วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565

เปิดฉาก 'เศรษฐกิจพอเพียง' สู่เกษตรในเมืองประตูพัฒนาชาติไทย รายงานพิเศษ "ตื่นรู้สู่เกษตรคนเมือง" (Awake to urban agriculture) ตอนที่ 1


รายงานพิเศษ "ตื่นรู้สู่เกษตรคนเมือง" (Awake to urban agriculture) ตอนที่ 1


"เศรษฐกิจพอเพียง" หนึ่งในแนวพระราชดำริอันสำคัญของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงมอบให้เป็นมรดกอันล้ำค่าแก่ประเทศไทยและพสกนิกรชาวไทย โดยแนวทางพระราชดำรินี้ทรงค้นคว้าวิจัยทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จนกระทั่งวันนี้ผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่หลายแห่งน้อมนำพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และประสบความสำเร็จ

ขณะที่ประเทศไทยกว่าจะเดินหน้ามาสู่ "เศรษฐกิจพอเพียง" และทำให้ "คนเมือง" หันมาใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของที่พักอาศัยทำ "เกษตร" นั้นประเทศไทยต้องผ่านวิกฤตมาอย่างโชกโชน

ย้อนไปสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องยอมประกาศลดค่าเงินบาทเพื่อช่วยเหลือด้านการส่งออก ในวิกฤตราคาน้ำมันครั้งที่ 2 ซึ่งมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน โดยพระเจ้าซาห์สละราชสมบัติและเสด็จลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจบลงด้วยสงครามระหว่าประเทศอิรักกับอิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และ ราคาสินค้าเกษตรในไทยไม่ได้สูงตามราคาน้ำมัน

ดร.พงษ์พิสิฏฐ์ วิเศษกุล ได้ให้ความเห็นไว้ในผลงานการเขียนหนังสือ "เศรษฐกิจเขียวและใส" เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประเทศไทยในเรือนกระจกว่า วิกฤตราคาน้ำมันครั้งที่ 2 นี้เป็นการรวยแล้วจนอย่างชัดเจนที่สุด ก่อนหน้านั้นเราคิดว่าเรารวย ดูจากจีดีพีเราสูงขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 8.4 ต่อปี ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และ 2 และ ร้อยละ 11.7 ในปี 2521 ก่อนที่ผลการพึ่งทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำมันและเงินทุนจากต่างประเทศจะแผลงฤทธิ์ ภาวะขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้เงินคงคลังและเงินสดที่มีใช้สอยรายวันของรัฐบาลเหลือน้อยมาก ทั้งยังต้องเจียดมาอุดหนุนราคาน้ำมันไม่ให้สูงเร็วจนชาวบ้านรับไม่ไหว

รัฐบาลพลเอกเปรม ใช้วิธีปู่ย่าตายายเราปฏิบัติมาตลอดหลายร้อยปีของการสร้างบ้านแปลงเมือง คือ การประหยัด ท่านมีวินัยในการใช้จ่ายมาก ไม่จำเป็นจริงๆ ท่านไม่ใช้ ไม่จำเป็นจริงๆ ท่านไม่กู้ เราใช้ทฤษฎี "เศรษฐกิจพอเพียง" เอาตัวรอดมาได้ ทั้งหมดนี้ คือ ความพอดี คือ การประมาณตัวในการบริหารบ้านเมืองของพลเอกเปรม

ความเห็นของ ดร.พงษ์พิสิฏฐ์ สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยน้อมนำพระราชดำริทฤษฎี "เศรษฐกิจพอเพียง" มาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และจะเห็นว่า เพราะ "เศรษฐกิจพอเพียง" ทำให้ประเทศไทย สามารถรอดพ้นวิกฤตต่างๆมาได้ในปัจจุบัน ทั้งวิกฤตโควิด-19, วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อของเศรษฐกิจไทย

มิติของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ การพลิกแผ่นดินการปลูกฝิ่นของชาวเผ่าม้ง จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นผืนดินเกษตรกรรมผ่าน "โครงการหลวง" โดยใน พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ได้เสด็จประพาสต้นตามดอยของภาคเหนือ และ ทรงตระหนักถึงปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา ซึ่งเกิดจาก "ความไม่รู้", ความยากจน และการเจ็บไข้ได้ป่วยที่มีมาช้านานของชาวไทยภูเขา

โดยในครั้งนั้นได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ข้าราชบริพารและนักวิชาการเกษตร ได้คิดค้นวิธีการปลูกพืชผักผลไม้ และ ดอกไม้นานาพรรณที่สามารถเพาะปลูกได้ดีในพื้นที่ภูมิอากาศหนาวเย็นตามดอยสูง รวมทั้งวางแผนในเรื่องการตลาดให้สามารถมีโอกาสขายผลผลิตของตนเองได้ด้วย โดยเป็นหนึ่งในแนวทางพระราชดำริที่ให้ชาวไทยภูเขาเปลี่ยนทัศนคติการปลูกพืชเสพติด คือ ฝิ่น มาเป็น "ไม้เมืองหนาว" แทน และนับเป็นโอกาสที่ทำให้ชาวไทยภูเขาจำนวนมาก ไม่ต้องไปเดินอยู่ในอาชีพที่ผิดกฏหมาย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เคยตรัสว่า "โครงการหลวงไม่มีกำไร มีแต่ขาดทุน แต่ขาดทุนคือกำไร กำไรที่ว่า คือ ชาวบ้านอยู่ดีกินดีขึ้น ไม่ต้องปลูกฝิ่น ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า"

ส่วนมิติด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นคนเมืองที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถเนรมิตพื้นที่เล็กๆ เป็นพื้นที่ "เศรษฐกิจพอเพียง" ในยุคนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่ง "แนวหน้า ออนไลน์" จะนำเสนอเป็นตอนต่อไป

อ้างอิงข้อมูล :-  อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ.2544  หนังสือ "เศรษฐกิจเขียวและใส" เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประเทศไทยในเรือนกระจก" เขียนโดย ดร.พงษ์พิสิฏฐ์ วิเศษกุล https://www.naewna.com/likesara/678010

 


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...