วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
มหาจุฬาฯเสริมเสน่ห์พัฒนาจิตใจด้วยวิปัสสนา
มหาจุฬาฯส่งเสริมธุระทางพระพุทธศาสนา เสริมเสน่ห์พัฒนาภายในด้วยวิปัสสนา ตามแนวสติปัฏฐานสันติวิถีมุ่งปลูกฝังสติเป็นรากฐานของสันติภาพ ฝึกตนเป็นบุคคลแห่งสันติภาพโลก
ระหว่างวันที่ 1-15 ธ.ค. 2560 วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติร่วมกับหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ภายใต้การนำของพระหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและผู้อำนวยการหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา มจร โครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติถวายเป็นพระราชกุศล ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาจุฬาอาศรม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีนิสิตทั้งพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณรี แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมประมาณ 130 รูป/คน ซึ่งเป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย
โครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติถวายเป็นพระราชกุศลดังกล่าวได้รับความเมตตาจาก ดร.สยาดอภัททันตะวิโรจนะ มหาคันถวาจกบัณฑิต มหากัมมัฏฐานาจริยะ สำนักวิปัสสนาวัดงุยเตาอูกัมมัฏฐาน ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ เป็นประธานนำฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและแสดงธรรมแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ดังนั้น ผู้สนใจร่วมสนับสนุนโครงการนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมปฏิบัติหรือร่วมสนับสนุนอาหาร-น้ำปานะผู้ปฏิบัติธรรมได้ที่ พระมหาดนัย โทร.063-5615326
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา พระราชสิทธิมุนี ดร. ผู้อำนวยสถาบันวิปัสสนาธุระ มจร ได้ให้โอวาทผู้เข้าร่วมโครงการความว่า ศึกษาพระไตรปิฏกและวิชาชั้นสูงถือว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญของมหาจุฬา เราจึงต้องมีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่นิสิตจนถึงผู้บริหารบุคลากรทุกส่วนของมหาจุฬา ในปีนี้ท่านอธิการบดีมหาจุฬามีนโยบายให้บุคลากรทุกท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยสถาบันวิปัสสนาธุระเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้สอดคล้องกับธุระในทางพระพุทธศาสนา 2 ประการ คือ คันถธุระ เป็นการศึกษาปริยัติทางพระพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่ มีความจำเป็นต้องศึกษาเพื่อเข้าใจแนวคิด หลักการทฤษฏีต่างๆ ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าและศาสตร์สมัยใหม่ และ วิปัสสนาธุระ ถือว่าเป็นธุระที่สำคัญที่สุดที่มหาจุฬาให้ความสำคัญ โดยนิสิตทุกระดับต้องผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง สร้างสันติภายในใจของตน เรียกว่า " วิชายอด จรณะเยี่ยม "
ถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติบูชา ถือว่าเป็นการบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องอย่างยิ่ง พระราชสิทธิสิทธิมุนี ดร. วิ. ได้ให้กำลังใจและกล่าวชื่นชมกับผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและสันติศึกษา ในการส่งเสริมสนับสนุนให้นิสิตปฏิบัติที่ถูกต้องได้มาตรฐานตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า โอกาสนี้พระราชสิทธิมุนี ดร.วิ. เมตตาสอบอารมณ์นิสิตนานาชาติและสันติศึกษาเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถือว่าพระเดชพระคุณเป็นครูผู้ชี้แนวทาง
