วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เกษตรฯ คิกออฟพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนพื้นที่วัดกลางกรุง ( Green Temple )


วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด (Green Temple) ณ โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ กรุงเทพมหานคร ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน จึงได้วางแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรม 5 ยุทธศาสตร์  ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0              3. ยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability- เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน)          4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” และ   5. ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตเกษตรกร กระบวนการผลิต และการจัดการทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค จากแนวนโยบายการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองที่มีการจัดสรรและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องส่งเสริม สนับสนุน ให้ประชาชนในชุมชนเมืองได้เรียนรู้การทำเกษตรปลอดภัย ตามวิถีพอเพียง และคนในชุมชนมีอาหารบริโภคผลผลิตปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในด้านการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัดเพื่อผลิตอาหารเพียงพอปลอดภัยให้กับชุมชนในเมืองใกล้วัด และโรงเรียนเพื่อสร้างเป็นอาหาร เป็นยารักษาโรค และสร้างรายได้ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวสอดคล้องกับ BCG โมเดล ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ 1) Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ 2) Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน การมุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการลดของเสีย เช่น การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักจากเศษอาหาร เป็นต้น และ 3) Green Economy เศรษฐกิจสีเขียวหรือเศรษฐกิจที่พัฒนาด้วยความคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมยั่งยืน นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีตนเป็นประธาน ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานให้ครบทั้ง 50 เขตเป็นกลไกขับเคลื่อนระดับพื้นที่ โดยในวันนี้ได้คิกออฟโครงการวัดสีเขียว คลองสามวาสีเขียว ที่วัดพระยาสุเรนทร์ เป็นที่แรก บนความร่วมมือระหว่างบ้าน วัดและโรงเรียน (บ.ว.ร.) ในเขตคลองสามวา

 “การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ตลอดจนร่วมบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ สำนักงานเขตคลองสามวา สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. สำนักพัฒนาสังคม กทม. วัดพระยาสุเรนทร์ โรงเรียน นักเรียน และชุมชน โดยขอความร่วมมือให้ช่วยกันดูแลแปลงพืชผัก สมุนไพร รวมทั้งต้นไม้ที่ปลูกในวันนี้ให้เจริญเติบโต นอกจากนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังที่จะช่วยกันผลิตพืชผักปลอดภัยและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หากเราร่วมมือกันก็จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการร่วมกันคิด ร่วมกันทำเพื่อพี่น้องประชาชนก็จะได้กินดีอยู่ดีในอนาคตด้วย” นายอลงกรณ์ กล่าว 

ขณะที่นายโฆสิต สุวินิจจิต ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด (Green Temple) กล่าวว่า สำหรับโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด (Green Temple) มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับคนในชุมชนเมือง เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนเมืองใกล้วัดเข้าถึงอาหารปลอดภัยรวมถึงเป็นรายได้ให้แก่ชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวในวัด โรงเรียน ชุมชน และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่ วัดโรงเรียน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่และกิจกรรมทางสังคมของชุมชนในการใช้พื้นที่สาธารณะทำกิจกกรมร่วมกัน เช่น ปลูกผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น สมุนไพร การลงแขกช่วยงานในแปลง เป็นต้น โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการในพื้นที่ดังนี้ วัดพระยาสุเรนทร์ เขตคลองสามวา วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน วัดพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วัดนายโรง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร วัดโซนเหนือกรุงเทพฯ วัดโซนตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ มัสยิดคอยรุดดีน และศาสนสถานของฮินดูและโบสถ์ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง 

โดยในส่วนการดำเนินงานปรับปรุงพื้นที่ในโรงเรียนและวัดช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น เน้นการใช้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามารถต้านทานโรคและแมลงด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้เราสามารถบริโภคผลผลิตพืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัย อีกทั้งยังไม่ทำลายสภาพแวดล้อม โดยใช้พื้นที่ว่างเปล่าในวัดทำแปลงเกษตรเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยให้เด็กนักเรียน ให้คนในชุมชนได้บริโภคและมีรายได้จากการนำผลผลิตไปจำหน่ายในตลาดชุมชนรวมทั้งสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับวัดและชุมชน รวมถึงให้เป็นศูนย์เรียนรู้แก่ชุมชนและตัวอย่างให้แก่วัดและชุมชนอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น