วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“หลวงพ่อเณร”วัดศรีสุดารามเข้าร่วม! รัฐบาลเจ้าภาพบูรณะพระประธานประจำ “พุทธมณฑล”



เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 หลังจากรัฐบาลโดยการนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายจะปรับภูมิทัศน์พระประธานประจำพุทธมณฑล“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรวจตั้งงบประมาณเสนอรัฐบาล

แหล่งข่าว "ทำเนียบรัฐบาล" เผยว่า ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลจะใช้งบกลางส่วนหนึ่งในการตั้งต้นบูรณะปฎิสังขรณ์ ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเร่งดำเนินการมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว หลังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปมอบนโยบาย ตอนนี้ได้กำชับให้เร่งดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าการบูรณะปฎิสังขรณ์และปรับภูมิทัศน์ในคร้ังนี้ใช้งบประมาณไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะใช้งบกลางเป็นทุนตั้งต้นก้อนหนึ่ง พร้อมกันนี้ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อเณร หรือ พระธรรมวชิรคุณาธาร เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม ท่านมีความตั้งใจมาร่วมดำเนินการส่วนนี้กับรัฐบาลด้วย และมีพระคุณเจ้าอีกหลายวัดที่จะเข้ามาสนับสนุน หากดำเนินการลงตัวเมื่อไรจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง" แหล่งข่าวระบุ

องค์ “พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลที่พุทธมณฑลแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า “พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณใจกลางพุทธมณฑล โดยมีต้นแบบจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งออกแบบไว้ที่ความสูง 2.14 เมตร แต่ภายหลังมีความต้องการให้มีความหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงออกแบบให้มีความสูงที่ 15.875 เมตร ตัวองค์พระมีโลหะสำริดเป็นส่วนประกอบสำคัญ 137 ชิ้น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 ในการจัดสร้างได้แบ่งตัวองค์พระพุทธรูปออกเป็น 6 ส่วนคือ ส่วนพระเศียร (ศีรษะ) ส่วนพระอุระ (อก) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างซ้าย พระนาภี (ท้องถึงสะดือ) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างขวา พระเพลา (ขา) ส่วนพระบาท (เท้า) และส่วนฐานบัวรองพระบาท

แรกเริ่มเดิมที ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 นั้น ได้มีแนวคิดในการจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างองค์พระพุทธรูปในปัจจุบันนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลา และได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภชพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ และทรงเปิดพุทธมณฑลให้ประชาชนได้เข้านมัสการพระพุทธรูปและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการสร้าง จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยและชาวพุทธอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายเรื่อง: ภูลังกาที่ฮัก

  1. แนว เรื่อง : นิยายรักโรแมนติกที่ผสมผสานกับธรรมชาติ วิถีชีวิตท้องถิ่น และความลึกลับทางวัฒนธรรมที่แฝงด้วยปรัชญาและบทเรียนชีวิต 2. โครงเรื...