วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เพลง: ร่วมใจพุทธโลก


                    ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌

ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno 

คลิกฟังเพลงที่นี่

(Verse 1) 

ทั่วโลกมาร่วมประชุมบรรเลง

ร่วมเสียงใจ เพื่อสันติแท้จริง

แปดร้อยผู้นำ พุทธโลกยิ่งใหญ่

สานสร้างความสุขให้โลกคงอยู่ยืน

(Verse 2) 

"จับมือกัน เพื่ออยู่ร่วมกัน"

ในโลกที่ผันเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง

"สมเด็จสังฆราช" ประทานสาส์นชี้

ทางสาราณียธรรม นำสู่เอกภาพมั่นคง

(Chorus) 

สาราณียธรรมคือหนทาง

เมตตากาย วาจาใจ ปราศจากหลอกลวง

ท่ามกลางความแตกแยกในยุคนี้

พุทธธรรมคือคำตอบ หนทางสันติแท้จริง

(Verse 3) 

พระเถระทั่วโลก รวมใจสร้างหวัง

เพื่อสันติธรรมที่มีความยุติธรรม

ทุกคนร่วมเรียนรู้ ปฏิบัติสาราณียธรรม

เพื่อความสุขยั่งยืน แก่คนทั้งหลายในแผ่นดิน

(Chorus) 

สาราณียธรรมคือหนทาง

เมตตากาย วาจาใจ ปราศจากหลอกลวง

ท่ามกลางความแตกแยกในยุคนี้

พุทธธรรมคือคำตอบ หนทางสันติแท้จริง

(Outro) 

จับมือกัน สร้างโลกที่สวยงาม

ให้ธรรมะเป็นแสงส่องทาง

ขอให้ประชุมพุทธโลกครั้งนี้

บรรลุวัตถุประสงค์ สันติสุขทั่วหล้า


"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานสาส์นในการประชุมสมัชชาพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ 6 ที่จีน 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่เมืองนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน การประชุมสมัชชาพุทธศาสนาโลกครั้งที่ 6 ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการพระพุทธศาสนาทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก ประมาณ 800 คน จาก 72 ประเทศ เข้าร่วมผู้เข้าร่วม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17  ตุลาคม 2567 ในหัวข้อ "จับมือกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน" ทั้งนี้ ในการประชุมมีจุดมุ่งหมายที่จะแสวงหาฉันทามติและแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกันในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา     

ในการนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระบัญชาโปรดให้ พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นผู้แทนพระองค์และเข้าร่วมในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมประทานสาส์นให้พระพรหมบัณฑิต เชิญไปอ่านในการประชุมดังกล่าว ความว่า       

“เนื่องในการประชุมสมัชชาพุทธศาสนาโลกครั้งที่ 6  ในนามพุทธบริษัทไทย ขอแสดงไมตรีจิตและส่งความ ปรารถนาดีมายังพระเถรานุเถระ และสาธุชนทุกท่านผู้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน เพื่อสร้างสรรค์วิถีและวิธีแห่งการ “จับมือกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน” อันเป็นหัวข้อหลักของการประชุมในวาระนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาประทานหลัก “สาราณียธรรม” ไว้เพื่อส่งเสริมความเป็น เอกภาพ ความเคารพซึ่งกันและกัน และความสมัครสมานสามัคคีท่ามกลางความหลากหลายของสรรพชีวิต       

มหันตภัยแห่งความแตกแยกบาดหมางในโลกที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ อาจเป็นเครื่องเตือนใจมนุษยชาติ ให้ตระหนักถึงคุณค่าของสาราณียธรรม ซึ่งประกอบด้วยความเมตตาในกาย วาจา และใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น ความเมตตาโดยจริงใจ ปราศจากมารยาสาไถยดังนี้ ย่อมเกื้อกูลสันติภาพและมิตรภาพอันแท้จริง นำไปสู่การเอื้อเฟื้อ แบ่งปันแก่กันเป็นสาธารณโภคี มุ่งประพฤติดีด้วยกายและวาจาเป็นปรกติเพื่อหลีกเลี่ยงการข่มเหงเบียดเบียน พากเพียร ปรับทัศนคติให้สอดคล้องต้องตรงกันสู่หนทางดับทุกข์ สาราณียธรรมนี้จัดเป็นธรรมะหน่วงรั้งสภาวการณ์โลก อันทรุดโทรมและคลอนแคลน ให้กลับสดใสและเข้มแข็งได้ด้วยเอกภาพ ครอบคลุมทั้งกระบวนการและเป้าหมายอย่างสมบูรณ์      

