วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ศธ.หารือกมธ.ยาเสพติดฯ สภาฯ ฟื้นวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด

 


ศธ.หารือกมธ.ยาเสพติดฯ สภาฯ ฟื้นวิชา "หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม"  กลับมาสอนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดด้วยกระบวนการพัฒนาสมอง 

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 น. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ พลตำรวจเอก ยงยุทธ เทพจำนงค์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหายาเสพติด แนวทางการจัดตั้งศูนย์บำบัดยาเสพติด การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนและสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดด้วยกระบวนการพัฒนาสมอง (EF)

นายนิยม เวชกามา รองประธานกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า จากการศึกษาภายในกรรมาธิการในกรอบของการป้องกันการติดยาเสพติดจากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า หากมีการวางหลักสูตรและกรอบการเรียนรู้ให้เด็กในวัย 1-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพัฒนาสมองส่วนหน้า (EF) จะเป็นภูมิคุ้มกันต่อการติดยาเสพติดของเด็กในระยะยาว ซึ่งควรกำหนดให้ "การสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดตั้งแต่ปฐมวัยเป็นวาระแห่งชาติ" โดยกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องเร่งศึกษาและส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF อย่างจริงจังและถูกทาง ให้มีแผนปฏิบัติการ การดำเนินการและการประเมินผลการศึกษาที่ชัดเจน วัดผลได้และมีงบประมาณรองรับเพียงพอ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูแลโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ควรจัดให้ครูศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองและพัฒนาการด้านทักษะสมอง EF พัฒนาการด้านตัวตน และพัฒนาการ 4 ด้านของเด็กปฐมวัย อันประกอบด้วย 1.) ร่างกาย 2.) อารมณ์และจิตใจ 3.) สังคม 4.) สติปัญญา จนสามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเด็กปฐมวัยที่ประเมินได้ชัดเจน 

ทั้งนี้ควรกำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์จังหวัด ในการสร้างพื้นที่บูรณาการการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดตั้งแต่ปฐมวัย" ของประเทศ โดยอำนวยการให้เกิด การขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่องสู่การปฏิบัติ มีการติดตามประเมินผล และทำการวิจัยเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้ควรกำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม สนับสนุนการจัดตั้ง "พื้นที่บูรณาการการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดตั้งแต่ปฐมวัยในระดับจังหวัด" โดย ป.ป.ส.ภาค ประสานกับคณะอนุกรรมการจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อจัดให้มีการสร้างความรู้ให้บุคลากรทุกคนทุกระดับ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย (สาธารณสุข ครู ผู้นำชุมชน) เกี่ยวกับธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองและความรู้ 3  มิในการพัฒนาเด็ก (พัฒนาการด้านทักษะสมอง EF, พัฒนาและจัดการด้านตัวตน และพัฒนาการ 4 ด้านของเด็กปฐมวัย) ให้สามารถนำไปปฏิบัติการดูแล พัฒนาและจัดการเรียนรู้ถึงตัวเด็กได้ เกิดผลลัพธ์ที่สมรรถนะของเด็กปฐมวัยอย่างแท้จริง มีการติดตามนิเทศและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจและทักษะพื้นฐานของบุคลากร โดยสนับสนุนงบประมาณแก่จังหวัดให้เพียงพอ ทั้งนี้หากประสบความสำเร็จ มีคำกล่าวของประชาชนที่บ้านของตน จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า "การที่มีลูกหลานไม่ติดยาเสพติด ถือเป็นการถูกหวยรางวัลที่ 1" เพราะปัญหาการติดยาเสพติดแพร่สะพัดไปทุกหย่อมหญ้า ทั้งนี้ได้สร้างความเสื่อมเสียให้กับประชาชน ในพื้นที่จังหวัดของตนเป็นอย่างมาก

นายณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ตนได้มาที่กระทรวงศึกษาในวันนี้ตนรู้สึกดีใจ ด้วยเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนไม่ได้รับการศึกษา มีปัญหายาเสพติดอย่างมากมาย ในสมัยนั้นล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำริให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หาวิธีแก้ปัญหา ซึ่งขณะนั้นมีการร่วมมือกันระหว่าง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กระทรวงธรรมการ เพื่อขยายวิชาความรู้ ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีหลักว่า “สร้างคนให้เป็นผู้เป็นคน” และให้คน “รู้จักผิดชอบชั่วดี” ซึ่งให้โรงพิมพ์หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ตีพิมพ์หนังสือ และนำหนังสือเหล่านั้น ให้พระตามต่างจังหวัดตั้งโรงเรียนวัด และสอนหนังสือให้กับประชาชน ทำให้การศึกษาขยายกว้างขวางภายในสามเดือน ปัญหายาเสพติด ปัญหาประชาชนไม่มีความรู้ ฯลฯ ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ตนเห็นว่าขณะนี้ผ่านมาร้อยกว่าปีแล้ว เวลานั้นกับเวลานี้ ปัญหาเดียวกัน หากใช้พระที่อยู่ตามโรงเรียนปริยัติธรรม เป็นศูนย์กลางและเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันกระบวนการ EF และนำหลักสูตรในอดีต เช่น นวโกวาท วิชา “หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม” มาศึกษาแบบเดิม ก็จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะพระสงฆ์ในอดีตที่ผ่านมาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งความตั้งใจความเสียสละก็มีมาก ก็จะส่งผลให้การแก้ปัญหายาเสพติด สามารถแก้ได้อย่างรวดเร็ว

ด้านนายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ก็เพิ่งได้ไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร และได้ศึกษาดูนิทรรศการ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจในการเผยแพร่วิชาความรู้ โดยหลัก “สร้างคนให้เป็นผู้เป็นคน” และให้คน “รู้จักผิดชอบชั่วดี” ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีความพยายามที่จะนำวิชา “หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม”กลับมาสอนอีกครั้ง ทั้งนี้น่าจะสามารถกลับมาเร็วๆ นี้ เพราะการศึกษาไม่เพียงจะให้เฉพาะความรู้เท่านั้น การให้คุณธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่กระทรวงศึกษาตระหนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...