาบันที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนางานของพระธรรมทูตอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนการจัดอบรมพระธรรมทูตในภาคภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเผยแผ่ธรรมะ
การพัฒนาบุคลากร: ควรมีการส่งเสริมการศึกษาต่อในต่างประเทศสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทการเผยแผ่ในประเทศปลายทาง
การประสานงานระหว่างหน่วยงาน: สถาบันต่าง ๆ เช่น มจร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรประสานงานร่วมกับหน่วยงานในต่างประเทศให้เกิดเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งและยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น