วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

พบ"นกยูงครูบาศรีวิชัย"สัญลักษณ์ศรัทธาชุมชนลำพูน




ครูบาศรีวิชัยต้นแบบพระสร้างสันติภาพจัดการความขัดแย้งและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน ถึงเวลาพระสงฆ์ต้องเข้าป่ารักษาป่ารักษาชีวิต ภายใต้พลังของเครือข่าย พบ "นกยูงครูบาศรีวิชัย"สัญลักษณ์ศรัทธาชุมชนลำพูน



การขับเคลื่อนโครงการสังฆพัฒนาวิชชาลัย ครั้งที่ 2 โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ภายใต้การนำของพระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร  มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้การนำของพระมหาบุญเลิศ อินทปัญโญ,รศ. รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ฝ่ายวิชาการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) โดยมีพระสงฆ์และภาคีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง และวัดหนองกวาง บ้านแม่ป๊อกใน ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2560



หลังจากมีพิธีเปิดโดยพระเทพรัตนนายก ที่ มจร วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และได้เปิดเวทีความคิดเพื่อการยกระดับคุณภาพพระสงฆ์สู่การเป็นพระสงฆ์นักพัฒนา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการได้ลงพื้นที่พบพระนักพัฒนาต้นแบบ ทั้งนี้พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้ร่วมโครงการด้วยได้รายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Pramote OD Pantapat




ครูบาศรีวิชัยต้นแบบพระสร้างสันติภาพในระดับชุมชน



ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาการทำงานของพระสงฆ์ต้นแบบในการทำงานกับชุมชนในการร่วมมือเป็นเครือข่าย ซึ่งมีปัญหาของนายทุนในการบุกรุกป่าของชาวบ้านรวมถึงต่างศาสนาซึ่งพยายามมาเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของคนในชุมชนซึ่งพื้นฐานนับถือพระพุทธศาสนา จึงถือว่าเป็นปัญหาร่วมของคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนต้องจับมือกันแก้ปัญหา ผ่านการวิจัยชุมชนโดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำในการรักษาอนุรักษ์ป่าและสัตว์ในชุมชน ภายใต้คำว่า " บ่กินปลาร้า บ่ฆ่านกยูง" ซึ่งนกยูง ถือว่าเป็นตัวแทนของความศรัทธาในครูบาศรีวิชัยของคนในชุมชน มีแหล่งอนุรักษ์นกยูงชุมชน โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ นกยูงสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่า คนในชุมชนเชื่อว่า “นกยูงครูบาศรีวิชัย” ซึ่งเมื่อท่านมีชีวิตอยู่ได้เลี้ยงไว้ชาวบ้านจึงเชื่อว่าหากทำร้ายนกยูงจะมีอันเป็นไป จึงทำให้นกยูงขยายพันธุ์อยู่เต็มป่า เดิมชาวบ้านกับนกยูงต่างคนต่างอยู่



แต่พอนานวันเข้าชาวบ้านเริ่มมีปัญหาจากการที่พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกไว้ต้องกลายมาเป็นอาหารของนกยูง เกิดมาจากการที่ชาวบ้านได้รุกล้ำที่อยู่อาศัยของนกยูงเพื่อทำการเกษตรเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดที่ได้ราคาดี เมื่อชาวบ้านเข้าไปปลูกนกยูงก็ลงมากินพืชการเกษตรที่ปลูกไว้จนเสียหาย เดิมนกยูงใช้ชีวิตในป่าธรรมชาติ แต่เมื่อชาวบ้านกับนกยูงเริ่มมีปัญหากัน เลยมองว่าควรทำแนวกันชนที่จะปลูกพืชที่เป็นอาหารของนกยูงเพื่อเป็นแหล่งอาหารในสามฤดูเช่นข้าวหรือข้าวโพดแต่ตำแหน่งการปลูกยังไม่ชัดเจนด้วยชาวบ้านยังขาดความรู้ จึงทำการวิจัยการใช้ชีวิตของนกยูงในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต และให้ชาวบ้านตระหนักถึงคุณค่าของนกยูงที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าทำลาย



