วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

โควิดมิใช่ปัญหา! "มจร" จัดสอบอารมณ์กรรมฐาน นิสิตปฏิบัติธรรมวิถีใหม่ทางออนไลน์


วันที่ ๘   ธันวาคม   ๒๕๖๔ ที่ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ฝ่ายสื่อสารกิจกรรมปฏิบัติธรรม เปิดเผยว่า จากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของนิสิตหลักสูตรสันติศึกษา มจร และนิสิตวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ณ ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ จะต้องอาศัยครูอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงต้องมีการสอบอารมณ์กรรมฐาน เพื่อพัฒนาการก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน 

โดยได้รับความเมตตาจากท่านสยาดอจี ภัททันตะวิโรจนะ,ดร. อัครมหากัมมัฏฐานาจริยะ สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานงุยเตาอู อำเภอท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สหภาพเมียนม่าร์ หัวหน้าพระวิปัสสนาจารย์ บรรยายให้โอวาทธรรมและสอบอารมณ์โยคีผู้ปฏิบัติผ่านออนไลน์ พร้อมได้รับความเมตตายิ่งจาก พระธรรมวชิรมุนี วิ. (บุญชิต ญาณสํวโร ป.ธ.๙ , รศ.ดร.) ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

โดยทั้งสองท่านชื่นชมนิสิตมีความตั้งใจปฏิบัติอย่างมาก ขอให้โยคีผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ตามอาการในปัจจุบัน มีสติกำหนดให้ต่อเนื่อง การที่เราที่นี่เรามาทรัพย์ภายใน อันเป็นคุณค่าอันสูงสุดในชีวิต ขอให้รักษาจิตของเราให้อยู่ในกุศล โดยความสุขของผู้คน มี ๔ ประการ คือ ความสุขจากการมีทรัพย์  ความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขจากการทำงานไม่เป็นโทษ โดยต้องมีสติเป็นพื้นฐาน เราจึงต้องมีอารมณ์กรรมฐาน เช่น ตาเห็นรูป ให้กำหนดไม่ต้องไปทุกข์กับสิ่งที่เห็น #จงเห็นด้วยสติไม่ให้เกิดโลภะโทสะโมหะ ด้วยการกำหนดตามความเป็นจริง นักปฏิบัติต้องทำตัวเหมือนคนหูหนวก ได้ยินก็กำหนดเพียงสักว่าได้ยิน อย่าให้ความโลภความโกรธความหลงเข้ามาครอบงำ  การพูดการคุยจะต้องมีสติ พูดให้น้อยปฏิบัติให้มาก ทำตนเหมือนคนป่วยไข้ ค่อยๆ ไป ค่อยๆ มา เราต้องกำหนดความเป็นไปของกายด้วยความช้าๆ กำหนดรู้ความเป็นไปของกาย จึงขอให้ทุกท่านมีความเพียรในการปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐาน มีการพองยุบ มีการใส่ใจความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตามอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อยต่อไป

ท่านพระครูภาวนาสารบัณฑิต ดร. ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ และพระวิปัสสนาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บรรยายพื้นฐานการปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐานและสอบอารมณ์กรรมฐาน นิสิตปริญญาโทปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬาในภาคภาษาไทย โดยท่านพระครูทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรในการส่งอารมณ์กรรมของนิสิตและการสอบอารมณ์ทำหน้าที่เป็นโค้ชเพื่อให้นิสิตสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง 

#การส่งอารมณ์ เป็นการนำเอาประสบการณ์อันเกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ มาเล่าให้พระวิปัสสนาจารย์ เพื่อให้คำแนะนำที่ดีและวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมตรงตามสภาวธรรมของผู้ปฏิบัติ

#การสอบอารมณ์ เป็นการที่บุคคลได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการและพระสงฆ์ พระวิปัสสนาจารย์ ว่ามีคุณสมบัติจะทำหน้าที่สอบอารมณ์ ให้คำแนะนำวินิจฉัยประเมินผลเพื่อเพิ่มหรือลดลำดับขั้นของการปฏิบัติให้ถูกต้องและตรงกับสภาวธรรมที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ดังนั้น หลักการส่งอารมณ์ โยคีผู้ปฏิบัติจะต้องมีความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อตัวเอง ต้องเล่าให้ตรงกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจริงในขณะปฏิบัติ เล่าไปตามลำดับไม่ควรตัดลัดขั้นตอนโดยไม่จำเป็น ต้องตั้งใจเล่าให้เสียงดังพอสมควร พระวิปัสสนาจารย์ทำหน้าที่เป็นโค้ชจะต้องใช้เครื่องมือคือ การฟังด้วยหัวใจ ฟังแล้วชี้อแนวทางที่ถูกต้อง พระวิปัสสนาจารย์จึงเป็นกัลยามิตรให้คำชี้แนะแนวทางสู่สัมมาทิฐิ ในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการสอบอารมณ์จึงได้เรียนรู้เทคนิคการสอบการส่งอารมณ์จากผู้เชี่ยวชาญ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...