พระพุทธเจ้าเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครูมีไว้ขึ้น ไม่ได้มีไว้ล้าง บุคคลใดก็ตามที่ชี้แนะแนวทางตักเตือน ชื่อว่าครู นักปราชญ์กล่าวว่า " เห็นคนเดินมาสองคน คนหนึ่งเป็นคนดี อีกคนหนึ่งเป็นเลว ทั้งสองคนสามารถเป็นครูของเรา คนดีเราก็เอาอย่างเขา คนเลวเราก็อย่าเอาอย่างเขา " ครูจึงมีทั้งครูทางโลกและครูทางธรรม หรือแม้แต่ประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตก็สามารถครูของเรา พระพุทธเจ้าทรงเป็น " สตฺถา เทวมนุสฺสานํ "หมายถึง ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย , ทรงเป็นครูของบุคคลทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ , ทรง ประกอบด้วยคุณสมบัติของครูและทรงทำหน้าที่ของครูเป็นอย่างดี คือทรงพร่ำสอนด้วยมหากรุณาหวังให้ผู้อื่นได้ ความรู้อย่างแท้จริง , ทรงสอนมุ่งความจริงและประโยชน์เป็นที่ตั้ง ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ด้วยประโยชน์ทั้งทิฏฐธัมมิ กัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ , ทรงรู้จริงและปฏิบัติด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติตาม ทรงทำกับตรัสเหมือนกัน ไม่ใช่ตรัสสอนอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง , ทรงฉลาดในวิธีสอน , และทรงเป็นผู้นำหมู่ดุจนาย กองเกวียน
"ดังนั้น ความเคารพเป็นอาภรณ์ของลูกศิษย์ ศิษย์ที่ดีจึงต้องกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ จะนำมาซึ่งความเจริญในหน้าที่การงาน เพราะทุกอาชีพย่อมเป็นครูอาจารย์ให้คำชี้แนะแนวทาง ครูจึงเป็นผู้มีปิโยต่อศิษย์ มีความรักและความเมตตาต่อศิษย์ สอนให้ศิษย์ในทางความดี" ผู้อำนวยสถาบันวิปัสสนาธุระ มจร กล่าว
ภาวะจิตอันสงบทำให้เกิดแห่ง"อหิงสา"
พระปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ผู้เข้าร่วมโครงการด้วย ระบุว่า ท่ามกลางภาวะจิตอันสงบทำให้เกิดแห่ง "อหิงสา" เป็นการไม่เบียดเบียน การไม่ใช้ความรุนแรง การไม่กดขี่ข่มเหง การไม่ทำทารุณกรรม การไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย การไม่ฆ่าเองหรือไม่สั่งให้ใครไปฆ่า หมายถึง การมีเมตตาการุณย์ต่อสรรพชีวิต สรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้าโดยไม่เลือกที่รักไม่มักที่ชัง โดยการปราศจากการแบ่งแยก ซึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานมานั้น มนุษยชาติมนุษย์กระทำการกดขี่ ข่มเหง เบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกัน เพียงเพื่อตนเองอยู่รอดปลอดภัย เพียงเพื่อให้ตนเองครอบครองยศ ทรัพย์ อำนาจ ทรัพยากร ชื่อเสียง เพียงเพื่อให้คนที่เห็นต่าง เชื่อต่าง พูดต่างมาศรัทธาเช่นเดียวกับที่ตนเชื่อ ใครที่มีความเห็นต่างใช้วิธีการกดขี่บีฑามาเป็นเครื่องมือทำลายและทำร้ายให้คนเหล่านั้นบาดเจ็บล้มตาย หิงสกรรมที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเองเกิดจากความเขลา ความโลภ ความอหังการในการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย หากปราศจากปัญญา เมตตา ขันติธรรมแล้ว การปฏิบัติเบียดเบียนบีฑาเพื่อนมนุษย์ด้วยน้ำมือของมนุษย์ก็ยังคงมีต่อไป
ทำอย่างไรมนุษย์ในสากลโลกจะสาสามารถอยู่ร่วมกันฉันกัลยาณมิตร คำตอบคือ ต้องส่งเสริมให้มนุษย์พัฒนาปัญญา จนสามารถก้าวข้ามเปลือกของความเป็นมนุษย์ที่ทำให้เรารู้สึกแบ่งแยกออกจากกัน เราต้องช่วยกันปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งอหิงสธรรมลงไปในใจมหาชนด้วยวิธีการ คือ
1) ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา " เรารักสุขเกลียดทุกข์ กลัวความตายฉันใด คนอื่นชีวิตอื่นก็รักสุข เกลียดทุกข์และกลัวความฉันนั้น "
2) เราต้องหยัดยืนว่าไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง เราจะตอบสนองต่อความรุนแรงด้วยสันติวิธีเสมอ พระพุทธเจ้าตรัสว่า " หากศัตรูจับเธอมัดตรึงสองมือสองเท้า จากนั้นหั่นเธอเป็นสองท่อนด้วยเลื่อยอันคม หากเธอโกรธตอบคนเหล่านั้น เธอย่อมไม่คู่ควรแก่การเป็นสากลของเราตถาคต "
