คนสื่อรุ่นใหญ่ชี้ อภิปรายไม่ลงมติคราวนี้ ประชาชนไม่ได้อะไร เหตุมีแต่ข้อมูลที่เคยเห็นมาแล้ว แถม “ยกมาทั้งดุ้น” แบบไม่ต่อยอดและไม่ให้เครดิตเจ้าของ ซึ่งถือว่า เป็นการละเมิดฯ ขณะที่นักวิชาการย้ำ การให้เครดิตถือเป็นการให้เกียรติ ส่วน “นักข่าวที่ช่วยงานนักการเมือง” ต้องแสดงตัวให้ชัดเจน และองค์กรสื่อควรกำหนดกติกาว่า “ได้แค่ไหน” หวั่นผู้รับสารสับสน
อนุสนธิจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ หรือการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 เมื่อวันพฤหัสบดีที่17 และวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ปรากฏว่า ผู้อภิปรายส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลข่าวสารที่ “สื่อมวลชน” นำเสนอไปแล้วกลับมาอภิปรายซ้ำ โดยไม่มีการต่อยอดหรือขยายประเด็นเพิ่มเติม กระทั่งมีการตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของผู้อภิปราย รวมทั้งการนำข่าว-ภาพข่าวไปใช้ในการอภิปรายแบบไม่อ้างแหล่งที่มา และไม่ให้เครดิตเจ้าของข่าว-ภาพข่าวนั้น
รายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz อสมท. วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ได้พูดคุยประเด็น “ข่าวสารเกลื่อนสภาฯ ตอกย้ำการทำหน้าที่ของสื่อฯ” กับนักวิชาชีพสื่อ และนักวิชาการสื่อได้แก่ นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ดร.สำราญ สมพงษ์ บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวบ้านเมืองออนไลน์ และ ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร์ อดีตหัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายณรงคสุทธิรักษ์ และนายสืบพงษ์ อุณรัตน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายสุปัน ให้ความเห็นว่า การอภิปรายครั้งนี้ มีข้อพิจารณาได้ 2 มิติคือ มิติทางการเมืองนั้น ฝ่ายค้านกำลังทำให้รัฐบาลเชื่อว่า ไม่มีข้อมูลมากกว่าที่ได้อภิปรายไปแล้ว ส่วนอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติทางด้านการติดตามข้อมูลข่าวสารของประชาชนซึ่งส่วนใหญ่มองว่า การอภิปรายครั้งนี้ไม่มีอะไรใหม่ แล้วครั้งต่อไปจะมีอะไรหรือไม่ แต่หากวิเคราะห์ในมุมของนักข่าวสายการเมือง หรือคอการเมือง ก็ต้องมองว่า ฝ่ายค้านก็ต้องทำลายความชอบธรรมรัฐบาลเสียก่อน แต่ภาพรวมของการอภิปรายในครั้งนี้ฝ่ายค้านไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ต้องให้เครดิตนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นอภิปรายว่า ทำการบ้านมาดี มีการนำข้อมูลของสื่อไปขยายต่อ และอภิปรายได้ดี โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจแม้จะไม่สุดอย่างที่คนสื่อคาดหวังแต่ก็ต้องถือว่าดี ขณะที่นักการเมืองรุ่นเก่ายังคงเน้นลีลาและโวหารในการอภิปรายแบบเดิม ๆ แต่ไม่มีข้อมูลใหม่
ส่วนกรณีที่นักการเมืองนำข่าวสารที่สื่อนำเสนอไปแล้ว ไปเป็นสารตั้งต้นแล้วขยายต่อให้ลึกกว่าที่สื่อนำเสนอนั้น จริง ๆ แล้วควรจะต้องทำ เพราะนักการเมืองสามารถทำได้ และน่าจะทำได้ดีกว่าการทำข่าวในเชิงสืบสวนของสื่อ เนื่องจากนักการเมืองเป็นผู้ใกล้ชิดกับข้อมูลต่าง ๆ มากกว่าสื่อ ล้วงได้ลึกมากกว่า หาข้อมูลได้ง่ายกว่าสื่อ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่อยู่ในอาชีพ และเคยเป็นสื่อหันไปทำงานให้กับนักกการเมืองมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการเสาะแสวงหาข้อมูลต่าง ๆ สำหรับนักการเมืองก็ควรจะต้องมีมากขึ้น เนื่องจากมีมืออาชีพทางด้านการหาข้อมูลเข้าไปร่วมงานด้วย ขณะที่ข้อมูลที่สื่อนำมาเสนอ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์แล้วจับประเด็นเพื่อนำเสนอ แต่นักการเมืองกลับตัดสินใจใช้เพียงข้อมูลที่สื่อนำเสนอไปอภิปรายในสภา อีกทั้งยังไม่อ้างถึง ซึ่งถือเป็นการไม่ให้เกียรติ
“บางคนถึงขนาดยกกราฟิกยกภาพจากสื่อไปใช้ทั้งกระบิ แต่ไม่อ้างถึงไม่ให้เครดิตกัน ขณะที่เวลามีประเด็นกับสื่อ ก็มักจะกล่าวหาว่าสื่อละเมิด สื่อไม่ขออนุญาตก่อนนำเสนอ สื่อไม่มีจริยธรรม ดังนั้นในฐานะสื่อ ก็อยากตั้งคำถามกลับไปยังนักการเมืองในประเด็นนี้เช่นกัน ส่วนการทำงานของสื่อหลังจากนี้ ก็คงต้องหนักขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่า จะมีการนำข้อมูลข่าวสารจากสื่อไปใช้ในอภิปรายมากขึ้น คนสื่อจึงต้องทำงานหนักขึ้น”
ด้าน ดร.สำราญ มองว่า การอภิปรายแบบไม่ลงมติในครั้งนี้ สังคมและสื่อต่างก็คาดหวังว่า ส.ส.ฝ่ายค้านจะขยี้ประเด็นต่าง ๆ ให้มากกว่าที่เป็นข่าวไปแล้ว เช่น ประเด็นสินค้ามีราคาแพง หรือประเด็นหนี้สินของประชาชน แต่ก็ไม่ได้เห็น เนื่องจากเนื้อหาการอภิปรายของฝ่ายค้าน ไม่มีประเด็นใหม่ และเป็นการนำข้อมูลข่าวสารที่สื่อนำเสนอไปแล้วมาเล่าซ้ำ หรือนำมาสื่อสารใหม่ในรูปแบบของอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับการอภิปรายในอดีต ส.ส. ฝ่ายค้านมีการทำการบ้านมากกว่าในยุคนี้
ขณะที่การนำเนื้อหา ภาพข่าว และกราฟิกต่าง ๆ จากสื่อไปใช้ในสภาฯ นั้น ก่อนหน้านี้เคยมีการอ้างแหล่งที่มา หรือให้เครดิตกับสื่อที่ถูกนำไปกล่าวอ้าง แต่การอภิปรายครั้งที่ผ่านมา ไม่ปรากฏเรื่องราวเหล่านี้ให้เห็น และข้อมูลที่ ส.ส. นำไปใช้อภิปรายในสภาฯ ครั้งนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลข่าสารที่สื่อนำสนอไปแล้ว ถือว่า เป็นข้อมูลทุติยภูมิ จึงดูเสมือนเป็นเพียงการฝึกทำหน้าที่ ซึ่งสังคมไม่ได้อะไร
ด้าน ผศ.ดร.ณรงค์ มองถึงการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในฐานะนักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ ในลักษณะที่สอดคล้องกับนายสุปัน และนายสำราญว่า ไม่มีประเด็นใหม่ และข้อมูลที่ใช้ในการอภิปราย ก็ปรากฎอยู่ในสื่อหลักมาแล้ว ซึ่งประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้จากหลายแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะจากโซเชียลมีเดีย (สื่อสังคมออนไลน์) ซึ่งเป็นเนื้อหาชุดเดิม ๆ จากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การอภิปรายในครั้งนี้ ฝ่ายค้านมีแต่ข่าวสารที่สื่อนำเสนอไปแล้ว เสมือนว่า ไม่มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม หรือต่อยอดจากที่สื่อนำเสนอไปแล้ว ทั้งที่สามารถทำได้นั้น ผศ.ดร.