วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หนังสือพิมพ์ระลึกงานสลายสรีรธาตุหลวงพ่อปัญญา




หนังสือพิมพ์ระลึกงานสลายสรีรธาตุหลวงพ่อปัญญา พระสงฆ์ผู้สร้างนวัตกรรมในการเผยแผ่ธรรมแห่งยุค


วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ ในงานพระราชทานเพลิงศพพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทมหาเถระ)  อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์  จ.นนทบุรี โดยการสลายสรีรธาตุยึดตามธรรมเนียมพุทธกาล ไม่ใช้ดอกไม้จันทน์ และผู้มาร่วมงานจะนั่งสวดมนต์ในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้นั้น


ในการนี้พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส  ผู้ช่วยอธิการบดี  ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และหลักสูตรสาขาสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  เปิดเผยว่า เป็นผู้แทนพระพรหมบัณฑิต กรรมกามหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดี  มจร  เดินทางไปที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เพื่อถวายหนังสือแก่พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสเพื่อมอบให้พุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาร่วมสลายสรีระของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ 


"ทั้งนี้ ได้ถวายกล่องหนังสือเรื่องปัญญาคู่กรุณา เพื่อทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  สำหรับหนังสือที่เรียบเรียงโดยพระพรหมบัณฑิต ซึ่งทางมหาจุฬาฯจัดพิมพ์ถวายซึ่งประกอบด้วยเรื่องปัญญาคู่กรุณา   ๓,๕๐๐ เล่ม "สติดี กรรมดี ชีวิตดี"  ๒,๐๐๐  เล่ม  มิลินทปัญหา   ๒,๐๐๐  เล่ม ขออนุโมทนาเป็นพิเศษแก่นายภิญโญ ไตรสุริยะธรรมาที่ได้จัดอาร์ตหนังสือ และถวายกล่องหนังสือในครั้งนี้ด้วย" พระมหาหรรษา กล่าว


หลวงพ่อปัญญาพระสงฆ์ผู้สร้างนวัตกรรมในการเผยแผ่ธรรมแห่งยุค 


อย่างไรก็ตามวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐    ทางวัดชลประทานรังสฤษฏ์ได้มีพิธีร่วมแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณ โดยเคลื่อนสรีรธาตุหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ขึ้นตั้ง ณ จิตกาธาน หน้าโรงเรียนพุทธธรรม  และมีการแสดงปาฐกถาธรรม เรื่อง "วันเวลาเปลี่ยน แต่ปณิธานไม่เปลี่ยน" โดยพระพรหมบัณฑิต  ความว่า ความยิ่งใหญ่ของบุคคลในโลกใบนี้อย่างมหาตมะคานธีเป็นบุคคลที่สร้างความยิ่งใหญ่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สร้างความยิ่งใหญ่ รวมถึงหลวงปัญญานันทะมีความยิ่งใหญ่ เพราะที่ท่านมีชีวิตอยู่ เราก็ฟังคำสอนของหลวงปัญญานันทะ แต่เราไม่ได้ถอดรหัสอย่างลึกซึ้ง แต่พอท่านจากไปแล้ว นิยามชีวิตของท่านสมบูรณ์ เราจึงเริ่มมองว่าในประเทศไทยมีพระสงฆ์ที่มี "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" เป็นต้นแบบของพระนักเผยแผ่พระนักเทศน์ที่ทำได้จริงๆ ตลอด ๗๗ ปี หลวงพ่อมีปณิธานที่ชัดเจนไม่เคยเปลี่ยนแปลงปณิธาน "หลวงปัญญานันทะไม่เคยเปลี่ยนปณิธาน" เพราะปณิธานคือเข็มทิศชีวิต เป็นความตั้งมั่นมุ่งมั่นจะทำอะไร จะเป็นอะไร และดำเนินตามปณิธาน


พระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่า " เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม " ๗๐ ปีที่ครองราชย์ไม่เคยเปลี่ยนปณิธานนี้เลย ถือว่าเป็นอัศจรรย์ ปฏิบัติตามคำมุ่นสัญญา เดินทางสู่เข็มทิศที่ตั้งไว้ สังคมต้องบุคคลแบบนี้มาเป็นผู้ทางบ้านเมืองและจิตวิญญาณ ชาวพุทธไทยโชคดีที่มีผู้นำจิตวิญญาณที่มีความตรง ที่ชื่อว่า ปัญญานันทะภิกขุ เป็นพระสงฆ์ที่มีความมุ่งมั่นแบบหลวงพ่อปัญญานันทะฝรั่งกล่าวว่า " เป็นบุคคลแห่งทุกฤดูกาล " ซึ่งในยุโรปและอเมริกาในฤดูหนาวเราจะเห็นหิมะตกต้นไม้ปกคลุมด้วยหิมะนึกว่าต้นไม้ตาย ผ่านฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้เปลี่ยนสีตามฤดูกาล แต่มีต้นไม้หนึ่งไม่ยอมเปลี่ยนสีตามฤดูกาล เป็นไม้แห่งทุกฤดูกาล คือ ต้นสน เราจึงเรียกต้นสนว่าเป็นต้นไม้แห่งทุกฤดูกาล บุคคลที่ไม่เปลี่ยนแปลงปณิธานจึงเป็นบุคคลแห่งทุกฤดูกาล หลวงพ่อปัญญาเป็นพระแห่งทุกฤดูกาล เสมอต้นเสมอปลาย เคยเทศน์เคยอย่างไร ก็สอนเหมือนเดิม ยึดปณิธาน ตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ เป็นพระสงฆ์ที่กล้าพูดกล้าทำ ชีวิตต้องมีปณิธานชีวิตจึงดำเนินไปไม่ออกนอกเส้นทาง เราต้องมีเรือที่มีหางเสือ เพื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ อุดมการณ์ ปณิธานเป็นกลยุทธ์เพื่อเดินทางสู่เป้าหมาย คนที่มีปณิธานจะมีความมุ่งมั่นเหมือนสุเมธดาบส นอนเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้าชื่อว่าธีปังกรเหยียบข้ามไป ตั้งปณิธานว่า ขอเป็นพระพุทธเจ้า นั่นคือจุดเปลี่ยน จะเจอปัญหาอะไรก็มีความมุ่งมั่นตามปณิธาน คนที่มีปณิธานจะไปถึงเป้าหมาย ดั่งพุทธพจน์ว่า " เกิดเป็นคนต้องพยายามล้ำไปจนกว่าจะได้ในสิ่งที่ปรารถนา "


ชีวิตหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นชีวิตที่สมหวัง เพราะเป็นไปตามมโนปณิธานที่ตั้งไว้ สิ่งสำคัญปณิธานต้องลงมือทำ สุภาษิตจีนกล่าวว่า " ระยะทางหมื่นลี้ต้องมีก้าวแรก " เราต้องตั้งปณิธานให้มั่นคง เราจะทำดีอะไรเพื่อฝากไว้ในสังคม เราอาจจะไม่มีปณิธานอันยิ่งใหญ่เหมือนหลวงพ่อปัญญานันทะ แต่เราต้องมีปณิธาน ถ้าใครไม่มีปณิธานคือ คนพาล ส่วนบัณฑิตจะมีปณิธาน ฝากอะไรไว้กับโลกใบนี้ไว้บ้าง ซึ่งผู้มีปัญญาจะรู้ประโยชน์ ๒ ประการ คือ รู้ประโยชน์ภายหน้าในปัจจุบันและประโยชน์ระยะยาวในอนาคต หรือ การเกื้อกูล เช่น ในปี ๒๕๐๓ มีการสร้างวัดชลประทาน นิมนต์พระหนุ่มชื่อปัญญานันทะมาสร้างประโยชน์โดยตรงแต่ผู้ที่สร้างประโยชน์โดยอ้อมคือกรมชลประทาน ไม่มีวัดชลประทานก็ไม่มีเจ้าอาวาสชื่อปัญญานันทะ เกิดมาทั้งทีต้องมีอะไรฝากไว้ นี่คือ ปณิธานของชีวิต


