วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2564

มท.จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ


ปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยนำคณะผู้บริหารระดับสูง จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา 7 ธันวาคม 2564 



วันที่ 7 ธันวาคม  2564 เวลา 06:00 น. ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา 7 ธันวาคม 2564 โดยมี ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชยาวุธ จันทร นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ผู้แทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางอุษณี จงจิระ ประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครอง หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมพิธี 



นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์โตในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในด้านการศึกษา ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนราชินี และเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยทรงสำเร็จปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา ทรงเป็นเนติบัณฑิตไทย และเข้ารับราชการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ รองอัยการจังหวัด และอัยการจังหวัด ต่อมาได้โอนย้ายมาดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหประชาชาติ และทรงกลับมารับตำแหน่งอัยการจังหวัด และอัยการผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และพระราชทานยศ พลเอกหญิง 



ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมุ่งมั่นในการปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระวิริยอุตสาหะ ซึ่งทรงปฏิบัติบำเพ็ญมาตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตามพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ ด้วยพระกตัญญูกตเวทิตา  ทั้งยังทรงจัดตั้งมูลนิธินภาฯ ในพระดำริ เน้นช่วยเหลือและให้โอกาสทางอาชีพกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อันเกิดจากผลที่ได้รับทางกฎหมายและสังคม ทรงจัดตั้งโครงการกำลังใจ ในพระดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง ทั้งยังทรงจัดตั้งทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย สำหรับประทานแก่ผู้ต้องการศึกษาต่อปริญญามหาบัณฑิตด้านกฎหมาย ณ Cornell Law School อีกด้วย ด้วยพระปรีชาสามารถและพระจริยวัตรอันงดงาม ส่งผลให้หลายองค์กรต่างทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่าง ๆ เช่นกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Fund for Women:UNIFEM) ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีในการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีด้านหลักนิติธรรม เป็นต้น


นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ยังทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงเป็นประธานในงานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน และพระราชทานเงินพระราชทานขวัญถุง กองทุนแม่ของแผ่นดิน ให้แก่กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ด้วยความรัก ความเข้าใจ ให้อภัย ให้โอกาส โดยในปัจจุบันมีหมู่บ้าน/ชุมชนเข้าร่วมกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวนกว่า 24,455 หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยจากปัญหายาเสพติดไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้พระองค์ยังได้พระราชทานโครงการสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา ทั้งด้านการพัฒนาคน ทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน ผ่าน "ไตรโครงการ" ในพระราชดำริ ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 


1) โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยพระราชทานเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์แก่เรือนจำและทัณฑสถาน ตลอดจนโรงพยาบาลเครือข่าย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดการบูรณาการทางการแพทย์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม สามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจระหว่างที่ถูกควบคุมตัว เมื่อพ้นโทษกลับสู่สังคมจะได้ประกอบอาชีพสุจริตอย่างมีคุณภาพ 


2)  โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ซึ่งมีความหมายว่า "น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร" ตามพระบรมราโชบายในการอนุรักษ์ป่าและช้าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างอย่างมีสุข และทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2562 เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของคนกับช้างป่า ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ 


3) โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (โครงการพัฒนาชุมชน ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ ขับเคลื่อนการทรงงานสนองพระบรมราโชบายในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต รวมทั้งทรงเห็นว่าพื้นที่โครงการเป็นชุมชนอยู่ติดชายแดน อันถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่มรดกโลกของประเทศไทย ที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล และรักษาต้นน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ


ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงมหาดไทย มีความมุ่งมั่นในการร่วมสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ผ่านโครงการตามพระดำริ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน สังคมแห่งการช่วยเหลือเอื้ออาทร และสังคมแห่งความกตัญญูกตเวที อันจะทำให้เกิดรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...