วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2565

"ปลัดมท." ยกศูนย์เรียนรู้พอเพียงลำพะยายะลา ต้นแบบความสำเร็จบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน

ปลัด มท. ยกศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ รูปแบบ “โคก หนอง นา” ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา เป็นต้นแบบ ชี้ นี่คือความสำเร็จในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข อย่างเป็นรูปธรรม ให้แก่พี่น้องประชาชน


วันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ รูปแบบ “โคก หนอง นา” ตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ณ บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ที่ 3 ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดย นางธีรนุช  แก้วเจริญ ซึ่งในปัจจุบันมีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม สามารถช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง ตามวัตถุประสงค์ที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยได้มีการน้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ รูปแบบ “โคก หนอง นา” มาใช้ในการดำเนินการดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อขยายผลไปสู่การช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่กลุ่มคนเปราะบาง ครัวเรือนตกเกณฑ์ จปฐ. ครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ TPMAP และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ของตำบลลำพะยา

 

สำหรับศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ รูปแบบ “โคก หนอง นา” โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ณ หมู่ที่ 3 ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา นั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ ขนาด 2 ไร่ 2 งาน ดำเนินการโดย นางธีรนุช  แก้วเจริญ ผู้นำสตรีในพื้นที่ตำบลลำพะยา ซึ่งมีความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” ขนาด 1 ไร่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 โดยก่อนหน้านี้ได้ทำการขุดบ่อลงพันธุ์ปลาที่สามารถหาตลาดรองรับได้ และเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ปลาบ้า ปลานิล ปลาสวาย ปลาทับทิม เป็นต้น ส่วนในบริเวณรอบๆ พื้นที่นั้นได้ปลูกพืชผักผลไม้ ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มะยงชิด ลำใยคริสตัล มะพร้าวน้ำหอม กล้วย ขนุน มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ มะนาว สะตอ ชะอม ไผ่หวาน ไผ่ตงลืมแล้ง อ้อย มะเขือ มะเขือพวง ต้นรา ตะไคร้ และตำลึง ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 – กรกฎาคม 2565 ได้มีการจับปลาไปจำหน่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือครัวเรือนในพื้นที่ให้มีโอกาสซื้อปลาในราคาที่ถูกกว่าในท้องตลาด และในส่วนของพืชผักต่างๆ ก็ได้นำไปแจกจ่ายให้แก่ครัวเรือนตกเกณฑ์ TPMAP กลุ่มคนเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ถูกผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ของตำบลลำพะยาด้วย เนื่องจากตำบลลำพะยาได้เกิดเหตุการณ์จากการยิงถล่มป้อมเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่ขาดขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก เกิดหวาดระแวง มีความกังวลเมื่อจะต้องออกจากพื้นที่ไปซื้ออาหารจากภายนอกพื้นที่ ประกอบกับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถออกจากพื้นที่ไปซื้ออาหารได้ตามปกติ จึงได้นำผลิตผลจากแปลงโคก หนอง นา ไปแจกจ่ายให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่รอดพ้นจากวิกฤตของทั้ง 2 สถานการณ์ได้เป็นอย่างดีสิ่งนี้จึงถือเป็นความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดของโครงการฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนดำเนินการเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว  

 

ปัจจุบันแปลงโคก หนอง นา แห่งนี้ ได้พัฒนากลายเป็นศูนย์กลางกระจายก้อนเพาะเห็ดให้แก่กลุ่มคนเปราะบาง ครัวเรือนตกเกณฑ์ จปฐ. ครัวเรือนตกเกณฑ์ TPMAP และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ตำบลลำพะยา ในการนำผลผลิตไปกระจายให้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร พร้อมส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนลดรายจ่าย และมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการนำผลผลิตไปจำหน่ายหากบริโภคในครัวเรือนไม่หมด โดยได้รับส่งเสริม สนับสนุนจากภาครัฐบางส่วน และได้มีการนำพลังงานโซลาเซลล์มาใช้ในแปลงเพื่อรดน้ำต้นไม้เป็นการลดรายจ่ายด้วย พร้อมกันนี้ นางธีรนุช  แก้วเจริญ เจ้าของแปลง โคก หนอง นา ยังได้สร้างที่พักภายในศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวฯ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้เต็มรูปแบบด้วย โดยผลผลิตจากการเพาะเห็ดขณะนี้สามารถเก็บไปจำหน่ายได้วันละ 15 – 30 กิโลกรัม เพื่อนำไปส่งขายในตลาดของหมู่บ้าน และตลาดของตำบลใกล้เคียง และในส่วนของเห็ดที่ไม่สวยงามก็ได้นำมาแปรรูปเป็นแหนมเห็ด เพื่อเป็นการถนอมอาหาร ซึ่งจะได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อลงบัญชีรายรับ – รายจ่าย โดยนำเงินปันไว้ 1 ส่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนเปราะบาง ครัวเรือนตกเกณฑ์ จปฐ. ครัวเรือนตกเกณฑ์ TPMAP และครัวเรือนผู้ถูกผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อถุงยังชีพ และผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข “จาโปตาแง แก้จน คนเมืองยะลา” ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่ของอำเภอเมืองยะลาในปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นการขยายผลน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้​ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาคนและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน​ และเป็นการ​ Change​ for Good. ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง​ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้าย

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.เตือนผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ศึกษาและทำความเข้าใจระเบียบการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมาย

   เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567  ด้วยปรากฏว่ามีบุคคล กลุ่มบุคคล ได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเล...