วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา 2565

 


วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องในวันมาฆบูชา 16 กุมภาพันธ์ 2565 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ความว่า



"ดีถีมาฆบูชา อันเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้เมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทานหลักการอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้ 3 ประการ ได้แก่ การไม่กระทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว


'จิต' เป็นสภาพรู้ที่ปรากฏมีอยู่ในทุกชีวิตซึ่งมีสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า 'เจตสิก' เกิดร่วมด้วย เจตสิกกลุ่มที่เรียกว่า 'สังขาร' อาจปรุงแต่งให้จิตเป็นไปในทาง 3 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายดี ฝ่ายเลว และฝ่ายที่เป็นกลาง


การจะทำจิตให้ผ่องแผ้วได้ตามหลักการอันเป็นหัวใจของพระศาสนา จำเป็นต้องเริ่มขัดเกลาตนเองให้มีปรกติอดทนอดกลั้นที่จะไม่ทำบาป พอใจขวนขวายที่จะทำบุญ คือการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่เสมอ เพื่อฝึกจิตให้โน้มน้าวไปสู่วิถีสะอาด คอยชำระซักฟอกไปจนกว่าธุลีแห่งความมัวหมองจะลบเลือนหายไป ทำให้เข้าถึงสภาวะอันผ่องแผ้วด้วยจิตฝ่ายดี มีกุศลจิตเป็นเนืองนิตย์


การฝึกจิตอยู่เสมอ จะเป็นเหตุปัจจัยนำมาซึ่งความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ถึงแม้ยังดำเนินไปไม่ถึงที่สุดในฝ่ายคดีธรรม แต่ก็ย่อมยังอำนวยประโยชน์สุขในฝ่ายคดีโลก คือทำให้ผู้ฝึกจิตเป็นสุจริตชน มีการงานสะอาดปราศจากโทษ มีใจสงบระงับ ไม่ต้องกลัวโทษทัณฑ์จากกฎหมายบ้านเมือง ทั้งยังเป็นเครื่องประคับประคองจิตให้ไม่เดือดร้อนต่อโลกธรรม ไม่แสดงอาการขึ้นลง เมื่อประสบกับการมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์


รวมความได้ว่าจิตที่ผ่องแผ้ว ต้องเกิดจากการฝึก เมื่อฝึกแล้วจิตก็จะมั่นคงไม่หวั่นไหว สมตามพระพุทธานุศาสนีที่ว่า 'จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหา' ความว่า "จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้" ด้วยประการฉะนี้


ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความงอกงามไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้นสืบไป เทอญ."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะแนวแก้ "ขัดแย้ง-รุนแรง" ของชาวพุทธ ในปริบทพุทธสันติวิธี

การใช้หลักพุทธสันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้งในวงการพระสงฆ์และสังคมไทยสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดปัญหาความรุนแรงและเสริมสร้าง...