ชาวบ้านบางรายมีการวางเครื่องดักเพื่อป้องกันไม่ให้นกยูงมากินพืชผล หรือนำยาฆ่าแมลงผสมในเมล็ดพันธุ์พืชที่นกยูงลงมากิน พอมีการสร้างความเข้าใจกัน เกิดการ "การอนุรักษ์ที่ชัดเจน ป่าที่สมบูรณ์ขึ้น อาหารในป่าชุมชน " แต่มุมของชาวบ้านมองว่าเรื่องการใช้สารพิษหรือฆ่านกยูงในช่วงแรกนั้นเป็นการใส่ร้ายชาวบ้านจากนายทุน เพื่อเข้ามาจัดการเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว จริงๆ แล้ววงจรชีวิตของนกยูงเกื้อหนุนต่อชาวบ้านด้านการขยายพันธุ์ของป่าไม้ และเป็นห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ เพราะนกยูงกินแมลงต่าง ๆ



สำหรับชาวบ้านแม่ป๊อกใน ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า " ด้วยความที่ชาวบ้านเชื่อว่านกยูงเหล่านี้เป็นของครูบาศรีวิชัยจึงไม่ได้ทำร้าย เพราะที่ผ่านมามีบางคนไปทำร้ายแล้วต้องมีอันเป็นไป แต่ด้วยการขยายพันธุ์ของนกยูงมีมากขึ้นทำให้กระทบต่อชาวบ้าน ชาวบ้านใช้ความรู้พื้นบ้านในการแก้ปัญหา แต่ถ้ามีนักวิชาการเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างแนวกันชนไม่ให้นกยูงลงมากินพืชผลของชาวบ้านจะเป็นการดีกว่า แต่“ถ้านกยูงเหล่านี้สูญพันธุ์จะมีผลต่อจิตใจของชาวบ้านโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งคนกะเหรี่ยงถือว่านกยูงเป็นนกที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสิ่งที่เหลืออยู่ของครูบาศรีวิชัยตอนนี้มีเพียงนกยูงนี้อย่างเดียวที่ยังไม่สูญหาย” ชาวบ้านจึงรักษานกยูงเพราะนกยูงรักษาอนุรักษ์ป่า ด้วยการต่อสู้กับบุคคลและองค์กรต่างๆ ชาวบ้านอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหารมาจนถึงปัจจุบันนี้




ถึงเวลาพระสงฆ์ต้องเข้าป่ารักษาป่ารักษาชีวิต




พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่ศึกษาพลังของชุมชนกับพระสงฆ์ร่วมกันรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ภายใต้คำว่า " คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน สำนึกรักบ้านเกิดตน " โดยพระสงฆ์ร่วมกับชาวบ้านจนเกิดความเข้มแข็งทางจิตใจเพื่อต่อสู้กับอะไรบางอย่าง ชาวบ้านจึงมีความภาคภูมิใจมากในการรักษาไว้ให้ลูกหลาน เมื่อชาวบ้านเชื่อว่า " นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาในครูบาศรีวิชัย " ชาวบ้านจึงไม่เบียดเบียนนกยูง นกยูงอาศัยป่า นกยูงจึงเป็นเครื่องมือของการรักษาป่าเพราะความเชื่อศรัทธาในครูบาศรีวิชัย เรียกว่า " พระพุทธศาสนารักษาธรรมชาติ "



พระพุทธเจ้าจึงเป็นบิดาผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก พระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าตามหลักคำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่ว่า " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ " เป็นการเน้นถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในโลก ว่ามีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังคำกล่าวที่ว่า "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย และ นายพึ่งบ่าว เจ้าพึ่งข้า ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งน้ำ" ด้วยเหมือนกัน ซึ่งคำว่า "ป่าพึ่งเสือ" มีหมายความว่า " เสือมีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินดีเพราะหญ้ายัง หญ้ายังเพราะดินดี "



พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นบิดาผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางพระพุทธศาสนาเพราะ"ประสูติในสวนป่าลุมพินีวัน ตรัสรู้ในป่าใต้ต้นมหาโพธิ์ นิพพานในป่าใต้ต้นสาละ"ซึ่งตามพระวินัยพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสงฆ์มิให้ตัดไม้ทำลายป่า และมิให้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงบนพืชพันธุ์ธัญญาหาร และแม่น้ำลำคลอง ที่ยิ่งกว่านั้นทรงบัญญัติให้อยู่โคนไม้ เป็นการรักษาธรรมชาติ เพื่อจะได้พึ่งพาธรรมชาติ สมัยพระพุทธกาลจะมีอาราม คือ สวนป่า เช่น วัดเวฬุวันวนาราม เป็นสวนไผ่ วัดชีวกกัมพวนาราม เป็นสวนมะม่วง กลุ่มพระสงฆ์ผู้พำนักอยู่ในวัดป่าเรียกว่า"อรัญญวาสี" พระสงฆ์จึงเป็นนักอนุรักษ์ป่าไม้ได้เป็นอย่างดี ด้วยการชักชวนศรัทธาประชาชนเห็นคุณค่าของป่าไม้ ถือว่าเป็นการสร้างบุญจากการรักษาสิ่งแวดล้อม



พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน วนโรปสูตร ด้วยความว่า" ชนเหล่าใดปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน สร้างโรงน้ำ ขุดบ่อน้ำ บริจาคอาคารที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นได้บุญตลอดเวลาทั้งกลางคืนและกลางวัน" เพราะผู้คนตลอดถึงพระสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์นั่นเอง ซึ่งใน "สีสปาวนสูตร" พระพุทธเจ้าใช้ป่าไม้เป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรมแก่พระสงฆ์ พระองค์ทรงหยิบใบประดู่ลายแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า "ใบประดู่ลายเล็กน้อยที่เราได้ถือไว้ กับใบที่อยู่บนต้นประดู่ลาย อย่างไหนจะมากกว่ากัน " พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายทูลตอบว่า "ใบประดู่ลายในพระหัตถ์ของพระองค์น้อยกว่า ใบที่อยู่บนต้นประดู่ลายมีมากกว่า" พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า" เรื่องที่เราตรัสรู้แล้ว แต่มิได้บอกท่านทั้งหลายก็มีมากกว่า ฉันนั้น เหมือนกัน เรื่องที่เราบอกท่านทั้งหลายมีน้อยกว่า เหมือนใบไม้ในกำมือนี้"และกล่าวย้ำว่า ตถาคตสอนเรื่องทุกข์ กับความดับทุกข์เท่านั้น



ฉะนั้นภาครัฐต้องการปฏิรูปพระพุทธศาสนา แต่คณะสงฆ์ยังไม่สามารถตอบโจทย์การปฏิรูปได้ เพราะเราไม่มีแผนการพัฒนาพระพุทธศาสนา ไม่มีความเป็นเอกภาพในการพัฒนาว่า 5  ปีข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ทำอะไร ทำอย่างไรเช่นแผนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เป็นเอกภาพควรเป็นอย่างไร ? ปัจจุบันต่างคนต่างทำ ทำให้การเผยแผ่ธรรมไม่มีความเป็นเอกภาพ ทำอย่างไรเราจะมีแผนการพัฒนาพระพุทธศาสนาที่มีความชัดเจน เป็นเอกภาพ มีรูปธรรม ปฏิบัติจริง จึงต้องมีการพัฒนาแผนด้วยการให้พระสงฆ์นักพัฒนาคิดโครงการจากพื้นที่จริง มิใช่คนอื่นคิดให้ แต่ต้องเป็นพระสงฆ์ในชุมชนเริ่มจากปัญหาของชุมชน เพื่อ " การเปลี่ยนแปลงชุมชน ยิ่งทำยิ่งได้เครือข่าย " สังฆพัฒนาต้องการสร้างเครือข่าย ต้องการสร้างเครือข่ายยิ่งมากยิ่งดี สามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนทุกภาคีเครือข่าย เป็นการต่อยอดงานคณะสงฆ์ที่ทำอยู่แล้วแต่ต้องทำด้วยการสร้างเครือข่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...