วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2565

"ดร.สุวิทย์"ฟังธง 7-8 ปีที่ผ่านมาปฏิรูปน้อยมาก แนะแนวพัฒนา Soft Power ตาม BCG มีคุณธรรมพอเพียงเป็นฐาน

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีการจัดเวที “เปิดโลกทัศน์ เตรียมความพร้อม เติมความรู้ ผู้ปฏิบัติงาน พอช.” โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Thailand’s Soft Power กับ BCG Economy Model พลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” โดยมีการถ่ายทอดผ่านระบบ ZOOM เพื่อให้เจ้าหน้าที่ พอช. ผู้บริหาร และผู้นำชุมชนทั่วประเทศได้รับชม


ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ตลอดจนแผนปฏิรูปฯ ต่างๆ แต่ปรากฏว่าในช่วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเหล่านี้มีความคืบหน้าน้อยมาก


“ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปเป็นเรื่องไกลตัวประชาชน ทำอย่างไรให้เป็นเรื่องใกล้ตัว จับต้องได้ และทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องการมีส่วนร่วม ภาครัฐคิดว่าตัวเองเป็นคุณพ่อรู้ดี แต่ไม่เคยมีแผนบอกประชาชนว่าเกี่ยวอะไรกับเขา ใกล้ตัวเขาหรือไม่ ? ”


แผนปฏิรูปและวาระส่วนใหญ่คิดโดยรัฐและขับเคลื่อนโดยส่วนกลาง ดังนั้นต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในรูปแบบ โดยอาจจะเริ่มต้นที่ส่วนกลาง แต่หัวใจต้องอยู่ที่พื้นที่ เพราะอัตลักษณ์พื้นที่ถ้ามีโอกาสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองจะเติบโตเป็นดอกเห็ดและดีกว่าขับเคลื่อนด้วยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ซึ่งการปฏิรูปในส่วนนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. มีความเกี่ยวข้องโดยตรง


ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy) จะเป็น New Growth Engine ของประเทศไทยหลังโควิด เพราะถ้าย้อนดูที่ผ่านมา ประเทศไทยแต่ละช่วงจะมี Growth Engine ที่แตกต่างกัน อย่างยุคเปลี่ยนวิกฤติพลังงานสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล คือ Eastern Seaboard ต่อมาเจอภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ จนประกาศเปลี่ยนแนวคิดสนามรบเป็นสนามการค้า แต่ ณ วันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 4.0 จึงต้องใช้โมเดล BCG ซึ่งตั้งบนหลักคิด 3 ประการ ดังนี้


1.สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก 2.เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 3.น้อมนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


นอกจากนี้ BCG ยังเป็นโมเดลที่เน้นการเติบโตที่สมดุล ทั่วถึงและยั่งยืน รายละเอียด ดังนี้ 1.อาศัยจุดแข็งของความหลากหลายเชิงชีวภาพและวัฒนธรรม 2.การกระจายตัวของสาขายุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมเป้าหมายในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป 3.การกระจายตัวของผู้ประกอบการ ครอบคลุมผู้ประกอบการในระดับฐานราก วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายใหญ่และสตาร์ทอัพ 4.การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจภูมิภาค ระดับประเทศ และเศรษฐกิจโลก 5.สร้างสมดุลระหว่างการนำเข้าเทคโนโลยีกับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ


ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า โมเดล BCG จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความขัดแย้งไปพร้อมกัน เนื่องจาก BCG ไปตอบโจทย์ความมั่นคง 4 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ อาหาร พลังงาน และรายได้-การมีงานทำ ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG จะทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆ ตั้งแต่รายย่อยจนถึงระดับกลาง และระดับใหญ่ โดยแบ่งเป็นการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ดังนี้


ภาคเหนือ เช่น การยกระดับข้าวด้วยนวัตกรรม, ระบบเกษตรปลอดภัยสำหรับการส่งออก, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงวัฒนธรรม, นำวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ เช่น วัฒนธรรมล้านนามาสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ พัฒนาสินค้าและบริการ


ภาคอีสาน เช่น โปรตีนทางเลือกจากแมลง, ระบบแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ, ระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำชนาดเล็ก, ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีวัฒนธรรม


ภาคตะวันออก เช่น พัฒนาผลผลิตทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มไม้ผล, การพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอนาคต, สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่


