วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

มหาดไทยจับมือ "KMITL-สถาบันทิวา" แก้จนตามแนวพอเพียง



มหาดไทยจับมือ KMITL และสถาบันทิวา ขับเคลื่อน “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่” เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565   นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อน “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEDZ” ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาครัฐสนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์พื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ด้วยการดึงภาควิชาการมาร่วมพัฒนาและยกระดับศักยภาพ ภาคเอกชนร่วมสนับสนุน วางแผน พัฒนา และต่อยอด ให้เกิดความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก ใช้โอกาสจากภาคแรงงานที่มีทักษะและศักยภาพที่ประสบปัญหาว่างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และกลับไปยังบ้านเกิด มาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า โดยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) และนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา โดยได้รับเมตตาจาก พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นเกียรติและแสดงสัมโมทนียกถา โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบ KMITL รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสถานบันทิวา สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ขอขอบคุณ KMITL ในฐานะภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ที่ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนขับเคลื่อนงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล เป็นที่ปรึกษาการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ที่ถือเป็นผลงานของทั้งสองท่านในนามของสถาบันฯ ที่เป็นผู้นำทางปัญญาและการปฏิบัติ ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์ และยังได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เป็นผู้นำในสังคมขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และเป็นผู้นำในเรื่องพลังงานหมุนเวียน “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นต้นแบบบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน เพื่อเกิดชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชบายอยากเห็นสังคมของไทยเต็มไปด้วยผู้ที่มีจิตอาสา ซึ่งในวันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มีผู้มีจิตใจเสียสละเป็นจิตอาสาภาควิชาการ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญยิ่ง เป็นผู้นำทางปัญญาที่เป็นต้นแบบในการลงไปสัมผัส ลงไปช่วยเหลือ คลุกคลีตีโมงกับพี่น้องในต่างจังหวัดและชุมชนเมือง ทำให้เขาเหล่านั้นสามารถดูแลครอบครัว ตนเอง และสังคม เป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่สำคัญ “สถาบันทิวา” ในฐานะภาคประชาสังคม มาช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง นำเอาสิ่งที่เป็นปัญญาของสังคมที่ภาควิชาการและภาคศาสนา มาขับเคลื่อนสู่พี่น้องประชาชน เพื่อให้สังคมของพวกเราเป็นสังคมที่ผู้คนมีความสุขอย่างยั่งยืน

“กระทรวงมหาดไทยคือผู้ที่รับใช้พี่น้องประชาชนทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และพร้อมที่จะร่วมกับ KMITL สมาคมสถาบันทิวา รวมถึงท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี และภาคีเครือข่าย นำความปรารถนาดีในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะได้ร่วมกันสนองพระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์ไปสู่พี่น้องประชาชน ดังภาพวาดฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง” ที่ได้พระราชทานให้กับพวกเราทุกคน สอดคล้องกับวาระ 130 ปี กระทรวงมหาดไทย ในปีนี้ “พวกเราทุกคนต่างมุ่งมาดปรารถนาที่จะได้ช่วยกันขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข อย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้บังเกิดผลสำเร็จเพิ่มมากขึ้น เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย กล่าวว่า KMITL มีความยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่ง KMITL มีวิสัยทัศน์เป็น Master of Innovation ที่สร้าง Impact ให้กับประเทศไทย ทั้งด้านการศึกษา การวิจัย การพัฒนาอุตสาหกรรม และที่สำคัญที่สุดคือ ภาคสังคม โดยที่ผ่านมา เราประยุกต์ทฤษฎี Quadruple helix Model 4 ส่วน คือ 1) ภาคราชการ ทำให้เราลงไปขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้มากขึ้น 2) ภาคเอกชน ขยายผลต่อยอดการทำงานเดิมที่สำเร็จแล้วให้เกิดความยั่งยืน 3) ชุมชน/ท้องถิ่น (Local community) ด้วยความร่วมมือของประชาชน และ 4) วัด (ภาคศาสนา) ศูนย์รวมของชุมชน เพื่อให้นำองค์ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย ไปทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งในหลายโครงการที่ผ่านมา ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติจริง ทำให้เกิดกระแสในชุมชน อันทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเกิดเป็นรูปธรรม ดังปณิธานของกระทรวงมหาดไทยที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดย KMITL จะมุ่งพัฒนานวัตกรรมให้เป็น The Master สานต่อพลังความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและสถาบันทิวา เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ก้าวเดินไปข้างหน้า ให้คนเข้าใจ ศรัทธา และลงมือทำ อันจะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ กล่าวว่า สถาบันทิวา มีความตั้งใจและมีแนวทางการทำงานในการแปลงภาคธุรกิจ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Community) ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้ร่วมกับท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษาฯ ขับเคลื่อนงานโคก หนอง นา โมเดล และกำลังจะต่อยอดสู่การขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นความหวังของประเทศ ในการฟันฝ่าความยากลำบากของประชาชนในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตประเทศจากโรคโควิด-19 ที่เราไม่ได้ตั้งตัว และสังคมจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ ดังนั้น หัวใจสำคัญ คือ ต้องทำให้พี่น้องประชาชนที่กลับไปยังบ้านเกิดได้ใช้ชีวิตที่บ้านอย่างมีความสุข ระบบการศึกษาต้องปรับวิธีคิดให้คนกลับไปทำงานที่บ้านเกิดได้อย่างมีความสุข วิกฤตในตอนนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาทำให้เกิดคุณประโยชน์กับประเทศชาติ ด้วยการบูรณาการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เกิดความยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นภาคที่มีความคล่องตัวสูงในการสนับสนุนงานของภาครัฐ โดยเราจะร่วมมือกันสร้างสิ่งที่ขาดหายไปในสังคม นั่นคือ “ความไว้วางใจ (Trust)” ของรัฐต่อพี่น้องประชาชน และต่อนักธุรกิจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ขับเคลื่อนสังคมด้วยกลไกกระทรวงมหาดไทยที่มีในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

