ปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นหนึ่งในความรู้อันมีค่าดั่งเพชร ที่ทำให้คนเมืองมีโอกาสใช้ชีวิตตามความเป็นจริง และ มองเห็นโอกาสในการทำเกษตรในเมือง และยังเป็นปรัชญาที่สำคัญในการเป็นฐานรากที่มั่นคงของประเทศไทย ผ่านเรื่องราวของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ศึกษาและเรียนรู้ เพื่อต่อยอดไปใช้ในทางปฏิบัติ
อาจารย์พงษ์พิสิฏฐ์ วิเศษกุล เขียนไว้ในหนังสือ "เศรษฐกิจเขียวและใส" เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประเทศไทยในเรือนกระจกว่า ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร : รัชกาลที่ 9) ทรงยึดเป็นแนวทางในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ พระองค์ท่านจะไม่ทรงอธิบายปรัชญาเหล่านี้มาก แต่จะทรงปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง และ ผลสำเร็จของการนำปรัชญาเหล่านี้มาปฏิบัติให้ดูได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนเกิดผลอเนกอนันต์กับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐและเอกชน
อาจารย์พงษ์พิสิฏฐ์ยกตัวอย่าง "โครงการบำบัดน้ำเสียแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี" ซึ่งทำหน้าที่บำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรีทั้งหมด และมีการแยกวัสดุที่ไม่ใช่สารอินทรีย์ เช่น ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องโลหะ ออกไปตั้งแต่ต้นทาง จากนั้นจึงส่งนำ้เสียที่เหลือมาบำบัดในบ่อที่หนึ่ง ซึ่งเป็นบ่อที่สกปรกที่สุดภายในโครงการ แต่ด้วยจุลินทรีย์ชนิดแอโรบิก (Aerobic) ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติและแสงแดด ทำให้สิ่งสกปรกต่างๆกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ตกตะกอนสู่ก้นบ่อ โดยจะถูกจุลินทรีย์ที่ก้นบ่อกินเป็นอาหารต่อไป หลังจากนั้นน้ำบนผิวบ่อที่หนึ่งที่มีความสะอาดกว่าน้ำที่ส่งมาจากตัวเมืองเพชรบุรี จะไหลเอ่อล้นไปบ่อที่สองโดยแรงโน้มถ่วงโลก จุลินทรีย์บ่อที่สองก็ทำหน้าที่กินเป็นอาหาร และน้ำบนผิวบ่อก็ไหลไปยังบ่อที่สาม จนถึงบ่อสุดท้าย เพื่อปล่อยน้ำลงสู่ป่าชายเลน
นอกจากนี้ อาจารย์พงษ์พิสิฏฐ์ยังตั้งข้อสังเกตุจากเอกสารเผยแพร่ของธนาคารโลกใน ค.ศ.1992 ว่า เมื่อนำคนจนที่มีรายได้ 100 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี มาเปรียบเทียบกับคนรวยที่มีรายได้ 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี แต่กลับพบว่าทั้งคนรวยและคนจนต้องเผชิญอยู่กับสภาพอากาศที่มีแต่ฝุ่นและควันพิษ นอกจากนี้ยังพบว่า คนรวยผลิตขยะและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้น้ำมันมากกว่าคนจน รวมไปถึงยังสะท้อนการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งคนรวยมีกำลังซื้อมากกว่าก็ได้ครอบครองทรัพยากรไปก่อน
สิ่งที่น่าใจอีกประการหนึ่ง ภายใต้ภาวะก่อนการตื่นรู้ ธรรมชาติของมนุษย์มักจะต้องอยากรู้ และ เรียนรู้ แต่โดยธรรมชาติที่ฝังแน่นเข้าไปใจของแต่ละบุคคลก็คือ ความต้องการรับข้อมูลที่สามารถพยากรณ์ (predict) อนาคตได้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมโยงกับการเมืองและการปกครอง เพราะฉะนั้น การทำเกษตรของคนเมืองก็เช่นกัน จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลเหล่านี้ซึ่งมีการพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วในระดับหนึ่ง เพื่อวางแผนการทำเกษตรได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นอกเหนือไปจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อทำนายสภาพอากาศ
อาจารย์พงษ์พิสิฏฐ์ยกตัวอย่างหนังสือ "World Out of Balances" เขียนโดย Paul Laudicina ซึ่งเป็นหนังสือที่สภาพัฒน์ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์ในการทำ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10" โดยมี 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.โลกาภิวัฒน์ ที่มาจากการติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตที่ทำได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง ทำให้การค้าสินค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็จะเกิดกระแสต่อต้านทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น โดยผู้คนในที่ประเทศที่เจริญแล้วกลัวจะเสียตำแหน่งงานให้คนในประเทศที่กำลังพัฒนา และ คนในประเทศที่พัฒนาแล้วก็กลัวการเอารัดเอาเปรียบจากประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยวิธีใช้ช่องว่างทางกฎหมาย รวมทั้งยังทำให้เกิดการทำลายทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศที่กำลังพัฒนา
2.โครงสร้างของประชากร จะมีคนแก่มากขึ้น มีการออมมากขึ้น และ ดอกเบี้ยจะถูกลง เกิดการลงทุนด้านการออม แต่จะเกิดในประเทศจีน , อินเดีย และ เวียดนาม โดยถึงกับมีการย้ายทุนของกองทุนบำเหน็จบำนานมายังประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนข้อเสียของการมีคนแก่มากขึ้น จะทำให้มีคนที่มีกำลังที่จะมีรายได้เลี้ยงคนทั้งประเทศน้อยลง
