วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565

'เศรษฐีของสหรัฐอเมริกา' ยังนำ 'เศรษฐกิจพอเพียง' ออกมาใช้ รายงานพิเศษชุด "ตื่นรู้สู่เกษตรคนเมือง" (Awake to urban agriculture) ตอนที่ 2


สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีความเป็นผู้นำ แม้กระทั่ง "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่พบว่า "เศรษฐีของสหรัฐอเมริกา" มีการนำ "เศรษฐกิจพอเพียง" ออกมาใช้โดยอัตโนมัติ ด้วยหัวใจแห่งความเมตตา


"สตีฟ จอบส์" ผู้คิดค้นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ภายใต้แบรนด์ "APPLE" เป็นอีกคนหนึ่งที่ในช่วงเวลาวัยกลางคน ช่วงที่เขาประสบความสำเร็จสูงสุด แต่กลับทิ้งความสำเร็จไปหาความรู้ในอินเดีย และ ใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตทำเกษตร ทำไร่ บนพื้นที่ว่างของบ้านพักในสหรัฐอเมริกา


เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีในสหรัฐอเมริกาหลายๆคน ที่หันมาสนับสนุนประเทศที่ยากจนและขาดแคลนโอกาสให้มีโอกาสทางด้านการทำเกษตร เช่น บิล เกตส์ (Bill Gates) ซึ่งมีการเผยแพร่ทฤษฎีการเลี้ยงไก่ในแอฟริกาใต้ เพื่อขจัดความยากจน โดยก่อนหน้านี้ได้ก่อตั้งมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ โดยใช้เงินบริจาคส่วนตัว 3.05 แสนล้านบาทในรอบแรก และบริจาครอบที่สองอีก 1.34 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมูลนิธินี้เน้นงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพ และมีบทบาทในการแจ้งเตือนสภาวะสุขอนามัยของชาวโลก โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 รวมไปถึงการสนับสนุนด้านเกษตรกรรมในแอฟริกาใต้


คุณงามความดีของ "บิล เกตส์" ทำให้วอร์เรน บัฟเฟ่ต์ (Warren Buffet) นักเล่นหุ้นซึ่งรวยเป็นอันดับสองของโลก ประกาศสมทบทุนกับมูลนิธิของบิลเกตส์ เป็นจำนวนเงินถึง 1.67 ล้านล้านบาท


เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า "เศรษฐีของสหรัฐอเมริกา" มีความเป็น "เศรษฐกิจพอเพียง"


โดยอัตโนมัติ อันเกิดขึ้นมาด้วยคุณงามความดีภายใน "จิตใจ" อันเป็น "ผู้รู้" ที่จะทำลาย "ความไม่รู้" ออกอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้การดำเนินชีวิตในทางโลกนั้นงดงาม


การตื่นรู้เหล่านี้ มีหลักปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมผ่านคำว่า "ความพอดี" โดย "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้รวบรวมกระแสรับสั่งเกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิตแบบ "เศรษฐกิจพอเเพียง" ไว้ 6 ประการ ได้แก่ 1.ความพอดีด้านจิตใจ 2.ความพอดีในการรักษาวินัยและกติกาของสังคม 3.ความพอดีด้านเศรษฐกิจและการลงทุน 4.ความพอดีในการใช้ทรัพยากร 5.ความพอดีในการใช้เทคโนโลยี และ 6.ความพอดีด้านการเมือง


ส่วนอาจารย์อภิชัย พันธะเสน ผู้ทำวิจัยเรื่องการรวบรวมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่นำปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้ได้อย่างเป็นผลได้เขียนสรุปในหนังสือ "การประยุกต์พระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม" ซึ่งทำให้ธุรกิจที่น้อมนำแนวทางพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้นั้นสามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้ มีอยู่ด้วยกัน 9 ข้อ คือ 1.ใช้เทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับทุน และสภาพธุรกิจของตน 2.มีขนาดการผลิตที่เหมาะสม 3.ไม่เน้นการทำกำไรระยะสั้น 4.กระจายความเสี่ยง 5.ไม่ก่อหนี้เกิดขีดความสามารถในการใช้หนี้ 6.ตอบสนองตลาดท้องถิ่นก่อน 7.ใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ 8.ใช้แรงงานมากกว่าเครื่องจักร และ 9.ความซื่อสัตย์


"แนวหน้า ออนไลน์" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์สัมพันธ์ พิพัฒน์วรการ หนึ่งใน "เกษตรคนเมือง" ซึ่งลงมาลุยงานเกษตรอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2552 ด้วยเหตุผลล้มละลายกับธุรกิจ และ เป็นหนี้หลักหลายสิบล้านบาท ปัจจุบันสถานการณ์หนี้ส่วนตัวคลี่คลาย ด้วยอาชีพการทำเกษตรในเมือง และ วันนี้ต่อยอดสู่การบุกเบิกการทำโครงการ "1 อำเภอ 1 ฟาร์มนวัตกรรม 1 ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตร" โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า "เฟรชวิลล์ฟาร์ม" (Freshville Farm) และในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการขยายศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรในเมือง สู่ปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร และ หัวเมืองในต่างจากหวัด เช่น บางใหญ่ กรุงเทพฯ, อัมพวา-บางคนที จ.สมุทรสงคราม และ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น