ณรงค์ ระบุว่า ปัจจุบันข่าวสารต่าง ๆ ของสื่อ มีปรากฏอยู่บนทุกแพลตฟอร์มของสื่อ และการที่นักการเมืองหยิบมานำเสนออีกครั้ง ก็จะมีมุมที่แตกต่าง เนื่องจากสื่อจะวิเคราะห์ในมุมของผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้อมูลข่าวสาร ขณะที่นักการเมืองมีการนำข้อมูลข่าวสารจากสื่อมาสนับสนุนความคิดเห็น ซึ่งเป็น ผลประโยชน์ทางการเมือง จึงจะเห็นได้ว่าทั้งสื่อและนักการเมืองมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน กล่าวคือ เมื่อนักการเมืองนำข้อมูลที่สื่อนำเสนอไปแล้ว ไปเสนออีก ก็จะเป็นประเด็นที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารของสื่อน่าสนใจมากขึ้น ขณะที่นักการเมืองก็ได้ประโยชน์จากคุณภาพข่าวที่สื่อนำเสนอจากประเด็นต่าง ๆ
ขณะที่การใช้ข้อมูลจากสื่อ ทั้งเนื้อหา อินโฟกราฟิก และภาพถ่ายนั้น มาจากสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) มากกว่าการอ้างอิงโซเชียลมีเดีย (สื่อสังคมออนไลน์) ก็เนื่องจากคุณค่าของเนื้อหาข่าว อินโฟกราฟิก ที่ผลิตโดย “องค์กรสื่อ” ย่อมมีความน่าเชื่อถือและดึงดูดใจผู้รับสาร (Audience) ส่วน โซเชียลมีเดีย (สื่อสังคมออนไลน์) ที่มีการนำเสนอ แล้วผู้รับสารให้ความสนใจนั้น ต้องพิจารณาว่า เป็นโซเชียลมีเดีย (สื่อสังคมออนไลน์) ของ “องค์กรสื่อ” หรือ ของสำนักข่าวหรือไม่ หรือนำเสนอโดยผู้มีชื่อเสียง/ผู้นำทางความคิด (Influencer) หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เช่น แพทย์ที่นำเสนอข้อมูลเรื่องโรคภัยที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และช่วยทำให้ข้อมูลข่าวสารชัดเจนขึ้น เพราะมีองค์ความรู้ และรู้จริง เรื่องราวเหล่านี้ก็จะได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้รับสาร (Audience)
“ที่ตั้งข้อสังเกตกันมากในครั้งนี้ก็คือ การนำข่าว ภาพข่าว อินโฟกราฟิก ไปใช้แบบไม่อ้างแหล่งที่มานั้น คงต้องให้ทั้งสื่อ องค์กรสื่อ หรือบุคคล อินฟลูอินเซอร์ด้านข่าว กำหนดกันว่า ต้องให้เครดิตกัน หรือหากจะนำไปดัดแปลงบางส่วนก็ทำได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อน ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่า หลายครั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี ทำอินโฟกราฟิก และมี Influencer ในโซเชียลมีเดียนำไปใช้ โดยไม่ขออนุญาต ตรงนี้คงต้องระวัง และต้องให้เกียรติผู้ผลิต”
ผศ.ดร.ณรงค์ ยังได้ตอบคำถาม กรณีที่มีคนสื่อ และอดีตคนสื่อ รับหน้าที่เป็นทีมสื่อสารให้กับนักการเมืองนั้น องค์กรสื่อควรจะต้องหารือกัน และกำหนดเป็นข้อตกลงว่า การที่นักข่าวจะนำเสนอข่าวโดยที่ตัวเองมีผลประโยชน์ หรือเป็นข่าวในเชิงสนับสนุนนักการเมือง พรรคการเมืองนั้น จะมีรูปแบบ หรือวิธีปฏิบัติอย่างไร เช่น ถ้านักข่าวคนนั้น มี Twitter เป็นบัญชีของตัวเอง ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า ความคิดเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับองค์กรที่สังกัด หรืออยู่ในบทบาทหน้าที่ขององค์กรสื่อ นักข่าวคนนั้น ก็ต้องนำเสนอมุมมององค์กร ผู้ติดตามจะได้รับรู้แล้วเข้าใจได้ถูกต้อง
ที่มา- เพจสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ https://www.presscouncil.or.th/7231
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น