วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

น้อมถวายความอาลัย! "สมเด็จช่วง" ละสังขารแล้ว สิริอายุ 96 ปี

 


วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมาและเพจสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย โพสต์ข้อความว่า ขอกราบถวายอาลัย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง ได้มรณภาพด้วยอาการอย่างสงบ วันที่ 9  ธันวาคม 2564  สิริอายุ 96 ปี พรรษา 76 ทั้งนี้หลังจากอาพาธ และรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาเป็นระยะเวลาหลายปี 

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นหนึ่งในบรรดาสมเด็จพระราชาคณะ รัตตัญญู ทรงคุณธรรม แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นเสาหลักแห่งคณะสงฆ์ไทย เคยดำรงตำแหน่งสูงสุด คือ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สำหรับประวัติ เกิดเมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2468 ที่จังหวัดสมุทรปราการ บรรพชาเมื่ออายุได้ 14 ปี วันที่ 1 พฤษภาคม 2482 ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยมีพระครูศีลาภิรัต (ทอง) วัดลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นอุปัชฌาย์

อุปสมบทเมื่อที่ 11 พฤษภาคม 2488 ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายานามว่า "วรปุญฺโญ"

เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อปี 2499 และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อปี 2508 สร้างสำนักเรียนวัดปากน้ำให้มีชื่อเสียงด้วยเป็นสำนักเรียนที่สอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นสนามสอบบาลีชั้นประโยค ป.ธ.5 ในภูมิภาค

เจ้าประคุณสมเด็จช่วง มีความแตกฉานทางภาษาบาลี สามารถสนทนาภาษาบาลีได้ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง เมื่อปี 2539 ถือเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของพระภิกษุสงฆ์


ท่านยังได้มอบปัจจัยให้สร้างพระไตรปิฎกจารึกในแผ่นหินอ่อน เจดีย์ วิหาร เพื่อธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน รวมถึงหอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นที่ประชุมกรรมการ มส.ทุกวันนี้


เจ้าประคุณสมเด็จช่วง ได้รับการถวายสมณศักดิ์จากหลายประเทศ อาทิ


พ.ศ. 2520 ได้รับสมณศักดิ์จากบังกลาเทศ ที่พระศาสนธชมหาปัญญาสาระ


พ.ศ. 2524 ได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระชินวรศาสนโสภณเตปิฏกวิสารทคณปาโมกขาจริยะ


พ.ศ. 2525 ได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายอัสสคิริยะ ที่ พระศาสนโชติกสัทธัมมวิรทวิมลกิตติสิริ และได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกาสยามวงศ์ ฝ่ายมัลลวัตตะ ที่ พระธรรมกิตติสิริเตปิฏกวิสารโท


พ.ศ. 2526 ได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา ฝ่ายรามัญวงศ์ ที่ พระติปิฏกบัณฑิตธัมมกิตติสสิริยติสังฆปติ


พ.ศ. 2526 ได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายโกฏเฏ ที่ พระอุบาลีวังสาลังการะอุปัชฌายธรรมธีรราชมหามุนีเถระ


พ.ศ. 2558 รัฐบาลเมียนมา ถวาย "อัคคมหาบัณฑิต" ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช


พ.ศ. 2560 สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาตั้ง เป็นประธานอำนวยการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือหมู่บ้านรักษาศีล 5


ส่วนสมณศักดิ์นั้น เริ่มจากพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี วันที่ 5 ธ.ค. 2499 และได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2538 ในราชทินนามว่า "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไพศาลหิตานุหิตวิธาน ปฏิภาณสุธรรมภาณีศรีสังฆโสภณ วิมลศีลาจารนิวิฐ ตรีปิฏกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญวาสี"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...