วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565

"อุตตม" แนะ 3 แนวพัฒนาเกษตรกรไทยหายจน เป็นฐานแก้วิกฤตอาหารโลกยั่นยืน

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก แสวงหาโอกาสในวิกฤตโลกครั้งนี้ ทั้งในระยะสั้น และวางรากฐานให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารโลกได้อย่างแท้จริงในระยะยาว ที่สำคัญสุดก็คือ เกษตรกรผู้ผลิตต้องได้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นนี้ด้วย โดยในระยะสั้น ภาครัฐต้องเร่งช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนปุ๋ยที่ราคาสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตกลับวิ่งตามไม่ทันต้นทุน ขณะเดียวกันภาครัฐต้องร่วมกับเอกชนผู้ส่งออกใช้โอกาสนี้เปิดตลาดประเทศใหม่ๆ ที่มีความต้องการสินค้าเกษตรทดแทนประเทศที่มีปัญหา เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกของไทย


นายอุตตม ระบุต่อว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากเกิดสถานการณ์อาหารขาดแคลนและมีราคาแพง ต้นเหตุมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญโดยเฉพาะข้าวสาลี และรัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ เมื่อปุ๋ยขาดแคลนก็กระทบต่อปริมาณการผลิตอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก ที่กำลังเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงในแหล่งผลิตอาหารทั่วโลก


“ผมจึงขอชวนทุกท่านมาร่วมกันคิดต่อว่า เมื่อหลายประเทศทั่วโลกมีปัญหาขาดแคลนอาหาร ขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก มูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อแสวงหาโอกาสในวิกฤตโลกครั้งนี้ ทั้งในระยะสั้นและวางรากฐานให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารโลกได้อย่างแท้จริงในระยะยาว สุดท้ายที่สำคัญสุดก็คือ เกษตรกรผู้ผลิตต้องได้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นนี้ด้วย” นายอุตตม ระบุ


นายอุตตม ระบุด้วยว่า สำหรับระยะสั้นผมคิดว่าสิ่งที่ควรทำในทันทีคือ ภาครัฐต้องเร่งช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนปุ๋ยที่ราคาสูงขึ้นจากปีก่อนถึงเท่าตัว แต่ราคาผลผลิตกลับวิ่งตามไม่ทันต้นทุน ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรจะไม่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เลย ขณะเดียวกันภาครัฐต้องร่วมกับเอกชนผู้ส่งออกใช้โอกาสนี้เปิดตลาดประเทศใหม่ๆ ที่มีความต้องการสินค้าเกษตรทดแทนประเทศที่มีปัญหา เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกของไทย



หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ระบุอีกว่า ประเด็นที่ควรทำในระยะกลางและยาว เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกได้อย่างแข็งแกร่งนั้น ต้องทำ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. ยกระดับคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่ และ 2. ยกระดับสู่การเกษตรสมัยใหม่ เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่ตอบสนองความต้องการตลาดในโลกปัจจุบัน


นายอุตตม เปิดเผยด้วยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.65 พรรคสร้างอนาคตไทยได้จัดเวทีเสวนา “สร้างอนาคตเกษตรกรไทยอย่างไรให้ยั่งยืน” โดยนายกำพล ปัญญาโกเมศ ประธานฝ่ายวิชาการ พรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งมีแง่มุมที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรไทยยั่งยืน 3 ประเด็น


คือ 1.รัฐต้องเร่งช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิตสำคัญ ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และพลังงาน เพื่อเพิ่มกำไรจากการขายผลผลิตให้กับเกษตรกร เช่น สนับสนุนเมล็ดพันธุ์คุณภาพ การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ในการทำเกษตร เป็นต้น


2.รัฐต้องปรับโครงสร้างการเกษตร พร้อมทั้งสร้างกลไกที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกษตร เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยยกระดับให้เกษตรกรกลายเป็นผู้ประกอบการ


และ 3.แก้ไขปัญหาเกษตรกรไทยที่สะสมมาหลายสิบปี 3 ด้าน คือ ปัญหาหนี้สิน, ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และปัญหาไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน


“เราต้องแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อให้เกษตรกรหลุดออกจากกับดักวงจรความยากจน เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในอนาคต และเชื่อว่าช่วงวิกฤตอาหารโลกในขณะนี้ หากเราสามารถดำเนินการตามแนวคิดข้างต้นได้อย่างรวดเร็ว ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางการส่งออกสินค้าเกษตร และส่งผลดีต่อเนื่องถึงพี่น้องเกษตรกร ซึ่งพรรคสร้างอนาคตไทยจะนำแนวคิดทั้งหมดนี้ไปประมวลเป็นนโยบายของพรรคต่อไป” นายอุตตม ระบุ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 4. อาวาสิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 4. อาวาสิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ...