วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2560
หลาน'ทักษิณ'ชี้รายได้!กระจุกทุนใหญ่ปชช.ลำบาก
วันที่ 14 ธ.ค.2560 นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า จากการที่รัฐบาลดูเหมือนจะดีใจกับตัวเลข จีดีพีไตรมาส 3 ปี 2560 ที่เพิ่มขึ้น และยังพอใจที่จะคาดการณ์ว่า จีดีพีในปี 2561 จะเติบโตมากขึ้นอีกด้วย โดยมีปัจจัยสำคัญคือการที่ประเทศไทยได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น ในข้อเท็จจริง รัฐบาลไม่ควรยึดติดเพียงกับตัวเลขเศรษฐกิจรวมเท่านั้น แต่ควรพิจารณาข้อเท็จจริงในทุกมิติ เพราะรัฐบาลมีภารกิจต่อทุกข์สุขของประชาชนในทุกภาคส่วน และทุกระดับ โดยข้อมูลตัวเลขจีดีพีรวมที่นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมว่า ยกระดับสูงขึ้นนั้น กลับสวนทางกับสภาพความเป็นจริงในความรับรู้ของประชาชนทั่วไปที่เงินในกระเป๋าไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับรากหญ้าที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากยิ่งขึ้น จีดีพีรวม หรือรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นรายได้ที่กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และขนาดกลางบางรายเท่านั้น
ซึ่งได้รับอานิสงค์ จากการขยายตัวของฟันเฟืองเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวคือการส่งออก ที่เป็นสัดส่วน ในการคำนวณ จีดีพีมากถึง 70% จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่ตัวเลขส่งออกเป็นบวกมากกว่า 10% แต่กลับดึงจีดีพีให้ขยายตัวได้เพียง 3.5% เท่านั้น และยังคงเป็นตัวเลขที่รั้งท้าย ด้วยจีดีพีที่ “ต่ำสุด” ในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย
นั่นหมายความว่าเฟืองเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่คิดเป็นสัดส่วนอีกประมาณ 30% กำลังขยายตัวต่ำอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่มีการรัฐประหารมา ดังจะเห็นได้จากปัจจัยการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีตัวเลขที่สูงกว่า 6.7% ในปี 2555 แต่หลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย และธุรกิจเอกชนไม่กล้าลงทุนเพื่อขยายกิจการ จนมีปัญหาการว่างงานกลายเป็นภาวะขาดกำลังซื้อที่เป็นงูกินหาง ดังจะเห็นได้จากรายงานของสภาพัฒน์ฯ ที่ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน ตกต่ำอยู่เพียงประมาณ 3% ในปี 2560
ในขณะเดียวกัน ตัวเลขจากรายงานสภาพัฒน์ฯ ยังบ่งชี้อีกว่าการลงทุนภาคเอกชนที่เคยสูงถึง 14.4% ในปี 2555 หรือช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในช่วงรัฐบาลทหารมีนโยบายมุ่งเน้นใช้จ่ายมากไปกับความมั่นคง แต่ดูจะให้ความสำคัญน้อยมากกับราคาสินค้าเกษตรที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กลับทำให้ภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ต่อเนื่องหลายปี จนต้องตกอยู่ในภาวะติดลบ และแม้จะกลับมาเป็นบวกก็อยู่ในระดับเพียง 2.9% ในปี 2560 ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเคยมีศักยภาพและเหมาะสมแก่การลงทุนเป็นอย่างมาก ข้อบ่งชี้อีกประการคือ การที่ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จากธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2560 ที่เพิ่มสูงมากกว่าสองแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลและภาคเอกชนไม่มีการนำเข้าที่เป็นการลงทุนเครื่องมือทันสมัยจากต่างประเทศ และยังคงน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น หากไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจนเพื่อสร้างอนาคตให้ประเทศในระยะยาว
จึงดูเหมือนจะเหลือเพียงเฟืองเศรษฐกิจตัวสุดท้ายที่ต้องทำงานเพื่อพยุงจีดีพี คือการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ แต่ก็กลับปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงาน และไม่เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ข้อสังเกตทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่กับภาคส่งออก และกลุ่มทุนขนาดใหญ่และขนาดกลางเพียงจำนวนหนึ่งดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งคิดเป็นประชากรเพียงประมาณ 2 ล้านคนจากจำนวนกว่า 60 ล้านคนเท่านั้น การใช้จ่ายของภาครัฐจึงไม่ได้หมุนเวียนไปถึงมือประชาชนรากหญ้าของประเทศแต่อย่างใด ดังปรากฏให้เห็นในรายงานขององค์การอ็อกซ์แฟม (OXFAM) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับปัญหาความยากจนที่ระบุถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยในปี 2559 ว่าปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนรุนแรงมาก เป็นอันดับ 3 (จากเดิมที่เคยอยู่ใน อันดับ 11) ต่อจากประเทศรัสเซีย และอินเดีย เท่านั้น องค์การอ๊อกซ์แฟมยังระบุอีกว่าในหลายปีที่ผ่านมา คนเพียง 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนไทยที่เหลือทั้งประเทศรวมกัน อีกทั้งตัวเลขทะเบียนคนจนของ
รัฐบาลเองก็ยังเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า คนจนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จาก 4.8 ล้านคนในปี 2558 เป็น 11.67 ล้านคนในปี 2560
จึงขอเสนอให้รัฐบาลอย่ามองแค่เพียงตัวเลขจีดีพีรวม ที่ขยายตัวเพียงมิติเดียว แต่ขอให้พิจารณาให้ครบทุกด้านว่า ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และกำลังซื้อของประชาชนตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ไทยประสบภาวะรวยกระจุกจนกระจาย คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีเงินในกระเป๋าและกำลังมีหนี้สินล้นพ้นตัวสามารถลุกลามสร้างปัญหาให้กับความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมได้ หากอยู่ในภาวะปกติ รัฐบาลอาจเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในรูปแบบที่สามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนหลายรอบก่อนจะเคลื่อนไปสู่ภาคธุรกิจรายกลางและรายใหญ่ ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนทั้งในประเทศ และจากนานาประเทศให้ขยายการลงทุน และสามารถส่งผลดีเป็นทวีคูณกับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาวะที่ประเทศไม่อยู่ในภาวะประชาธิปไตยอันเป็นปกติ ความมั่นใจ ทั้งในการอุปโภคบริโภค และการลงทุนจากภาคเอกชนย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย รัฐบาลจึงควรมีความชัดเจนกับการคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น หยุดถ่วงเวลา ฉุดรั้งการเติบโตของประเทศเพื่อให้ไทยได้เดินหน้าอย่างเต็มศักยภาพอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น