"อนุทิน" คุย "หมอเลี้ยบ" ยกระดับห้องฉุกเฉินตั้งเป้าลดความแออัด จัดลำดับการรักษาอย่างถูกต้อง ขณะที่ บอร์ด สปสช. หนุน "แนวทางปฏิรูป" แยกจัดบริการนอกเวลาราชการ นำร่อง ปี 2563 ยกคุณภาพบริการลดความขัดแย้งวินิจฉัย
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการยกระดับห้องฉุกเฉิน 21 โรงพยาบาลว่า ได้เชิญนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาหารือเรื่องนี้ พร้อมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แนวคิดคือสร้างระบบคัดกรองผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ ห้องฉุกเฉิน ต้องใช้รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ แต่ก็เข้าใจว่าใครป่วย ก็ต้องการรักษาด่วนทั้งนั้น ซึ่งมันต้องหาทางออก ต้องปรับปรุงระบบคัดกรอง ได้ฟังข้อเสนอจากหลายฝ่าย เมื่อฟังแล้วเป็นประโยชน์กับประชาชน ลดความแออัดในโรงพยาบาลและห้องฉุกเฉิน ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน ส่วนเรื่องงบประมาณอย่าเป็นห่วง เพราะถ้ามีประโยชน์ เรื่องนี้ ไม่ใช่ปัญหา
จากนั้น นายอนุทินได้กล่าวถึงโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยว่า เป็นโครงการที่มีอยู่แล้ว เพราะอาหารโรงพยาบาล ต้องสะอาด ถูกหลักอนามัย เพียงแต่ช่วงนี้ หยิบมาพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งมีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรไทย สร้างเม็ดเงินให้คนไทยด้วยกัน แต่ต้องระมัดระวังเรื่องสารเคมีตกค้างด้วย
ประเด็นเรื่องการยกระดับห้องฉุกเฉินนั้น สืบเนื่องมากจากที่นายอนุทินเคยโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า กำลังหารือแนวทางพัฒนาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล สร้างมาตรการ และมาตรฐานบริการประชาชน จะเริ่มต้นวันที่ 1 ธันวาคม นี้ ปรับปรุงศักยภาพ 21 โรงพยาบาล ก่อน ตามงบประมาณที่มี แล้วรองบประมาณปี 2563 ออกมา เพื่อจะพัฒนาให้ได้มากที่สุด
ผู้สื่อข่าวเปิดเผยว่า สำหรับโรงพยาบาล 21 แห่งข้างต้น ที่จะมีการปรับปรุงห้องฉุกเฉิน ประกอบด้วย เขต 1 รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ลำปาง เขต 2 รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก เขต 3 รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เขต 4 รพ.สระบุรี รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.ปทุมธานี เขต 5รพ.นครปฐม เขต 6 รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง เขต 7 รพ.ขอนแก่น เขต 8 รพ.อุดรธานี เขต 9 รพ.มหาราชนคราราชสีมา รพ.บุรีรัมย์ เขต 10 รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เขต 11 รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.วชิระภูเก็ต เขต 12 รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และรพ.สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง คือรพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี และรพ.เลิดสิน
อย่างไรก็ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายอนุทิน ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอการใช้สิทธิบริการสาธารณสุข ตามนโยบาย "บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ" นำเสนอโดย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นายอนุทิน กล่าวว่า ตามข้อเสนอ "แนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน" โดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 มีหลักการเพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วน ได้รับบริการมีคุณภาพมากขึ้น แยกการบริการเจ็บป่วยไม่รุนแรงและเจ็บป่วยทั่วไปออก และเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการที่ไม่ถึงเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนมีสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ โดยมอบให้ สปสช. ร่วมพัฒนาระบบในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการบริการผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการ
ที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน โดยมีการออกประกาศตามข้อ 10 วรรคสอง ของข้อบังคับมาตรา 7 กำหนดเพิ่ม "เหตุสมควรอื่นเพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินและเพิ่มคุณภาพในการใช้บริการนอกเวลาราชการ" เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน กำหนดเงื่อนไขจัดบริการนอกเวลาราชการเฉพาะหน่วยบริการเฉพาะที่มีศักยภาพตามแนวทางบริการฉุกเฉินคุณภาพ โดยแยกจัดบริการเป็น 2 ห้องชัดเจน ตามมาตรฐาน คือ ห้องฉุกเฉินคุณภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีแดงและสีเหลือง) และห้องฉุกเฉินไม่รุนแรงเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลา พร้อมแยกระบบข้อมูลบริการนอกเวลาราชการ
นอกจากนี้ได้เพิ่มค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการเป็นรายการบริการใหม่ โดยกำหนดอัตราชดเชยค่าบริการ 150 บาทต่อครั้ง ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 (10 เดือน) คาดว่าจะมีการรับบริการประมาณ 1.05 ล้านครั้ง หรือร้อยละ 10 ของการรับบริการผู้ป่วยนอก ใช้งบประมาณไม่เกิน 157.50 ล้านบาท โดยจะเป็นการใช้เงินกองทุนรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมในการดำเนินการ
ด้าน นพ.การุณย์ กล่าวว่า การจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยในปีงบประมาณ 2563 มีโรงพยาบาลร่วมนำร่องจับ 34 แห่ง ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
"สปสช.มีนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปห้องฉุกเฉินตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ห้องฉุกเฉินเป็นพื้นที่ดูแลเฉพาะรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น ขณะเดียวกันเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากช่วยลดความแออัดในห้องฉุกเฉินแล้วยังลดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติในความเห็นที่ไม่ตรงกันกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน" นพ.การุณย์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น