วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

'บิ๊กตู่'ถกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 'จุรินทร์'สั่งลุยตั้งวอร์รูมทะลวงส่งออก



วันที่ 14 ส.ค.2562  ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกหารือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันที่ 16 ส.ค.นี้   โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง อย่างไรก็ตามภายหลังการหารือดังกล่าว นายสมคิด ปฎิเสธ ที่จะตอบคำถามถึงประเด็นการหารือดังกล่าว โดยให้รอรายละเอียดหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.นี้ ซึ่งนายอุตตม จะเป็นผู้แถลง 

‘อุตตม’ดันมาตรการกระตุ้นเข้าครม.เศรษฐกิจ 16 ส.ค.นี้ 

นายอุตตม สาวนายน โฟสต์เฟซบุ๊ก ดร.อุตตม สาวนายน ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า เป้าหมายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน วันนี้เราต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจที่หินมาก เพราะรายละเอียดหลักๆไปเกี่ยวโยงกับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามเราสามารถทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เวลานี้เศรษฐกิจโลกกำลังผันผวนอย่างหนัก จากกรณีสงครามการค้า ทั้งสหรัฐฯ-จีน หรือกรณี ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ อีกทั้งประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจกับไทยหลายๆประเทศ ก็มีปัญหาภายในสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือสร้างความเข้มแข็งภายใน

โดยที่ผ่านมาผมได้แจ้งให้ทุกท่านทราบไปบ้างแล้ว ว่า มาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องเร่งออกมาให้เร็วที่สุด ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมนี้ จะมีการพิจาณามาตรการเร่งด่วน ดังกล่าวหลักการออกมาตรการเร่งด่วนเบื้องต้น คือ มุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และต้องเพิ่มรอบการหมุนของเม็ดเงิน กระจายไปยังกลุ่มต่างๆในวงกว้างที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ขณะเดียวกัน จะเร่งแก้ปัญหาที่กระทบกับชาวบ้านเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องภัยแล้ง และราคาพืชผลการเกษตร
          
ทั้งนี้มาตรการต่างๆ จะเชื่อมโยงไปกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาวด้วย ซึ่งรายละเอียดมาตรการทั้งหมด ผมจะขออนุญาตบอกกล่าวและอธิบายเพิ่มเติม หลังมาตรการนั้นๆ ผ่านครม. แล้ว ซึ่งผมให้คำมั่นว่าจะเป็นมาตรการที่เห็นผลและเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ขอบคุณครับ #มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ#ครม.เศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 สิงหาคม ระหว่างที่นายอุตตมไปร่วมงานเปิดโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี นายอุตตมกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าครม.เศรษฐกิจว่า ยังไม่ทราบว่ามีวาระอะไรเข้าบ้าง คงต้องแล้วแต่ฝ่ายเลขาคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จะบรรจุวาระอะไรเข้าบ้าง ในส่วนของกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการด้านเศรษฐกิจแล้ว กำลังรอขั้นตอนของการพิจารณา

เมื่อถามว่าขนาดของเงินจะใช้กระตุ้นอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาทหรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า ให้รอดู โดยมาตรการด้านเศรษฐกิจที่กระทวงการคลังเตรียมไว้นั้นทำเป็นแพคเกจเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวน ซึ่งจะไม่มองถึงปริมาณเงินว่าจะเท่าไหร่ แต่วิธีการ และมาตรการนำมาใช้นั้นตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ 


'จุรินทร์'สั่งลุยตั้งวอรูมทะลวงส่งออกประชุม กรอ.นัดแรก เอกชนปลื้มคืบหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์” หรือ กรอ.พาณิชย์ ครั้งที่ 1/2562 ในวันนี้ (14 สิงหาคม 2562) โดยที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญ ได้แก่ การพิจารณาแนวทางรับมือสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบทั่วโลก การผลักดันการส่งออกของไทย การส่งเสริมการค้าชายแดน รวมทั้งรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมและสนับสนุน

ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ กรอ.พาณิชย์ เห็นชอบตั้งทีมวอร์รูม (War Room) ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าและเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที ซึ่งจะประกอบด้วยคณะที่ปรึกษาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ และคณะทำงาน รวมทั้ง คณะทำงานด้านกฎระเบียบ ทำหน้าที่รวบรวมและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาด้านกฎระเบียบต่างๆ นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณา โดยต้องการให้รายงานตรงมีความว่องใว และจัดทำแผนการดำเนินการต่อไป