3) ก้าวข้ามเปลือกผิวของความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้ลึกซึ้งว่า " คนที่แตกต่างจากเราไม่ว่าจะด้วยเรื่องเพศ ผิว เผ่าพันธุ์ วรรณะ ความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ " เขาเหล่านั้นคือคนเหมือนกับเรา มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เสมอกันกับเรา ทุกคนมีความเท่าเทียมในฐานะที่เป็นมนุษย์ จึงไม่มีใครที่คู่ควรแก่ความโกรธ เกลียด ชิงชัง ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม
พระปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น เราจึงควรเคารพทุกคนให้เกียรติทุกคน เพราะ "เราทุกคนคือชาติเดียวกัน" เป็นมนุษยชาติเหมือนกัน หากเราบ่มเพาะเมตตา ขันติธรรม เคารพในศักด์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ปราศจากการเบียดเบียนไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน นั่นคือ สวรรค์บนผืนพิภพที่เราทุกคนสามารถร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมาได้อย่างแน่นอน
สันติวิถี : สติเป็นรากฐานของสันติภาพ
พระปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า นิพพานเป็นภาวะที่ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดมัดตรึง หรือ ภาวะที่จิตเป็นอิสระจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง แปลสั้นๆ ว่า " อิสรภาพทางจิต " นิพพานเป็นวิวัฒนาการสูงสุดทางปัญญาของมนุษยชาติ ผู้ใดก็ตามปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างครบถ้วน ผู้นั้นมีสิทธิ์บรรลุนิพพานได้ในชีวิตนี้ ตั้งแต่สัมมาทิฐิถึงสัมมาสมาธิ แม้องค์แห่งมรรคาจะดูเหมือนว่ามีมาก แต่ในทางปฏิบัตินั้นหากหมั่นเจริญสติตามวิธีแห่งสติปัฏฐาน 4 ด้วยการตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะในเรื่องที่คิด ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว ก็เท่ากับว่าได้เจริญองค์มรรคทุกข้อ ไปพร้อมๆกัน เพราะ " สติเป็นดั่งหนึ่งมารดาแห่งธรรมทั้งปวง " ผู้ใดมีสติใจของผู้นั้นก็เปี่ยมด้วยสันติ " สติจึงเป็นรากฐานของสันติ " เมื่อปัจเจกบุคคลมีสติประจำอยู่ในเรือนใจแล้ว การคิด การพูด การทำ ย่อมเปี่ยมไปด้วยพลังงานแห่งสันติ สติและสันติส่วนบุคคลจึงเป็นรากฐานแห่งสันติภาพสากลของคนทั้งโลก โลกของเราจะมีสันติภาพไม่ได้เลย หาดปัจเจกบุคคลไม่มีสติและสันติประจำอยู่ในเรือนใจ หรือกล่าวว่า " สติในใจคน คือ สันติในโลก "
ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นนิพพานกับสันติภาพเป็นสิ่งเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า" นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ : ไม่มีสุขใดยิ่งไปกว่าสันติสุข " ผู้บรรลุพระนิพพาน คือ ผู้บรรลุถึงสันติภาพขั้นสูงสุด ปลายทางของสันติภาพที่ชื่อนิพพานนี้คือ การย้อนกลับมาช่วยเหลือเกื้อการุณย์ให้โลกนี้มีสันติภาพยิ่งๆ ขึ้นไป เหมือนกับเมธีแห่งพุทธธรรม่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า " บุคคลนิพพาน ทำการเพื่อโลก " ผู้บรรลุนิพพานเป็นผู้ทำงานเพื่อสันติภาพโลกอย่างแท้จริง นิพพานจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงถึงส่วนร่วมและส่วนโลกอย่างไม่อาจแยกออกจากกัน
"ดังนั้น สันติวิถีจึงเป็นหนทางของการฝึกตนให้เป็นบุคคลแห่งสันติภาพ เพราะ " สันติภาพในโลก เริ่มจากสันติภาพในใจเรา " มนุษย์ในโลกใบนี้ล้วนสามารถเข้าถึงสันติภาพภายในด้วยการปฏิบัติตามอริยมรรคมีสติปัฏฐาน 4 เป็นวิธีนำไปสู่สันติภาพ" พระปราโมทย์ กล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น