วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
รองอธิการบดี"มจร"แนะใช้วิปัสสนาเป็นฐานพัฒนายุค 4.0
รองอธิการบดี"มจร"แนะใช้วิปัสสนาเป็นฐานพัฒนายุค 4.0 ชี้เป็นฐานของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ยั่งยืน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จากความทุกข์ได้
วันที่ 15 ธ.ค.2560 เป็นวันสุดท้ายของโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติถวายเป็นพระราชกุศลระหว่างวันที่ 1-15 ธ.ค. 2560 ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติร่วมกับหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ภายใต้การนำของพระหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและผู้อำนวยการหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา มจร ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาจุฬาอาศรม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีนิสิตทั้งพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณรี แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมประมาณ 130 รูป/คน ซึ่งเป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย
โครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติถวายเป็นพระราชกุศลดังกล่าวได้รับความเมตตาจาก ดร.สยาดอภัททันตะวิโรจนะ มหาคันถวาจกบัณฑิต มหากัมมัฏฐานาจริยะ สำนักวิปัสสนาวัดงุยเตาอูกัมมัฏฐาน ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ เป็นประธานนำฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและแสดงธรรมแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
ในการนี้พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร ได้เป็นประธานปิดโครงการพร้อมให้โอวาทว่า ขออนุโมทนาการปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรามาปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับตามมหาวิทยาลัยกำหนด แต่การปฏิบัติกรรมฐานเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์โดยตรง ก่อนเราจะไปสอนคนอื่นได้เราต้องเรียนปริยัติและฝึกปฏิบัติถึงจะเข้าถึงปฎิเวธ แล้วนำไปสู่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ยั่งยืน ซึ่งการเผยแผ่คำสอนเป็นการคุ้มครองป้องกันพระพุทธศาสนาที่ดีที่สุด รวมถึงเพื่อความสำเร็จของชีวิตเราต้องเริ่มต้นจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พระไตรปิฎกตอนหนึ่งพระบาลี ตามนัยแห่งมูลฎีกาแสดงวินิจฉัยคำ “กรรมฐาน” ไว้ว่า กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺส ฐานนฺติ กมฺมฐาน แปลว่าการงานที่เป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษชื่อว่ากรรมฐานกรรมคือพื้นฐานแห่งความสำเร็จ นั่นคือ กรรมฐาน ไม่ว่าเราจะทำอะไรกรรมฐานเป็นพื้นฐานสำคัญมาก ถ้าเรามีกรรมฐานจะทำให้เราสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน
เราได้เรียนรู้ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการศึกษาที่นำไปสู่ความสำเร็จ ปัญญาภายในของเรา คือ " ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา " พระพุทธเจ้าทรงสอนมี 84,000 พระธรรมขันธ์ ซึ่งจริงๆ ก็อยู่ในร่างกายของเรา ชีวิตมนุษย์จึงมีความสำคัญ บางคนสามารถเข้าถึงปัญญาภายใน เป็นคุณธรรมที่สูงขึ้น บางคนไม่สามารถเข้าถึงปัญญาภายใน มนุษย์จึงพยายามจะมีการปรุงแต่ง แต่จริงๆ ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เราจะต้องเคารพทุกๆ คน จากการฝึกตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่การฝึกโยคะก็เป็นเอาพลัง 5 อย่างออกมา คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความสำเร็จ ในการปฏิบัติของมหายาน จะมุ่งเน้น 2 อย่าง คือ ศรัทธาและปัญญา ถือว่าเป็นพลังแห่งความสำเร็จของชีวิต
การปฏิบัติภายใน 15 วัน มั่นใจว่าจะเกิดพลังจากภายใน เป็นบุคคลที่มีพลังทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน ถือว่าเป็นอานิสงส์แห่งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งปัจจุบันเราคุยเรื่องไทยแลนด์ 4.0 คนจะมีปัญหาเรื่องจิตใจเป็นจำนวนมาก เพราะโลกขับเคลื่อนไปความรวดเร็ว ทำให้พระสงฆ์จะต้องออกไปช่วยเหลือสังคมเมื่อท่านเรียนจบ โดยการพัฒนาประโยชน์ส่วนตนและออกไปช่วยเหลือคนอื่นในประเทศของท่าน เราจะต้องเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้นำ เข้าไปช่วยคนที่มีปัญหาความทุกข์ทางจิตใจ ยุค 4.0 คนมีความทุกข์ทางจิตใจ เราจะช่วยเหลือเพื่อมนุษย์อย่างไร
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการพัฒนาตนให้มีคุณภาพนั้นจะต้อง " ศึกษาปริยัติ ปฏิบัติกรรมฐาน สู่การทำงานให้เกิดปฏิเวธ" พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. เน้นย้ำว่า ต้องสร้างปัญญาแห่งภายในด้วยการเริ่มต้นจากศรัทธาจนพัฒนาไปถึงปัญญา กว่าจะถึงปัญญาต้องผ่านวิริยะ สติ สมาธิ ตามลำดับ ศึกษาจึงต้องลงลึกขั้นปริยัติและนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อจบประโยชน์ตนแล้วนึกถึงประโยชน์คนอื่น เพื่อจาริกไปโดยเน้นความสุขของมหาชนต่อไป
..............
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
โครงสร้างนิยายเรื่อง "สันติที่รัก"
โครงสร้างนิยายเรื่อง "สันติที่รัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่อง...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น