3.พฤติกรรมผู้บริโภค เมื่อมีคนแก่มากขึ้น สินค้าเกี่ยวกับคนแก่ก็มีความต้องการมากขึ้น รวมทั้งสินค้าเพื่อสุขภาพ งานอดิเรก บันเทิง และ ท่องเที่ยว ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
4.ทรัพยากรธรรมชาติ มีการคาดการณ์ว่า ภายใน พ.ศ.2595 จะไม่มีธารน้ำแข็ง (Glacier) เหลืออยู่บนโลก ซึ่งหมายความว่า ร้อยละ 50 ของโลกที่อาศัยน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งใช้ในฤดูร้อนจะไม่มีน้ำใช้ ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่จีน , อินเดีย , บังคลาเทศ และ ประเทศที่มีแม่น้ำโขงไหลมาจากที่ราบสูงทิเบต ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
5.การก่อการร้าย ทำให้รัฐของแต่ละประเทศต้องวางกฎเกณฑ์ต่างๆมากขึ้น ทำให้การค้าระหว่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และ ไม่สะดวกรวดเร็วเหมือนสมัยก่อน
ทั้ง 5 ข้อนี้ เมื่อเวลาเดินทางมาถึง พ.ศ.2565 จำเป็นที่จะต้องใส่ข้อ 6 เข้าไปคือ เรื่องโรคระบาดทั้งในคน , สัตว์ และ พืช ซึ่งในอดีตเคยมี ตอนนี้ก็ยังมี และ อนาคตก็จะยังมีโรคระบาดเกิดขึ้น อยู่ที่ว่าจะเป็นโรคอะไรเท่านั้นเอง ทำให้รัฐของแต่ละประเทศต้องวางงบประมาณครอบคลุมถึงเรื่องเหล่านี้ ซึ่งโรคระบาดจะส่งผลต่อวงจรของแหล่งอาหาร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วกรณีการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคนเมืองอย่างหนัก บางชีวิตในเมืองหลวงถูกปลดจากงานกระทันหัน และไม่เคยแต่ทำงานออฟฟิศ ไม่เคยอยู่กับเกษตรกรรม ต้องพลิกชีวิตทันทีในการไปเรียนรู้การทำเกษตร
บางชีวิตอาจยังมีงานประจำ แต่วิถีชีวิตการซื้ออาหารต้องซื้อผ่านคนกลาง เช่น ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ และ ต้องมีระบบขนส่งอาหารเข้ามาอีกขั้นตอนหนึ่ง ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ เรียกว่า ต้องมีเงินตลอดเวลา ถ้าขาดเงินก็อดตายในสภาวะที่เกิดโรคระบาด
กรณีดังกล่าว หากนำแนวทางพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" มาใช้ในทุกวัน ก็จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน อันมีสาเหตุมาจากโรคระบาดได้ โดยไม่ต้องใช้เงินมากในแต่ละวัน เพราะหากสามารถปลูกผักในพื้นที่พักอาศัยได้ แม้เพียงไม่กี่ตางรางวาก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารขนาดย่อมได้ ซึ่งจะเพียงพอต่อช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต ส่วนในต่างจังหวัด จะพบว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบท มีอาชีพเกษตรกรจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดน้อยมาก เพราะเกษตรกรในชนบทสามารถผลิตแหล่งอาหารได้ครบวงจรมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด
สำหรับในประเทศไทยนั้นการรู้ถึงเหตุการณ์ล่วงหน้า จะต้องเพิ่มตัวแปรสำคัญเป็นข้อ 7 เข้าไป คือ ความผันผวนทางการเมือง เช่น การเกิดม๊อบ หรือ การเกิดความขัดแย้งทางการเมือง โดยเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างฉับพลัน และ จะส่งผลต่อภาคเกษตรโดยรวม ทั้งการทำเกษตรในเมืองและในชนบท เพราะภาคเกษตรกรรมยังต้องอาศัยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย มาเป็นรายได้ในการตีคืนกลับไปเป็นทุนเพื่อทำเกษตรต่อไป
ถึงกระนั้น ทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม การบริการ และ อื่นๆ ต่างหลอมรวมเป็นหนึ่งซึ่งเปรียบดั่งฐานรากที่มั่นคงด้วย "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ พระองค์ทรงปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง ด้วยการเสด็จประพาสต้นตามดอยต่างๆของภาคเหนือตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งการเสด็จประพาสต้นในบางพื้นที่
ต่อมาได้รับการยอมรับจากประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นตามดอยที่ขุนวาง จ.เชียงใหม่ ใน พ.ศ.2525 ส่งผลให้มีการลดปลูกฝิ่นอย่างเร่งด่วน ทำให้การดำเนินงานได้รับงบประมาณช่วยเหลือจาก "โครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ" (United Nation Development Programme : UNDP) จนกระทั่ง พ.ศ.2531 ได้ดำเนินการสู่รูปแบบ "โครงการหลวง" และ ตั้งชื่อว่า "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง" ซึ่งเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางด้านเกษตรจวบจนทุกวันนี้
ทั้งหมดคือเนื้อหาที่รายงานพิเศษชุด "ตื่นรู้สู่เกษตรคนเมือง" (Awake to urban agriculture) เพื่อนำไปสู่มิติของเกษตรคนเมืองที่มีความเป็นไทยได้อย่างลงตัว โดยนับจากปีนี้ไปคนเมืองในจุดต่างๆจะหันมาสู่วิธีธรรมชาติมากขึ้น และ หนึ่งในนั้นคือการเรียนรู้การทำเกษตรนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล
หนังสือเศรษฐกิจเขียวและใส เขียนโดย ดร.พงษ์พิศิฏฐ์ วิเศษกุล
และ วารสาร อ.ส.ท. เดือนมกราคม พ.ศ.2544
ขอบคุณภาพ :-
https://www.thaicityfarm.com/
https://www.busseltonmail.com.au/
https://www.naewna.com/likesara/678992
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น