วันที่ 28 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า พร้อมสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญและการตั้ง กก.สมานฉันท์ตามกระบวนการรัฐสภา จึงขอให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาเจรจากันอย่างประนีประนอมสันติวิธีหาทางออกประเทศ
"เห็นด้วยกับการหารือ แต่เรื่องนี้น่าจะเป็นฝั่งสภาพิจารณาตั้งขึ้นมาจากหลายฝ่าย ทั้งส.ส. ส.ว. กลุ่มที่เห็นด้วย กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อหาข้อยุติให้ได้ ส่วนคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะถูกครอบงำหรือไม่นั้น พูดอย่างนี้ไม่ได้ ต้องให้เกียรติสภา เคารพซึ่งกันและกัน ลองเชื่อใจกันสักครั้ง ถ้าไม่เชื่อใจกันเลย ก็ทำอะไรไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวและว่า
ยืนยันหลายครั้งว่าจำเป็นต้องนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติทุกเรื่อง โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ ทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งปัญหาการเมืองที่เกิดในครั้งนี้คงไม่ใช่ตนหรือรัฐบาลฝ่ายเดียว ทุกคนต้องร่วมมือกัน หันหน้ามาเจรจาพูดคุยกัน ในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกันอย่างประนีประนอม สันติวิธี จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะนี่คือประเทศไทย
"ทุกคนคือคนไทย ผมไม่ได้เกลียดชังใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใครว่าร้ายอะไรก็ตาม ผมก็ฟังได้ ผมก็ต้องอดทนเพราะเป็นนายกรัฐมนตรี คงโมโหอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีไง นายกรัฐมนตรีต้องอดทน ต้องไม่โมโห ไม่โกรธง่าย พูดจาให้ไพเราะ วันนี้ผมก็พูดเพราะกว่าหลายๆ คนที่ได้ยินมาในขณะนี้ ทางออกมีอยู่แล้ว ขอให้เจอทางออกที่ว่า ไม่มีปัญหาใดที่เราแก้ไม่ได้ ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจว่าเราจะต้องช่วยกันเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับประเทศของเรา ไม่ใช่ผมคนเดียว ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน"
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวขอบคุณการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีการอภิปรายหารือกันโดยสงบเรียบร้อย แม้จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นบ้าง ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสภาประเทศไทย เป็นเรื่องที่ประชาชนพิจารณาความเหมาะสมกัน ไม่ควรจะเหมือนต่างประเทศเขาทำ นอกจากนี้ จากการประชุม 2 วัน มีหลายเรื่องเห็นด้วย ที่สำคัญคือสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ต้องผ่านหลายกระบวนการ ตอนนี้ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไปด้วยเพราะยังมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมีฉบับใหม่ อยู่ดีๆ จะไปตั้งกฎกติกาใหม่ตามต้องการเป็นไปไม่ได้ เราต้องอยู่ด้วยรัฐธรรมนูญกฎหมายหลักของประเทศ
ส่วนกรณีที่จะให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า แล้วแต่ เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ จะไม่เลือกตนก็ได้ ไม่ได้ขัดข้องอะไร ต้องไปหารือกันในรัฐสภา รวมไปถึงเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออกจากแนวทางที่เสนอในรัฐสภา วันนี้หารือในที่ประชุม ครม. แล้ว แต่คาดว่าทางรัฐสภาจะเป็นผู้ตั้งขึ้นมาจากหลายฝ่ายด้วยกัน แต่ขอให้หารือโดยสงบ หาข้อยุติออกมาให้ได้ กำลังหารือว่าจะได้ข้อสรุปเช่นไร
สำหรับคำถามว่าคณะทำงานชุดนี้จะถูกครอบงำหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า พูดอย่างนี้ไม่ได้ ต้องให้เกียรติสภา เป็นความเห็นของสภา ต่างคนต่างต้องเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าตั้งธงไว้ก็ไม่ชอบกันหมด ลองเชื่อใจกันสักครั้ง ถ้าไม่เชื่อใจเลยก็ทำอะไรไม่ได้ ขณะเรื่องท่าทีต่างประเทศ เรื่อง NGO ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเพราะเป็นกิจการของแต่ละประเทศ บางครั้ง NGO ทำให้กระบวนการต่างๆ ช้าลง ขอฝากบรรดา NGO ในไทยทั้งหมด ในเมื่ออาศัยและทำงานในประเทศไทยก็ต้องช่วยประเทศไทยพัฒนาชาติบ้านเมือง เหมือนกับที่คนไทยไปอยู่ต่างประเทศ และต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม คำถามว่านายกรัฐมนตรีจะอยู่ครบวาระ 4 ปี และไม่รับข้อเสนอของผู้ชุมนุมใช่หรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ถามกลับว่า "ทำไมผมต้องตอบอันนี้ผมก็ไม่รู้ ผมเข้ามาด้วยอะไรก็ว่ากันไป จะออกด้วยอะไรก็ว่ากันมา ไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต เพราะรัฐบาลไม่ได้หยุดแค่รัฐบาลผม กระบวนการเลือกตั้ง กระบวนการรัฐธรรมนูญต่างๆ มีอยู่แล้ว"
เสียงแตก!"ไพบูลย์"เสนอตัดไพรมารี่โหวต
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “พรรคการเมืองของประชาชน : แนวทาง การเสริมสร้างและการพัฒนา” โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ เปิดงาน โดยมีตัวแทนองค์กร และพรรคการเมือง เข้าร่วม อาทิ นายเจษฎ์ โทณะวนิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง, นายแสวง บุญมี รองเลขา กกต., นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล
นายเสรี ระบุ การสัมมนาวันนี้ อยากเห็นการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ได้นักการเมืองที่ดี ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อรวบรวมข้อมูล ใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ถกเถียงกันมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องไพรมารี่โหวต ขั้นแรกของการให้ได้ตัวแทนของประชาชน ที่แท้จริงในพื้นที่ เพื่อทลายระบบนายทุน ที่เข้ามาลงทุนในพรรคการเมือง และครอบงำ ตัดวงจรการต่อรองสัดส่วน ส.ส. เพื่อหวังตำแหน่งรัฐมนตรี
ด้านนายชัยธวัช ยังชี้ให้เห็น ความลักลั่นของการส่งเสริม การมีส่วนร่วมของประชาชนกับพรรคการเมือง ที่ล่าสุด กกต. มีความเห็นไม่ให้ ผู้ช่วยส.ส. และ ส.ส. ช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ด้านนายแสวง ชี้แจงว่า ตามบทกฎหมาย ม.34 ห้ามไม่ให้ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ ห้ามให้คุณให้โทษกับการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่ กกต. ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ และย้ำว่า ที่ผ่านมา กกต. ก็ทำหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด สนับสนุนทุกพรรคการเมือง ไม่เลือกปฏิบัติกับพรรคหนึ่งพรรคใด
ขณะที่นายไพบูลย์ ไม่เห็นด้วยกับการทำไพรมารี่โหวต ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมาจากสมาชิกพรรคการเมือง เพียง 100 คน ในเขตนั้นๆ ที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และบางครั้งทำให้เกิดความขัดแย้ง จึงเห็นว่าการทำไพรมารี่โหวต เป็นเพียง พิธีกรรม ที่ควรต้องตัดออกไป ซึ่งตนจะเสนอผ่านพรรค เพื่อแก้ในประเด็นนี้ ส่วนการลดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ นั้น ตนมองว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น