ภาคกลาง เช่น ประเทศไทยไร้ขยะ, นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย, นวัตกรรมเพื่อการต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่


ภาคใต้ เช่น นวัตกรรมด้านฮาลาล, การท่องเที่ยวมูลค่าสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้, นวัตกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ Precision Aquaculture, นำเสนอเรื่องราวของปักษ์ใต้ยุคใหม่ พัฒนาพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงพหุวัฒนธรรม


“BCG เป็นการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลงไประดับพื้นที่ ภาค จังหวัด และชุมชน ถ้าระบบราชการโดยเฉพาะ อบต. อบจ. ผู้ใหญ่บ้าน สามารถทำในระบบ BCG ได้ดีจะเกิดความยั่งยืนในตัวของมันเอง เกิดชุมชน BCG ตามนิยามของผม คือ มีระบบน้ำ พลังงานไฟฟ้าชุมชน แหล่งน้ำชุมชน นวัตกรรม ปลูกไม้มีค่า เอาธุรกิจชุมชนและคนรุ่นใหม่มาทำมาหากิน ตลาดกลาง BCG และกองทุน BCG ทุกคนมีบ้าน มีที่ดินทำกิน เพราะรากฐานของประเทศคือความเข้มแข็งของชุมชน”


จากนี้ไปตัวขับเคลื่อนสำคัญคือทุนของมนุษย์และเทคโนโลยี ในบริบทของ พอช. คือ จะทำอย่างไร ให้ลงทุนในทุนมนุษย์ ทุนสังคม ฟื้นฟูทุนมนุษย์ให้มาอยู่ที่ระดับชุมชน และในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป


ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า BCG คือการต่อจิ๊กซอว์หลายส่วน ตั้งแต่เกษตรที่ยึดโยงอาหาร พลังงาน และสุขภาพ บางส่วนยึดโยงกับการท่องเที่ยว ทั้งหมดจะต้องมีอุตสาหกรรมพื้นฐานในพื้นที่ เช่น สุขภาพ การแพทย์ ท่องเที่ยว บริการ การค้า และธุรกิจดิจิทัลเพื่อให้เชื่อมต่ออุตสาหกรรมต่างๆ


“หัวใจของ BCG คือชุมชน ถ้าเราทำให้ชุมชนในประเทศไทยแข็งแรงขึ้นมาได้ สานพลังชุมชน จะก่อให้เกิดพลังอันมหาศาล ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ หากประเทศไทยสามารถผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง เป็นประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืน ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”


ดังนั้นเราจะต้องมาพิจารณาว่าประเทศไทยมี Soft Power หรือไม่ หากว่ามีจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร หรือหากไม่มีจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร โอกาสในการสร้าง Soft Power ของไทยมีอย่างน้อยใน 3 ช่องทางด้วยกัน คือ


1.ชูจุดเด่น : ด้วยการนำคุณค่าของอัตลักษณ์ถิ่นหรือมรดกทางวัฒนธรรมแปลงให้เป็นมูลค่า จะทำอย่างไรให้ People, Place และ Product ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เพื่อสร้าง Attraction ของการเป็น Place to Invest, Product to Buy หรือ People to Work With


2.หาจุดร่วม : พัฒนาจุดร่วมเชื่อมกับประชาคมโลกในประเด็นสำคัญ ๆ อาทิ Rule of Law,Low Carbon Society, Climate Agenda และResponsible Investment Principle อย่าง ESG


3.สร้างจุดเริ่ม : ผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ ๆ นวัตกรรมเชิงนโยบายที่ยังไม่มีในโลก อย่าง SEP for SDGs ที่เชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือการผลักดัน BCG for SDGs ในเวทีการประชุมเอเปค เป็นต้น


ดร.สุวิทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า Thailand Soft Power เป็นการถักทออดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งผู้ที่จะสานต่อเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือ “เยาวชน” เนื่องจากพลังเยาวชนเป็นพลังที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ได้อีกมากมาย


“ดังนั้นเราต้องช่วยกันสร้าง Youth Empowerment Ecosystem ให้เยาวชนสามารถเปล่งพลังและปลดปล่อยศักยภาพของพวกเขาออกมา ให้เยาวชนได้ Amplify Their Voices, Amplify Their Ideas และ Amplify Their Impact เพื่อเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน Thailand Soft Power ผ่าน Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power ต่อไป”




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...