วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565

ปลัดมหาดไทยแจ้งผู้จัดการธนาคารโลกประจำไทย ช่วยหนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง

ปลัดมหาดไทยให้การต้อนรับผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะภายหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมร่วมหารือในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงิน เพื่อขับเคลื่อนภารกิจขจัดความยากจนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย

เมื่อวันที่ 2 กัยายน พ.ศ.2565 เวลา 15.00 น. ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สนผ.สป.มท.) ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สนผ.สป.มท. และผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์ รวมถึงรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ให้การต้อนรับคณะผู้แทนธนาคารโลก นำโดย นายฟาบริซิโอ ซาโคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และคณะผู้ติดตาม ประกอบด้วย นางสาวภมรรัตน์ ตันสงวนวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาสังคม นายชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐาน นายธนาภัทร์  เรืองศรี นักเศรษฐศาสตร์ นายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่ประจำประเทศไทย และนายศุทธนา วิจิตรานนท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสังคม เพื่อเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสที่ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เข้ามารับตำแหน่งใหม่ พร้อมหารือประเด็นที่ธนาคารโลกกับกระทรวงมหาดไทยสามารถมีความร่วมมือกันในอนาคต 


ในการนี้ นายสุทธิพงษ์  ได้กล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่นายฟาบริซิโอ ซาโคเน เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คนล่าสุด และแสดงความขอบคุณที่มาร่วมหารือกันในวันนี้ ซึ่งจะได้นำพาความช่วยเหลือมาสู่คนไทยและคนในภูมิภาคนี้ต่อไป พร้อมกันนี้ได้เผยถึงประเด็นที่กระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนทางจากเงินจากธนาคารโลก 5 ประเด็น อันได้แก่ (1) “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ Sufficiency Economy Development Zones (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล 


(2) กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการให้โอกาสคนที่อ่อนแอหรืออ่อนด้อยกว่าได้มีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ และทัศนคติให้สามารถต่อยอดในการประกอบสัมมาชีพหรือวิธีการใดๆ อันจะช่วยให้ใช้ชีวิตได้ตามหลักแห่งการพึ่งพาตนเอง (3) การสร้างต้นแบบการบริหารน้ำอย่างยั่งยืนตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านแนวคิดเรื่อง อารยะประเทศ เกษตรประเทศ (Sustainable Agronomy) พร้อมใช้ Bigdata เป็นฐานข้อมูลแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักสูตร ป.ย.ป. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (4) การขยายผลและสนับสนุน โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้งการพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ การเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากยิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ระดับ 3 - 4 ดาว ไปสู่สากล ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่สามารถกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ชนบทได้อย่างแท้จริง 


และ (5) การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำประปา เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นทุกภูมิภาคทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการบริหารจัดการและบำบัดน้ำเสียอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

ด้าน นายฟาบริซิโอ ซาโคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าคารวะปลัดกระทรวงมหาดไทยในโอกาสนี้ พร้อมแสดงความขอบคุณที่ท่านได้นำเสนอไอเดียซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของธนาคารโลก อันจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำว่าโครงการทั้ง 5 ข้อดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่อยู่ใน DNA ของธนาคารโลกอยู่แล้ว เพราะเรามีความมุ่งมั่นในการช่วยขจัดความยากจน รวมถึงร่วมสนับสนุนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ อันถือเป็นพันธกิจสำคัญของธนาคารโลก สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ทั้งในส่วนของการจัดหาน้ำประปาให้แก่ประชาชน การจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมถึงการบำบัดน้ำเสียนั้น ทางธนาคารโลกจะได้นำประเด็นดังกล่าวไปหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และจะได้มีการประสานไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการเหล่านี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ OTOP และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทางธนาคารโลกก็ยินดีให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทยในอนาคต นอกจากนี้ยังได้มีการกล่าวถึงโครงการสนับสนุนการขจัดความยากจนและสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งผลการดำเนินการ ณ ปัจจุบัน พบว่าส่งผลบวกต่อการแก้ในปัญหาความยากจนในหลากหลายมิติ ตลอดจนช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมและความสามารถของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล และความรู้ด้านการจัดการทางการเงินด้วย

 

สำหรับ นายฟาบริซิโอ ซาโคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คนปัจจุบันนั้น พื้นเพเป็นชาวอิตาลี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาการจัดการ จากมหาวิทยาลัย Escuela Superior de Administración y Dirección de Empresas และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายของยุโรป ซึ่งก่อนเดินทางมาดำรงตำแหน่งยังประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น นายนายฟาบริซิโอฯ เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศบัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ค และสาธารณรัฐสโลวัก ซึ่งได้ดูโครงการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคต่างๆ จำนวนหลายโครงการ และก่อนหน้านั้นนายฟาบริซิโอฯ ได้เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศคอสตาริกาและเอลซัลวาดอร์ โดยได้ดูแลโครงการที่รัฐบาลกู้ยืมเงินกับธนาคารโลกและการให้คำปรึกษาแก่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางทั้งสองประเทศด้วย ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในการทำงานด้านการพัฒนากับธนาคารโลก จึงเชื่อได้ว่าการเข้ามาทำหน้าที่ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในภายภาคหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น