หลวงปัญญานันทะภิกขุมีปณิธานชีวิตอะไรที่เป็นเข็มทิศพาชีวิตไปสู่เป้าหมาย ปณิธานมี ๖ ข้อ จึงทำหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นตำนาน หลวงพ่อปัญญานันทะทำได้จริง ไม่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล หลวงพ่อเสมอต้นเสมอปลาย ปณิธาน ๖ ประการ คือ


๑) อยู่เพื่อพระรัตนตรัย เพื่อรับใช้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หลวงพ่อปัญญานันทะอุทิศตนเพื่อพระรัตนตรัย เอาธรรมะเป็นใหญ่ เรียกว่า ธรรมาธิปไตย แต่ถ้าเพื่อตนเองเรียกว่า อัตตาธิปไตย ทำเพื่อเด่นดีเพื่อตนเองเท่านั้น และทำดีเพื่อคนอื่น คนอื่นเป็นใหญ่ เรียกว่า โลกาธิปไตย แต่ถ้าเพื่อความถูกต้องดีงาม เรียกว่า ธรรมาธิปไตย เป็นการขับเคลื่อนของรัชกาลที่ ๕ จะทาสเพราะความถูกต้อง เพื่อสิทธิมนุษยชน ใช้เวลาในการเลิกทาสมาก เพราะมีปณิธานที่มุ่งมั่น หลวงพ่อปัญญาเป็นแม่ทัพธรรมต่อต้านความไม่ถูกต้อง ต่อต้านไสยศาสตร์ หลวงพ่อปัญญานันทะถือธงนำหน้า เป็นธงแห่งธรรมะ มีผลกระทบต่อพระสงฆ์ในปัจจุบัน หลวงพ่อปัญญาถวายจิตวิญญาณไว้ในพระพุทธศาสนา อธิษฐานถวายชีวิตไว้กับพระพุทธศาสนา ถวายกายใจไว้ในพระพุทธศาสนา อธิษฐานและประกาศให้คนอื่นทราบ เหมือนรัชกาลที่ ๕ จะเสด็จประพาสยุโรป กลัวว่าจะไปเปลี่ยนศาสนา พระองค์ทรงประกาศในพระบรมมหาราชวังต่อหน้าพระบรมวงศานุวงต่อหน้าพระสงฆ์ ว่า " ไปยุโรปครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง จะไม่นับถือศาสนาอื่น นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ " มีความมั่นคงในพระรัตนตรัย เป็นเรื่องที่หนึ่งที่หลวงปัญญาได้กระทำ โดยมีกัลยาณมิตรร่วมเดินทางคือ " พุทธทาส หมายถึง ทาสของพระพุทธเจ้า " บุคคลที่จะทำการใหญ่จึงต้องมีกัลยาณมิตรมีแนวร่วม นโปเลียนมหาราช กล่าวว่า การจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ต้องมี ๒ สิ่ง คือ ๑) มีศัตรูที่กล้าแข็งที่สุด ๒) มีมิตรที่ซื่อสัตย์ที่สุด หลวงพ่อปัญญาต่อสู้กับความโง่อวิชชาของผู้คน โดยอาศัยกัลยาณมิตรมาช่วย มาอยู่วัดชลประทานก็สร้างธรรมทายาท เพื่อสนองงานเผยแผ่ สร้างแนวร่วมมากมาย สนับสนุนกิจการของมหาจุฬาเพื่อ "ต่อสู้กับความโง่ด้วยการให้การศึกษาของพระสงฆ์สามเณร" และแก่ชาวพุทธทั่วโลก


๒) ประกาศคำสอนแท้ของพระพุทธศาสนา มีคำสอนแท้และคำสอนไม่แท้ เหมือนผลไม้มีเปลือก คำสอนไม่แท้เหมือนเปลือกของผลไม้ เช่น พิธีกรรมต่างๆ คนชอบติดเปลือกผลไม้จึงไม่ได้ประโยชน์สาระของพระธรรม หลวงพ่อปัญญาปอกเปลือกเพื่อนำเนื้อในของผลไม้ คือ แก่นแท้ของพระศาสนา


๓) มีความกล้า การจะปอกเปลืองต้องเป็นบุคคลที่กล้าพูดความจริง ทุกกาลเทศะ พูดความจริงความถูกต้องดีงาม กล้าพูดในความจริงซึ่งเป็นแก่นคำสอนทางพระพุทธศาสนา ท่านต่อสู้กัยไสยศาสตร์


๔) ต่อสู้กับสิ่งเหลวไหลในพระพุทธศาสนา และนำความเข้าใจมาถึงชาวพุทธ โดยยึดพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าทำลายสิ่งเหลวไหลของคนที่มีความเชื่อผิดๆ บางทีปฏิวัติบางทีปฏิรูป ปฏิวัติเรื่องความเชื่อว่าพระพรหมสร้างโลก เชื่ออำนาจงมงาย เชื่อว่าทำบาปมามากมาย ถ้าอยากบริสุทธิ์ก็ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา เป็นการล้างบาป พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่ แบบนี้ปลาเต่าก็ขึ้นสวรค์หมด พระพุทธเจ้าเสนอให้ล้างที่ใจ ในโอวาท คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส พระพุทธเจ้าจรัสว่า " ความบริสุทธิ์และความเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คนอื่นไม่สามารถทำให้เราบริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง " ส่วนปฏิรูป พรหมสี่หน้าก็สนองเรื่องพรหมวิหารธรรม หลวงพ่อปัญญาเดินตามรอยพระพุทธเจ้า พิธีกรรมรักษาไว้แต่ใส่เนื้อหาสาระไว้ เหมือน การสวดศพแต่มีการเทศน์เข้าไปให้ปัญญาด้วย หลวงพ่อปัญญาวางระบบไว้เป็นอย่างดี หลวงพ่อปัญญานันทะรับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลเพราะอยากทำงาน เพราะเป็นวัดที่สร้างใหม่ง่ายต่อการปฏิรูป มีการวางระบบใหม่ ยึดหลักเป็นระเบียบ เรียบง่าย ประหยัด ประโยชน์ ตามพระธรรมวินัย เจ้าอาวาสรุ่นต่อมาต้องรักษาปณิธานไว้


๕) ขอเพียงมีปัจจัย ๔ เลี้ยงชีพ สอดรับกับเศรษฐกิจพอเพียง พอเพียงมาจากคำว่า จำเป็น บริโภคตามความจำเป็น แต่บางคนบริโถคอาหารด้วยความพอใจ มีคุณค่าแท้คือ มีกำลังกายในการปฏิบัติธรรม แต่อร่อย สีสัน แสดงฐานะทางสังคม เป็นคุณค่าเทียม เหมือนรถเก่าๆ เขียนข้อความว่า" ดีกว่าเดิน " ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นความจำเป็น เหมือนนักศึกษามีกระเป๋าราคาแพง มีความจำเป็นขนาดไหน เป้าหมายเป็นตัวกำหนด หลวงพ่อปัญญาบอกว่า ขอเพียงมีปัจจัย ๔ ในการเลี้ยงกายเพื่อทำงานพระพุทธศาสนา ปณิธานต้องพอเหมาะกับเป้าหมาย บางคนเป้าหมายสูง จึงต้องมีปณิธานสูง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า " จงสันโดษในการบริโภคปัจจัย ๔ แต่อย่าสันโดษในความดี " รักษาศีล ๕ ได้ก็รักษาศีล ๘ เลื่อนขั้นความดี พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ ๑) ไม่สันโดษในการทำความดี ๒) ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร หลวงพ่อปัญญานันทะมีครบทั้ง ๒ ข้อ ไม่เคยสันโดษในการทำความดี และไม่ท้อถอยถึงจะเจออุปสรรค