สันติธรรมในพระพุทธศาสนา จึงหาใช่เพียงการไม่วิวาทขัดแย้งกัน หากแต่ยังต้องดำรงมั่นบนความยุติธรรม การุณยธรรม และสติปัญญาอันถูกแท้ตามทางสัมมาทิฐิอีกด้วย หากบุคคลปรารถนาสันติธรรม ย่อมต้องแสวงหา สามัคคีธรรมเป็นบาทฐาน และหากประสงค์จะให้สามัคคีธรรมบังเกิด ก็จำเป็นที่ทุกคนทุกฝ่ายจักต้องเรียนรู้ อบรม และประพฤติสาราณียธรรมเป็นเงื่อนไขตั้งต้นให้ได้ก่อน เพื่อความเข้มแข็งและความผาสุกของส่วนรวมจักปรากฏขึ้น มีขึ้นได้อย่างยั่งยืน       

ขอให้การประชุมสมัชชาพุทธศาสนาโลกครั้งที่ 6 หัวข้อ “จับมือกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน” บรรลุวัตถุประสงค์ อันดีงามที่ตั้งไว้ทุกประการ คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทย ขอร่วมแผ่สาราณียธรรมมาย้ำเตือนมิตรภาพ ของเราทั้งหลายผู้เป็นสมาชิกแห่งพุทธบริษัท และผู้ปรารภปรารถนาความวัฒนาสถาวรของโลกนี้ด้วยสันติธรรมโดยทั่วหน้ากัน”

ด้านพระพรหมวัชรธีราจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้มอบหมายให้ พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา พร้อมด้วยพระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ และผู้บริหารและคณาจารย์ เดินทางเข้าร่วมประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.พศ. พร้อมกับผู้แทนกรมการศาสนา และองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลกเข้าร่วมประชุมด้วย

การประชุม ประกอบด้วยการสัมมนาหลักและการหารือในหัวข้อต่างๆ เช่น ภูมิปัญญาแห่งความครอบคลุมในพระพุทธศาสนา การนำคัมภีร์พระพุทธศาสนาไปใช้ในรูปแบบดิจิทัล และเสน่ห์ของศิลปะพุทธศาสนา ซึ่งการสัมมนานี้จัดขึ้นทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเจาะลึกถึงแก่นแท้ทางวัฒนธรรม ความหมายทางอุดมการณ์ และคุณค่าร่วมสมัยของพระพุทธศาสนา โดยมีการจัดนิทรรศการ การแสดงดนตรี และพิธีกรรมต่างๆ ไปพร้อมกัน   

การประชุมสัมชชาพุทธศาสนาโลกนี้ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2549 และได้มีการจัดต่อเนื่องมาถึง 5  ครั้ง และครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 6  ซึ่งจัดขึ้นที่ เมืองหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเมืองที่มีท่าเรือสำคัญตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในฐานะที่เป็นท่าเรือสำคัญแห่งหนึ่งของเส้นทางสายไหม นอกจากนี้ เมืองหนิงปัวยังเป็นประตูสู่การแลกเปลี่ยนระหว่างชาวจีนกับชาวโลกอีกด้วย ประวัติศาสตร์อันยาวนานและความอุดมสมบูรณ์ของเมืองหนิงโปปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านทรัพยากรทางวัฒนธรรม รวมถึงวัดเก่าแก่หลายศตวรรษ เช่น วัดเซว่โตวซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาเซว่โตว อันเป็นสถานที่จัดการประชุมในครั้งนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: รวยพิษ

                     ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) ชีวิตนี้ เหมือนถูกลวงไปในวังวน คนมากมาย เฝ้า...