วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564

“สมเด็จพระสังฆราช” ประทานพระคติธรรมปีใหม่ 2565 “อภัยทาน” เป็นพรมงคลสุขในชีวิต

 


“สมเด็จพระสังฆราช” ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2565 ทรงแนะนำยึดมั่นในอุดมการณ์แห่ง ‘อภัย’ ประคับประคองจิตใจให้ถึงพร้อมด้วย ‘อวิหิงสา’ บรรดาพรมงคลอันนำมาซึ่งความสุขในชีวิต ย่อมเกิดมีขึ้นโดยมิต้องเรียกร้องสิ่งประเสริฐอื่นใด

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม 2565  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในอภิลักขิตสมัยขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2565​ ความว่า บัดนี้ ถึงอภิลักขิตสมัยขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2565 อันเป็นวาระเถลิงศก ซึ่งเป็นกาลที่ผู้คนต่างหวังจะได้รับพรมงคลกันทั่วหน้า ผู้ปรารถนาความสวัสดีโดยบางคน เข้าใจว่าต้องมีผู้ประสาทพรอันศักดิ์สิทธิ์ให้จึงจะเกิดความสวัสดีแก่ตน หากว่าแท้จริงแล้ว ‘พร’ ซึ่งหมายถึงสิ่งประเสริฐดีงามนั้น เป็นสภาวะที่เราทั้งหลาย สามารถสรรค์สร้างให้บังเกิดมีขึ้นได้ด้วยตนเอง เช่น ถ้าประสงค์ผลอันเลิศ หรือฐานะอันประเสริฐ ก็ย่อมต้องบำเพ็ญบุญกิริยาด้วยการ ‘ให้’ สิ่งอันเลิศ เพื่อเหตุต้นแห่งผลดี จะได้เริ่มบังเกิดขึ้นแก่ตัวท่านเองในทันที การบริจาควัตถุปัจจัยแก่ผู้ประสบความทุกข์ยาก เป็นปรกติจริยาของคนไทยนับแต่โบราณกาล ดังประจักษ์ได้จากวิกฤตการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองแต่ละครั้ง ล้วนบรรเทาได้เพราะ ‘การุณยธรรม’ ของเพื่อนไทย การให้ปันกันนี้เองย่อมก่อมิตรภาพและความกลมเกลียวในหมู่คณะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยตลอดมา



อย่างไรก็ตาม การให้ ยังสามารถเป็นไปโดยหลากหลายวิธี หาได้จำกัดอยู่เพียงที่พัสดุข้าวของเงินทองไม่ หากยังรวมไปถึงการแผ่ ‘อภัยทาน’ คือการให้ความไม่ผูกเวร ไม่ก่อภัย ไม่เบียดเบียน ไม่ริษยาอาฆาต และไม่ประทุษร้ายกันอีกด้วย การให้ในลักษณะนี้สำคัญยิ่งกว่าการให้จตุปัจจัยทั้งมวล เพราะล้วนตั้งต้นจากความสะอาดใสในจิตใจของตน อย่างชนิดที่ไม่ต้องลงทุนลงแรง ไม่ต้องเสียเวลา และไม่จำกัดฐานะ สามารถบำเพ็ญได้ในทุกขณะและในทุกสถาน ขอเพียงแผ่พรหมวิหาร มุ่งดี มุ่งเจริญ มองเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตาธรรมอย่างยุติธรรมเสมอหน้า ผู้กำลังคิดตั้งปณิธานทำความดีในปีใหม่ จึงพึงระลึกไว้เสมอว่า หากท่านมั่นในอุดมการณ์แห่ง ‘อภัย’ ประคับประคองจิตใจให้ถึงพร้อมด้วย ‘อวิหิงสา’ คือความไม่เบียดเบียนแล้ว บรรดาพรมงคลอันนำมาซึ่งความสุขในชีวิต ย่อมเกิดมีขึ้นโดยมิต้องเรียกร้องสิ่งประเสริฐอื่นใดจากภายนอก และพรนั้น ยังอาจเปลี่ยนแปลงศัตรูให้กลับกลายเป็นมิตร ดับเพลิงโกรธที่เผาผลาญชีวิต ให้กลับเป็นฉ่ำเย็นสนิทด้วยน้ำใจไมตรี สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ’ แปลความว่า ‘ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้’ ทุกประการ

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และคุณความดีที่ทุกท่านร่วมกันสร้างสรรค์ จงบันดาลดลความโสมนัสชุ่มชื่นพระราชหฤทัย ให้บังเกิดมีในสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งบันดาลให้สรรพสิริสวัสดิ์ และสันติสุขพลันมาสู่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทย ให้เกิดภิญโญสโมสรด้วยความสุขเกษมศานต์ ตลอดพ.ศ. 2565 โดยทั่วกัน เทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...