วันที่ 6 กันยายน 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้ร่วมกันเปิดโครงการนำน้ำยางพารา มาใช้ปรับปรุงอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน หรือ Kick Off ที่ถนนทางหลวงหมายเลข 404 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล
นายอนุทิน มองว่า โครงการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ สามารถช่วยลดแรงปะทะที่เกิดจากการชน ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนได้ดี ซึ่งมีส่วนประกอบจาการใช้น้ำยางพาราที่เป็นส่วนผสมจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้สามารถสร้างรายได้โดยตรงไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
"โครงการนี้จะสร้างความมั่งคั่ง สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกร ด้วยการเรียนรู้ และต่อยอดองค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา มีรายได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต เป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราในประเทศให้มากขึ้นอีกด้วย" นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรฯ ในการทำโครงการนำน้ำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน จนส่งผลให้เกิดเสถียรภาพในด้านราคายางพาราอย่างยั่งยืน โดยโครงการระยะแรกเฉพาะแผ่นยางพาราหุ้มจะเสื่อมสภาพใน3ปี จะมีการผลิตทดแทนในปีที่4 และทดแทนในทุกๆปี
"ครบ 3 ปี จะต้องเปลี่ยนเฉพาะ rubber fender 1/3 เพราะ rubber fender มีอายุ ใข้งานกลางแจ้งได้ครั้งละ 3 ปี ซึ่งจะทำให้ต้องมีการสร้าง rubber fender ทดแทนทุกปี เริ่มจากปี 2556 เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องใช้น้ำยางดิบปีละประมาณ 3.5 แสนตันในการผลิต rubber fender สำหรับ concrete barriers เมื่อดำเนินการติดตั้งแล้วสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทางถนนได้ตลอดไป"รมว.คมนาคม กล่าว
ขณะที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า หลังจากที่มีการเซ็นบันทึกความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการผลิต "แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต" และ "หลักนำทางยางธรรมชาติ" แล้วนั้นปรากฎว่า ราคายางพารามีการทุบสถิติเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนถึงขณะนี้ทราบว่าน้ำยางพารามีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 60 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่จะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่จะทำให้เกิดสถียรภาพของราคายางพาราในประเทศไทย
"ดิฉัน เชื่อมั่นว่า ราคายางพารา แม้จะมาจากหลายปัจจัย แต่ 2 โครงการ ที่ทำ คือ แผ่นยางครอบแบริเอ่อร์ และเสาหลักนำทาง ที่ดูดซับปริมาณน้ำยางพารา จะช่วยทำให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีเหตุผล ตามกลไกตลาดที่สะท้อนออกมาตลอดไป เกษตรกรชาวสวนยางจะได้มีเงินมีทองเพิ่มมากขึ้น"รมช.เกษตร กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น