อาจารย์สัมพันธ์ให้ความเห็นเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ทำอยู่ในแวดวงเกษตรกรรม จะพบว่าคนทำเกษตรเองก็ยังไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมากนัก ซึ่งจริงๆแล้วคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่นำมาใช้กับภาคเกษตรกรรมนั้น สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ดี รวมไปถึงการใช้หลักกการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตด้านการเกษตร ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องอยู่ที่การปลูกพืชลงดินเท่านั้น จึงจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง


สอดคล้อง กับที่ ดร.สุเมธ ถ่ายทอดออกมาว่า อยู่อย่างพอเพียงตามแนวพระราชทานนั้น แบ่งออกเป็นสองข้อใหญ่ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นเรื่องของเกษตรกรรายเล็ก ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ต้องการบริหารจัดการให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ประเทศต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน หรือ Dual Tracks เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ใช้ได้กับทุกองค์กรไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ไม่ว่าองค์กรนั้นจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน


และ 2.พระองค์ไม่ได้ห้ามไม่ให้รวย หากจะมีอาชีพสุจริตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วจะมั่งมีจนสามารถซื้อข้าวของที่ต้องการใช้บ้างก็ไม่มีใครว่า ขออย่าได้เบียดเบียนคนอื่น หรือ ใช้ของอย่างไรไม่รู้คุณค่า ทิ้งๆขว้างๆ ให้เป็นขยะ หรือเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม อย่างนี้ไม่ได้


หนึ่งในองค์ความรู้ แห่งการรู้ตื่นด้านการเกษตรที่เป็นตัวอย่างให้แก่คนเมืองมาหลายยุคคหลายสมัย ได้เรียนรู้ผ่านการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และ เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ด้านงานวิจัยเกษตรสถานที่นั้นคือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมี "ฟักแม้ว" เป็นผักประจำถิ่นที่ต้อนรับผู้มาเยือน รวมไปถึงผลไม้เมืองหนาวที่มีให้ชิมตลอดทั้งปี เช่น ท้อ หรือ พีช , แอปเปิ้ล และสาลี่ บนเนื้อที่ 138 ไร่


ต้นแบบของการทำเกษตรที่ "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" เพื่อให้ได้ผลผลิตตามฤดูกาลของท้องถิ่นนั้นๆใน จ.เชียงใหม่ เป็นเรื่องราวที่ประทับใจสู่รุ่นต่อรุ่นมานาน อยู่ที่ว่าคนเมืองจะนำเรื่องราวเหล่านี้มาประยุกต์ใช้อย่างไร


รวมทั้งในปัจจุบัน มีโครงการ "ทหารพันธุ์ดี" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ทำให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าอาหารที่ได้จากการทำการทำเกษตรที่ปลอดสารพิษ และ พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งคนเมืองก็มีโอกาสเรียนรู้การทำเกษตรผ่านโครงการนี้ได้เช่นกัน


อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถึงกับเอ่ยปากว่า "เกษตรคนเมือง" เป็นเรื่องดีมากๆ และ ตอนนี้กรุงเทพมหานครกำลังสำรวจและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ว่างเปล่าใน กทม. เพื่อนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ให้กับคนเมืองได้ทราบว่า ในเขตของตนนั้น มีพื้นที่ใดพอที่จะได้รับอนุญาติให้ทำเกษตรได้บ้าง ซึ่งพบว่ามีพื้นที่บางส่วนเป็นของราชการ เช่น กรมธนารักษ์ เป็นต้น


ปิดท้ายรายงานพิเศษชุด "ตื่นรู้สู่เกษตรคนเมือง" (Awake to urban agiculture) ตอนที่ 2 และโปรดติดตามตอนต่อไป


อ้างอิง :-


วารสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2544 และ หนังสือ "เศรษฐกิจเขียวและใส"


เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประเทศไทยในเรือนกระจก เขียนโดย ดร.พงษ์พิสิฏฐ์ วิเศษกุล


ขอบคุณภาพจาก facebook : มูลนิธิชัยพัฒนา


https://www.naewna.com/likesara/678300


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: แชทจีพีทีช่วยถึงธรรม อ่านพระไตรปิฎกไม่เข้าใจ แชทจีพีทีช่วยได้

การประยุกต์ใช้แชทจีพีทีในการศึกษาพระไตรปิฎกสามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจคำสอนที่ลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น และมีความเข้าใจที่ถูกต้องและลึก...