โอกาสนี้ พระปัญญาวชิรโมลี ได้กล่าวสัมโมทนียกถา ความว่า อาตมามีความเต็มใจมากที่รับเป็นที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ดังที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวว่า “เราอนุญาตให้พวกท่านจาริกไปเพื่อประโยชน์ของหมู่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของมนุษย์และเทวดา” ซึ่งสิ่งที่กระทรวงมหาดไทย KMITL และสถาบันทิวา ได้ทำ นับเป็นประโยชน์ของมหาชนเป็นอันมาก ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทั้งนี้ การคบคนดีย่อมสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำตอนนี้ทำเพื่อประเทศชาติ ทำเพื่อส่วนรวม ทุกคนมีความเสียสละตนเอง มีธรรมะ มีธรรมทาน มีการชักชวน มีคำพูด มีการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อมหาชนเป็นอันมาก การเผยแพร่ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่ต้องลังเลว่าผิดหรือถูก เพราะเจตนาที่ทำ ที่มาเจอกัน เป็นการปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นแบบอย่างผู้นำ แบบอย่างการทำงาน แบบอย่างการเสียสละให้เกิดขึ้นในองค์กรนี้ และประการสำคัญ ทุกคนที่มาวันนี้ต่างร่วมกันมองไปถึงความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางของความเจริญ ผู้รับธรรมย่อมเจริญ และนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญ”

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวว่า นับเป็นโชคดีที่ได้รับโอกาสในการทำงานสนองพระบรมราชปณิธานและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะนักวิชาการ ข้าราชการบำนาญ และประชาชนคนหนึ่ง ที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศ และลุกขึ้นมาช่วยในจุดเล็ก ๆ โดยใช้ความรู้ของครูบาอาจารย์และความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูง สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติ โดยทุกลมหายใจคิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้ลูกศิษย์ของเราได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติ ทำอย่างไรให้เพื่อนฝูง มิตรสหายได้มีความสุข และช่วยกันสร้างสิ่งดีงาม และแม้ว่าการขับเคลื่อนฯ จะมีขั้นตอนการทำงานหลากหลายชั้น แต่ความร่วมมือในวันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีมากที่เราจะก้าวเดินไปด้วยกัน แม้ว่าหนทางการขับเคลื่อนจะเหนื่อยแต่เราก็มีความสุข และนับเป็นเมตตาบารมีจากท่านเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาสและท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี ที่มาเสริมเติมให้หัวใจเต็มไปด้วยพลังอันเปี่ยมล้นในการพัฒนาประเทศ เราจะทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sufficiency Economy Development Zones for Sustainable Development Goals (SEDZ for SDGs)) เราจะเริ่มต้นอย่าง Local ทำให้เกิดการพัฒนาสู่ Global ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนร่วมกันทำอย่างจริงจัง ยึดสิ่งที่พระองค์พระราชทานไว้ คือ “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนไทย” ให้ทุกองคาพยพพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกันอธิษฐานจิตในการทำงาน เราจะมองปัจจุบันและก้าวต่อไปในวาระ 130 ปีกระทรวงมหาดไทย คนมหาดไทยเป็นความหวัง เป็นที่พึ่งของสังคมไทย เราจะต้องพิสูจน์ให้เป็นจริงว่าสิ่งที่เราจะก้าวต่อไปเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่จากรายย่อย ที่สำคัญมาก คือ “การเปลี่ยนแปลงคน” ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ การที่เราสามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีใจพัฒนาคนขึ้นมาได้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไปพัฒนาพื้นที่ ดูแลพื้นที่ ดิน น้ำ ป่า ให้สมบูรณ์ขึ้น เมื่อประชาชนรายย่อยรวมเป็นรายใหญ่ จะทำให้เกิดการพัฒนาที่กว้างขวาง นำไปสู่เขตเศรษฐกิจพอเพียง ดังทฤษฎีใหม่ทั้ง 3 ขั้น คือ 1) ขั้นพื้นฐาน “ระดับครัวเรือน”  2) ขั้นกลาง “ระดับชุมชน” ผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”  40,000 กว่าแปลงทั่วประเทศ นำไปสู่ 3) ขั้นก้าวหน้า “ระดับพื้นที่” ซึ่งในขณะนี้ ทุกจังหวัดได้สำรวจพื้นที่เข้าร่วม SEDZ 300,000 กว่าไร่ ภายในเดือนเดียว ดังนั้น การที่เราจะทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงสำเร็จได้ ทุกภาคีเครือข่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะแนวแก้ "ขัดแย้ง-รุนแรง" ของชาวพุทธ ในปริบทพุทธสันติวิธี

การใช้หลักพุทธสันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้งในวงการพระสงฆ์และสังคมไทยสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดปัญหาความรุนแรงและเสริมสร้าง...