วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. วิทยากรต้นแบบสันติภาพ อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาได้เดินทางไปที่วัดสารอด เขตราษฏร์บูรณะ กรุงเทพฯ ทำให้มีความรู้สึกว่า เพียงชื่อวัดชีวิตก็เป็นมงคลแล้ว โดยมีพระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ,ดร. เป็นเจ้าอาวาสรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โดยพระครูได้นำชมวัดทุกรายละเอียดพร้อมอธิบายความเป็นมาแบบวัดต้นน้ำ วัดกลางน้ำ วัดปลายน้ำ จึงกล่าวได้และให้นิยามว่า "วัดต้นแบบสันติสุข เอาธรรมไปทำ" ถือว่าเป็นวัดที่เป็นความหวังของคณะสงฆ์และชุมชนสังคมอย่างแท้จริง เพราะเข้ามาแล้วรู้สึกว่ามีความสะอาด สว่าง สงบ มีความโปร่งโล่งสบายใจ มีความเป็นสัปปายะยิ่งตามแนวทางพระพุทธศาสนา
โดยเข้าไปกราบหลวงพ่อรอด ซึ่งเป็นพระประจำวัดสารอด คนในชุมชนศรัทธาอย่างยิ่ง ผู้คนเคารพนับนับถือศรัทธาต่างเดินทางมาไหว้สักการะอย่างไม่ขาดสาย เพราะเพียงแค่ชื่อก็เป็นมงคลยิ่งนัก ขอให้ทุกท่านรอดพ้นภัยอันตรายทั้งปวง พร้อมมีรูปปั้นเสมือนจริงของหลวงปู่สรวงให้เคารพสักการะและคำสอนของหลวงปู่ให้เราปฏิบัติตามอีกด้วย ถือว่าเป็นทางสว่างยิ่งนัก แม้จะมืดมาแต่ชีวิตต้องสว่างไป
วัดสารอดมีการพัฒนามีความพร้อมในสถานที่ในการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา การบริการชุมชนสังคม รวมถึงงานกิจกรรมของคณะสงฆ์มีความสัปปายะทุกเรื่อง เช่น สถานที่ห้องประชุมใหญ่มีความเหมาะสมมากในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในการฝึกอบรมพัฒนาในด้านกายภาพ พฤติภาพ จิตตภาพ ปัญญาภาพ โดยคณะสงฆ์ได้ใช้เป็นสถานที่ประชุม จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพระผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์ในกรุงเทพมหานครเดินทางมาให้กำลังใจท่านพระครูอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้วัดสารอด เขตราษฏร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ยกระดับเป็นสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครแห่งที่ ๖๑ ถือว่ามีความเหมาะสมยิ่งนักในโอกาสปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการสร้างวัดสารอด พร้อมเป็นนโยบายของเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
เสน่ห์ของวัดสารอดคือการอยู่ร่วมกับคนในชุมชน โดยท่านพระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ ดร. เจ้าอาวาสได้เข้าถึงชุมชนผ่านการพัฒนาชุมชน โดยให้การช่วยเหลือชุมชนวัดสารอดและชุมลนใกล้เคียง ทำให้ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและคนในชุมชนเป็นอย่างดีในกิจกรรมต่างๆที่ทางวัดจัดขึ้น ถือว่าเป็นวัดพัวพันกับชุมชน หมายถึง วัดที่ไม่ได้แยกออกจากชุมชนแต่มีความเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะวัดถ้าลอยตัวแสดงว่าไม่สนใจชุมชนต่างคนต่างอยู่ แต่วัดสารอดเป็นวัดต้นแบบที่พัวพันกับคนในชุมชน เป็นวัดที่ให้สติและปัญญากับคนในชุมชนพร้อมบริการคนในชุมชนอย่างเต็มที่ มีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างวัดกับชุมชน คนในชุมชนสามารถใช้การสัญจรอย่างสะดวกอย่างสบาย วัดสารอดยังเป็นวัดต้นแบบในการรักษาน้ำให้มีความสะอาด สว่าง และสงบ ซึ่งอยู่ในปรับภูมิทัศน์ให้มีความสัปปายะยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ทางวัดยังมีกิจกรรมใส่บาตรฟื้นฟูวิถีวันพระ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีงามยิ่ง มีโรงทานวิถีใหม่บริการคนในชุมชน
ความพิเศษยังมีโอกาสเยี่ยมศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน วัดสารอด ถือว่าเป็นวัดที่มีการยกระดับเพื่อชุมชนสังคมอย่างมากมีการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ภายใต้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อเป็นการบริการชุมชน สังคมที่มีความขัดแย้งเป็นการป้องกันความขัดแย้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในชุมชนสังคม ตามแนวทางสังวรปธานคือ ป้องกัน แก้ไข เยียวยา ความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นและระวังไม่ให้เกิดขึ้น ถือว่าวัดสารอดมีความเป็นองค์รวมในมิติภายในและภายนอก
วัดสารอดมุ่งด้านการศึกษาสำหรับพระสงฆ์สามเณร ประกอบด้วย การศึกษานักธรรม บาลี รวมถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยท่านพระครูวางนโยบายพัฒนาศาสนทายาทจากรากหญ้า ให้โอกาสคนเข้าถึงการศึกษาทางธรรมและโลกแบบบูรณาการ โดยเร็วๆ นี้จะมีการพัฒนาศาสนทายาททางการศึกษา สนับสนุนพระเณรทางการศึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยจะรับสมัครพระสงฆ์จากทั่วประเทศที่มีอุดมการณ์เพื่อเข้ารับการพัฒนาเป็นศาสนทายาทมุ่งพัฒนาภายในและภายนอก สร้างงานสร้างคนสร้างชุมชนสันติสุขต่อไป
"ดังนั้น วัดสารอดซึ่งนำโดยพระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ ดร. เป็นเจ้าอาวาสรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถือว่าเป็นต้นแบบด้านกายภาพ พฤติภาพ จิตตภาพ และปัญญาภาพ ขอถวายกำลังใจผลักดันพัฒนาเพื่อนำไปสู่ชุมชน สังคมสันติสุขต่อไป" พระปราโมทย์ ระบุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น