เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา “เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นบกที่ท่าเรือตลาดพลู หลังล่องเรือสำรวจ 5 เขต พบว่า โป๊ะที่ท่าเรือตลาดพลู มีสภาพเอียง ทั้งที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน ซึ่งเกิดจากโป๊ะรั่ว ทำให้เรือเทียบท่าลำบาก ผู้โดยสารใช้งานไม่สะดวก และเสี่ยงอันตราย โดยมองว่าปัญหานี้ กทม. สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันที
“เอ้” สุชัชวีร์ กล่าวว่าจากการลงพื้นที่ทำให้ตนเองเห็นสิ่งที่น่าสนใจเยอะมาก และเชื่อว่ากรุงเทพเปลี่ยนได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้เป็นเพราะการจัดการแบบเดิม ทำแบบเดิม มีความล้าหลัง ระเบียบล้าหลัง การจัดการล้าหลัง แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนกรุงเทพ ต้องทำงานให้ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เปิดอกเปิดสมองรับฟังปัญหาของชาวบ้านให้ครบมากขึ้น เปลี่ยนกรุงเทพ #เราทำได้
หลังจากลงพื้นที่สำรวจคลองตลอดทั้งวัน “เอ้” สุชัชวีร์ ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่เพื่อต้องการรู้ปัญหาที่แท้จริงของเขตต่าง ๆ ในฝั่งธนบุรีอย่างชัดเจน และพบว่าปัญหาหลักมาจากทางน้ำ โดยเฉพาะประตูระบายน้ำ กลายเป็นอุปสรรคการท่องเที่ยว จากการที่เรือต้องมาอออยู่ที่ประตูระบายน้ำเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งกีดขวางการเดินเรือท่องเที่ยว ในขณะที่การเปิดปิดประตูระบายน้ำยังต้องอาศัยแรงคน ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเสียเวลารอนาน เกิดเป็นปัญหาคอขวด กทม.ต้องบริหารประตูระบายน้ำ ให้ทันสมัย เหมือนเมืองอื่นด้วยระบบอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพ และแม่นยำสูงกว่าคน ช่วยบริหารให้เรือเข้า-ออก ได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอติดขัด ไม่เสียเวลา ไม่เสียอารมณ์ของนักท่องเที่ยว หากจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ก็จะทำให้การท่องเที่ยวในฝั่งธนบุรีไหลลื่นได้
“เอ้” สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่สูงที่สุด จากนั้นเป็นคลองต่าง ๆ ก่อนที่จะมาเป็นถนน และซอย ถ้าไม่มีประตูระบายน้ำ จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งถูกน้ำทะเลหนุน ทะลักเข้าคลอง ส่งผลให้บ้านริมคลองถูกน้ำท่วม ถนนทรุด จึงต้องมีประตูระบายน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำในคลองให้ต่ำ แต่ถ้ามีการกั้นน้ำที่ปากอ่าว จะทำให้ปัญหาประตูระบายน้ำในกรุงเทพฯ ทั้งหมดถูกขจัดออกไปได้ เพราะเป็นการควบคุมจากต้นทาง
นอกจากนี้ยังเห็นว่าในอดีตมีการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ใช้น้ำคลองสำหรับอุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปใช้การสัญจรทางบก และใช้น้ำประปา ทำให้พื้นที่ริมคลองจากที่เคยเป็นหน้าบ้านได้กลายเป็นหลังบ้าน อีกทั้งมีการดัดแปลงเรือไปใช้เครื่องยนต์รถสิบล้อก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางเสียงและอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพชาวเรือและชาวริมคลอง หากเปลี่ยนไปใช้เรือท้องแบน จะทำให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น สร้างระลอกคลื่นได้น้อยลง จึงต้องส่งเสริมการใช้เรือท้องแบน และพลังงานไฟฟ้า ที่ไม่มีทั้งมลพิษทางเสียง และไม่มีมลพิษ PM2.5 ไม่สร้างคลื่นแรง ทำลายบ้านเรือนซึ่งจะทำให้ชาวฝั่งคลองยอมรับได้มากขึ้น
“เอ้” สุชัชวีร์ ยังกล่าวเสริมในตอนท้ายด้วยว่า เปลี่ยนกรุงเทพ #เราทำได้ หากต้องการให้กรุงเทพเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ให้คนตอบรับคลองเหมือนในอดีต และทำให้การสัญจรทางน้ำมีความปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับชาวบ้านสองฝั่งคลอง ในที่สุดจะช่วยสร้างรายได้ และเป็นประโยชน์กับคนทุกฝ่าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น