นอกจากนั้นได้ให้ตั้งคณะทำงานเจาะตลาดรายสินค้า บริการ และรายตลาด เพื่อเป็นเวทีให้ภาครัฐและเอกชนหารือเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวให้สอดรับกับการแข่งขันในภาวะที่ตลาดโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เรื่องการเจาะตลาดเร่งด่วนนั้นถือเป็นวาระสำคัญ เช่นตลาดใกล้บ้าน CLMV กำพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น  เพราะถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ นอกจากนั้น คือ ด้านตลาดจีน อินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่ยังสามารถฟื้นมาใหม่เพราะเราเคยเป็นคู่ค้าข้าวของไทยที่สำคัญ รวมทั้งจอร์แดน กาตาร์ คูเวต เป็นต้น โดยที่ประชุมกำหนดให้มีคณะทำงานขึ้นมาเจาะตลาดรายสินค้า 

ส่วนเรื่องการค้าชายแดน จะดำเนินการให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นแม่งาน เน้นหารือและหาข้อเสนอร่วมเอกชนและรับฟังข้อเสนอของเอกชนที่เสนอเปิดด่านชายแดนหลายแห่ง ทั้งนี้เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการค้าจะได้ดำเนินการหารือฝ่ายเกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งการเสนอขยายเวลาเปิดด่านด้วย ซึ่งจะได้นำไปเจรจาเวทีร่วมระหว่างแต่ละประเทศชายแดนเร็วๆนี้ด้วย ซึ่งแผนงานที่ตั้งใจคือจะ "ทะลวงด่านค้างท่อ" ที่เป็นอุปสรรคปัญหาอยู่ให้หมดไป เพื่อส่งเสริมการค้า 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ท่ามกลางสถานการณ์สงครามทางการค้า ประเทศไทยควรใช้จุดแข็งในฐานะการเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพและได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งสงครามการค้าที่ยืดเยื้อนี้ทำให้บริษัทต่างๆ พิจารณาการลงทุนในประเทศที่สามเพื่อลดความเสี่ยง ประเทศไทยจึงต้องมุ่งกำหนดวัตถุประสงค์การดึงดูดการลงทุนในแต่ละสาขาให้ชัดเจน ให้เอื้อต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมของเราเอง ตลอดจนประเมินความพร้อมระบบนิเวศน์ (ecosystem) และปัจจัยที่จำเป็นในการดึงดูดการลงทุน ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุน และพัฒนาเศรษฐกิจของไทยต่อไป 

ด้านสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การค้า สรุปด้วยว่า โดยแนวนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ทางฝ่ายเลขาฯได้วางแนวทางรับมือสงครามการค้า 4 ด้าน ตามนโยบายรมว.พาณิชย์ ได้แก่ (1) ด้านการรับมือการเบี่ยงเบนการค้า อาทิ การเฝ้าระวังการไหลทะลักของสินค้าจากต่างประเทศ สอดส่องป้องกันการสวมสิทธิ์ (2) ด้านการตลาดและการส่งออก อาทิ บริหารจัดการตลาดส่งออก กระจายตลาด รุกตลาดเมืองรอง ส่งเสริมการค้าออนไลน์ เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สร้างแบรนด์ ส่งเสริมการค้าชายแดน ปรับโครงสร้างการส่งออกของไทยเปลี่ยนจากส่งออกสินค้าขั้นต้น/ขั้นกลางเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีมูลค่าเพิ่ม (3) ด้านการเจรจา เร่งการเจรจาความตกลงการค้าและการลงทุน (FTAs) และกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnerships) ตลอดจนการบริหารความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยต้องพิจารณาหลายมิติประกอบกัน เช่น เศรษฐกิจการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (4) ด้านการลงทุน ปรับนโยบายการลงทุนให้เน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานของไทย ผลักดันให้มีการนำสินค้าไทยร่วมไปกับการลงทุนขาออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกาะติดงานวิสาขบูชาโลก มจรแม่งาน 19-20 พค.นี้ เจ้าคุณประสารย้ำพร้อมแล้ว

เนื่องในวันวิสาขบูชาโลกวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 โดยปีนี้ชาวพุทธทั่วโลกมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 16  – 20 พฤษภาคม 2...