๖) ประพฤติตามหลักธรรม ใครที่มีอุดมการณ์เดียวกันท่านถือว่าเป็นแนวร่วม ท่านออกไปเทศน์ไปสอนด้วยการผูกมิตร เป็นการให้ธรรมทาน ปัจจัยที่ได้จากนิตยภัตถวายมูลนิธิมหาจุฬาเพื่อการศึกษา จับมือสร้างพระธรรมทายาท " ท่านเผยแผ่เองด้วย และจัดการให้คนอื่นเผยแผ่ด้วย " ทำให้หลวงพ่อปัญญาเป็นแม่ทัพนำในการด้านการเผยแผ่ สร้างกัลยาณมิตรให้พระหนุ่มเณรน้อยเดินตาม ประโยคคำพูดหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ คือ " คนสร้างงาน งานสร้างคน " หลวงพ่อปัญญาท่านเล่าเรื่องความกล้า กล้าด้วยการใช้ปัญญา ซึ่งคนกล้ากับคนบ้าบิ่นมีความแตกต่างกัน คนบ้าบิ่นขาดปัญญา แต่คนกล้ามีปัญญา เหมือนหลวงพ่อปัญญาเป็นพระสงฆ์ที่กล้า


สุดท้ายหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นแม่ทัพธรรมมิใช่ออกส่งคนอื่นออกหน้าอย่างเดียว ท่านทำเองเป็นแบบอย่าง สอนได้ครบ ๔ ส. นักพูด นักเทศน์ นักเผยแผ่ที่ดี ต้องทำได้ ๔ ประการ เหมือนพระพุทธเจ้าเทศน์ คือ ๑) สันทัสสนา สอนได้แจ่มแจ้ง ๒) สมาทปนา สอนได้จูงใจ ๓) สมุตเตชนา สอนให้แกล้วกล้า ๔) สัมปหังสนา สอนได้น่าเริงบันเทิงธรรมไม่น่าเบื่อ ๔ ข้อนี้มีในหลวงพ่อปัญญานันทะ เหมือนคนจะขึ้นบ้านใหม่มาถามหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า ถ้าบ้านมีบันไดขึ้นได้เลย หรือ การเจิมรถ หลวงพ่อบอกว่าเจิมคนขับดีกว่าต้องมีสติอย่าประมาทจะปลอดภัย พระพุทธเจ้าตรัส " ประโยชน์เป็นฤกษ์ยามในตัวดวงดาวจะทำอะไรได้ "เราศรัทธาในท่านหลวงพ่อปัญญานันทะ เพราะ"สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส" สอนอย่างไรทำอย่างนั้น วัดชลประทานเป็นต้นแบบในการเทศน์หรือปาฐกถาในงานศพ วัดอื่นก็เลียนแบบ วัดชลประทานสร้างพระธรรมทายาท วัดประยุรวงศาวาสก็สร้างพระนักเทศน์ หลวงพ่อปัญญานันทะเป็นพระสงฆ์รูปแรกในการยืนปาฐกถา ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในการสอน จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน หลวงพ่อปัญญานันทะมีการสอนที่ทันสมัยมีสื่อการสอน โดยใช้สิ่งรอบข้างเป็นสื่อการสอน ดังนั้น วัดชลประทานเป็นวัดที่หลวงพ่อปัญญาจุดเทียนส่องธรรมให้เราทุกคนเดินตาม ปณิธานของหลวงพ่อยังคงอยู่ด้วยพวกเราเหล่าศิษย์มีการการปฏิบัติบูชาครูอาจารย์ เป็นการบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญ


..........................
(หมายเหตุ : ขอบคุญข้อมูลจากเฟซบุ๊กhansa dhammahaso และPramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...