วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560
"วัฒนา"ยก14ข้อ!"อียู"คืนดีไทยมีรัฐบาลเลือกตั้งเท่านั้น
วันที่ 12 ธ.ค.2560 นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Watana Muangsook พร้อมแชร์ข้อความจากเพจ European Union in Thailand ความว่า
“ท่าทีของสหภาพยุโรปต่อไทย”
คณะรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป ได้ตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยเน้นย้ำการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนที่สุดโดยผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารซึ่งรวมถึงความผิดที่เกิดก่อนวันที่ 12 กันยายน 2559 การยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่ม การยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมของพรรคการเมือง การเคารพบทบาทของภาคประชาสังคมในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยและอาจจะพิจารณาดำเนินการตามมาตรการอื่นต่อไปตามสถานการณ์ การปรับความสัมพันธ์เข้าสู่ภาวะปกติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น รายละเอียดปรากฏตามผลการประชุมแนบท้ายนี้
วัฒนา เมืองสุข
12 ธันวาคม 2560
ทั้งนี้ ผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย (Council Conclusions on Thailand) เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2560 มีดังนี้
คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union)
1. คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป ยังคงยืนยันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย คณะรัฐมนตรีฯ เล็งเห็นถึงคุณค่าของบทบาทที่ประเทศไทยมีในฐานะประเทศผู้ประสานการเจรจาและสนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศ อียู-อาเซียน (EU-ASEAN Dialogue Relations) ในปัจจุบัน
2. คณะรัฐมนตรีฯ ขอย้ำถึงข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมถึงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
3. คณะรัฐมนตรีฯ ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และเสรีภาพ ซึ่งได้ถูกลดรอนไปอย่างรุนแรงในประเทศไทยหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังคงถูกจำกัดอยู่เป็นอย่างมาก ผ่านกฎหมายและคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมาย คณะรัฐมนตรีฯ ตอกย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าวที่ต้องได้รับการฟื้นฟูขณะที่ประเทศไทยดำเนินการไปสู่ประชาธิปไตย และขอย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าวซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบทบาทของภาคประชาสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้สหภาพยุโรปจะยังคงสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป
4. คณะรัฐมนตรีฯ ส่งเสริมให้ผู้มีอำนาจของไทยดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นระหว่างการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก UPR (Universal Periodic Review) ครั้งที่สองของประเทศไทย (พฤษภาคม 2016)
5. คณะรัฐมนตรีฯ พึงสังเกตว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นภายใน 150 วันหลังจากมีการประกาศใช้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นสี่ฉบับ นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีฯ ยังตั้งข้อสังเกตว่าการเตรียมความพร้อมในทางนิติบัญญัติเพื่อจัดการเลือกตั้งกำลังมีความคืบหน้า ในบริบทนี้คณะรัฐมนตรีฯ ยอบรับแถลงการณ์ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรีฯ เรียกร้องให้มีการประกาศใช้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้เคารพกำหนดการการจัดการเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
6. คณะรัฐมนตรีฯ ตั้งข้อสังเกตถึงการตัดสินใจของผู้นำทางทหารในการลดการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารหลายคดีลง ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559 ทั้งการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คณะรัฐมนตรีฯ เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจของไทยไม่ดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งรวมถึงความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559
7. คณะรัฐมนตรีฯ ทบทวนผลสรุปการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 ที่ระบุว่าสหภาพยุโรปตัดสินใจที่จะทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทย และอาจจะพิจารณาดำเนินการมาตรการอื่นๆ ต่อไปตามสถานการณ์ เมื่อพิจารณาจากความคืบหน้าที่กล่าวไปข้างต้น คณะรัฐมนตรีฯ จึงเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะเริ่มกลับมาปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทยอย่างช้าๆ
8. ดังนั้น คณะรัฐมนตรีฯ ตัดสินใจที่จะกลับเข้าสู่การติดต่อทางการเมืองในทุกระดับกับประเทศไทยเพื่ออำนวยความสะดวกการเจรจาในประเด็นที่มีความสำคัญร่วมกัน อันรวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะใช้จากการเจรจาติดต่อดังกล่าวอย่างเต็มที่เพื่อหยิบยกประเด็นข้อกังวลเหล่านี้
9. คณะรัฐมนตรีฯ อยากเห็นความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นกับประเทศไทย หลังจากการจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและการปรับปรุงของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน สหภาพยุโรปหวังให้ผู้มีอำนาจของไทยจะดำเนินการให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมสามารถทำงานได้อย่างเสรี
10. ในบริบทนี้ คณะรัฐมนตรีฯ ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปสำรวจความเป็นไปได้ในการกลับมาเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรป-ไทย (EU-Thailand Free Trade Agreement)
11. การลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement - PCA ) และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศไทย จะสามารถดำเนินการได้กับรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
12. คณะรัฐมนตรีฯ ย้ำอีกครั้งว่าจะยังคงพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับประเด็นในด้านต่อไปนี้:
- การยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่ม การยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงการเคารพและสนับสนุนการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
- การจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย อันสอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งนำไปสู่สถาบันทางประชาธิปไตยที่ทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
- การเข้าประจำตำแหน่งของรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกแบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
13. สหภาพยุโรปพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศไทยให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ด้วยเจตนารมณ์ของความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วน
14. คณะรัฐมนตรีฯ ขอให้ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมกันติดตามสังเกตการณ์และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีฯ ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าที่เกิดขึ้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น