วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"เพชรวรรต" โต้สมาคมปกป้องพระพุทธศาสนา อ้าง ส.ส.พุทธเสนอกฎหมายอิสลาม



วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ผ่านช่องทาง Youtube ในหัวข้อ “รายชื่อ สส ชาวพุทธ ที่สนับสนุนกฎหมายหมิ่นศาสนา” จากสมาคมปกป้องพระพุทธศาสนา โดยคลิปวิดีโอ ได้อ้างว่า “มี รายชื่อ ส.ส. พรรคประชาชาติ 6 คน สส.พุทธ ที่เสนอร่างกฎหมายหมิ่นศาสนา พรรคเพื่อชาติ 1 คน ลำดับที่ 7 พรรคเพื่อไทย 13 คน ลำดับที่ 8-20 สมาคมปกป้องพระพุทธศาสนา จะเห็นว่ามีการเสนอกฎหมายอิสลามหรือกฎหมายสนับสนุนอิสลาม ก็จะเป็น สส.พุทธ นี่แหละ ที่เป็นหัวหอกสนับสนุนเสียงส่วนใหญ่ อย่างไงก็ฝากพี่น้องพุทธศาสนิกชน ช่วยดูแล และเผยแพร่ข่าวสารนี้ออกไปเพื่อให้คนไทยได้ทราบว่า สส.ของท่านได้รับผิดชอบในชาติพันธุ์ วัฒนธรรมจารีตของท่านแค่ไหน”

นายเพชรวรรต กล่าวว่า จากการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว มิใช่เป็นแต่เพียงกฎหมายของศาสนาอิสลามเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงศาสนาทุกศาสนาซึ่งจะรวมถึงพุทธศาสนาด้วย เนื่องด้วยในปัจจุบันเราจะมีเพียง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

จะเห็นว่าปัญหาภายในพุทธศาสนาปัจจุบัน ก็มีจำนวนมากอีกทั้งการกำหนดอำนาจหน้าที่ก็ไม่ชัดเจน แม้ล่าสุดนี้ก็มีประเด็นพระภิกษุที่มีสีกา อยู่ในกุฏิ โดยมีที่คาดผมอยู่ในห้อง หลังจากนั้นก็อ้างว่าเอาที่คาดผมมารัดหัวเพื่อแก้ปวด ภายหลังพระภิกษุทำเพียงแต่เพียงแค่ลาสิกขา ก็ทำให้พ้นจากการเป็นพระและไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเข้ามาบัญญัติโทษ ให้กับผู้ที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเสีย ซึ่งตนเห็นว่าจากเหตุการณ์นี้ ก็จะนำไปสู่การเสื่อมเสียของพุทธศาสนามากขึ้น ควรบัญญัติโทษสำหรับผู้ที่ทำให้ศาสนาเสื่อมเสียด้วยเช่นกัน โดยสาระสำคัญของการเสนอให้บัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมประกอบด้วย

มาตรา 206/1 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ที่การลบหลู่ หรือเหยียดหยาม หรือในประการที่จะทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทศาสนา ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา 206/2 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทศาสนา ได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษร ที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียงหรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท”

นายเพชรวรรต กล่าวต่อไปว่า จากบทบัญญัติที่จะเพิ่มเติมขึ้นมานั้น ตนเห็นว่าเป็นไปตามหลักในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้า บัญญัติในโอวาทปาฏิโมกข์ ที่เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม โดยมีบทบัญญัติว่า "อนูปวาโท" หรือแปลว่า "การไม่กล่าวร้ายกัน"

จากที่ผ่านมาตนต้องเรียนว่า ทาง กมธ. มีความพยายามฟื้นฟูศาสนาอย่างต่อเนื่อง ทำงานกันอย่างหนัก ส่งผลให้มีความเข้มแข็งขึ้นอย่างเป็นลำดับ ดังได้เสนอ พรบ. พุทธ ไปถึง 4 ฉบับและทุกฝ่ายเห็นด้วย ซึ่งการที่สมาคมปกป้องพระพุทธศาสนา อาจถูกฟ้องร้องในกรณีเผยแพร่ข่าวไม่ถูกต้องว่ามีการสนับสนุนกฎหมายอิสลาม ซึ่งจากกระบวนการเสนอกฎหมายยังมีอีกหลายขั้นตอน และอีกหลายวาระ มิใช่เสนอกฎหมายต่อสภาฯ แล้วกลายเป็นกฎหมาย หากประชาชนเห็นว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ก็สามารถเสนอผ่าน ส.ส. มาได้ หรือหากไม่ได้ประโยชน์ ส.ส.ก็สามารถถอดถอนรายชื่อได้เช่นกัน ตนเห็นว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน ต้องสมานสามัคคีกันและนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งความสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...