วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2560

มุมมองผู้หญิงเข้าไปในพระอุโบสถเงินเชียงใหม่ แนะไม่ควรละเมิดจุดห้ามหรือความเข้าใจที่อ่อนแอ




จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปสตรี  3 คนเข้าไปในพระอุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงความไม่เหมาะสม และที่สำคัญคล้ายเป็นการลบหลู่จารีตประเพณีล้านนาที่ประพฤติต่อกันมาอย่างยาวนานกว่า 500 ปี ทั้งที่มีป้ายห้ามสตรีเข้าอย่างเด่นชัดพร้อมกับมีการติดป้ายเตือนอย่างชัดเจน เรื่องนี้  ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักศาสนวิทยา ศาสนศาสตร์ และปรัชญา ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat ความโดยสรุปว่า 



"อุโบสถ เดิมเป็นสถานที่ที่พระภิกษุใช้ทำสังฆกรรม ซึ่งแต่เดิมจะใช้เพียงพื้นที่โล่งๆ ที่กำหนดเขตโดยใช้สีมาเท่านั้น แต่ต่อมาก็มีการสร้างเป็นอาคารถาวรและมักมีการประดับตกแต่ง ปกติอุบาสกอุบาสิกา (ชายหญิง) ก็จะเข้าไปได้เพื่อรักษาอุโบสถศีลหรือทำบุญ แต่วัดนี้เชื่อว่าเขาคงมีของขลังอะไรบางอย่างอยู่ ที่เขาเชื่อว่าหากสตรีเข้าจะทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสื่อม ตามคติที่มักมองสตรีว่าเป็นมารหรือเป็นศัตรูต่อการเข้าถึงธรรมะของบุรุษ และบุรุษเข้าถึงธรรมะชั้นสูงได้มากกว่า ก็เลยเป็นเช่นนี้แล



แต่ที่สำคัญคือ คนไทยทั่วไปก็เชื่อและรับคติเช่นนี้มาตลอดโดยสนิทใจ ไม่เคยถามไม่เคย(กล้า)แย้ง ด้วยความนอบน้อม ซึ่งก็เป็นไปตามค่านิยมเอเชียที่ว่าคนดีคือคนหัวอ่อน คออ่อน หลังอ่อน และมืออ่อน ขอเสนออย่างสร้างสรรค์ว่าน่าจะมีการทำป้ายชี้แจงว่า การที่ห้ามอย่างนี้ต่างจากที่อื่นอย่างไร เพราะอะไร ก็น่าจะลดความรู้สึกได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าทางคณะที่เป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลสถานที่เขามีกฎว่าห้ามสตรีขึ้น ก็ไม่ควรไปละเมิดนะ แค่ถ่ายรูปแล้วเอามาเผยแพร่วิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วยก่อนดีกว่าไปฝ่าฝืนก่อนแสดงความไม่เห็นด้วย ทำตามขั้นตอนได้ก็ควรทำ" 



ด้านพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักเทศน์ชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีเดียวกันนี้ว่า “แค่มองอะไร ด้วยความรู้สึกของคนในพื้นที่ กับคนนอกนี่ บางทีมันก็ต่างกันแล้วนะ บางทีเราเป็นคนนอก เป็นนักท่องเที่ยว เราเรียกร้องอยากให้สถานที่ที่เราเข้าไปเที่ยวเข้าไปดู อำนวยความสะดวก อำนวยอะไรต่างๆ ให้กับเรา ทำตามใจเรา อยากให้นุ่งสั้นได้ ใส่รองเท้าเข้าไปได้ ไม่ต้องคลุมศีรษะเข้าไปได้ เพราะเราแค่อยากได้ความสบาย แค่อยากแค่ไปเที่ยว อยากไปถ่ายรูป อยากไปดู โดยที่อีกมุมหนึ่งเราลืมไปว่า ที่ท่องเที่ยวบางแห่ง ในทางกลับกัน มันถูกมองหรือให้คุณค่าด้วยความรู้สึกของคนในพื้นที่อีกแบบหนึ่งนะ เขาเคารพของเขานะ เขานับถือของเขานะ เขามีธรรมเนียมปฏิบัติร่วมกันของพวกเขานะ ซึ่งเรื่องอะไรแบบนี้บางทีเราลืม




อย่างไรก็ตามมีความเห็นของพระไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ เผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ แม้นว่าจะไม่เกี่ยวข้อกับเหตุการณ์ข้างต้น แต่พอจะอนุโลมเป็นข้อคิดได้จึงนำมาเสนอประกอบ โดยมีข้อความดังนี้



"มีเหตุการณ์หนึ่งน่าสนใจ มีสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในอเมริกา สมาชิกเป็นฆราวาสทั้งนั้น  กรรมการสถานปฏิบัติธรรมนี้มีความเห็นว่า ควรจัดให้มีการจัดอบรมสันติวิธีแก่สมาชิก  เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการคลี่คลายความขัดแย้ง ไม่ว่าในครอบครัว ในที่ทำงาน ในสังคม จึงเชิญวิทยากรคนหนึ่งมาฝึกอบรมสันติวิธีเป็นเวลาสองวัน  โดยใช้ห้องสวดมนต์เป็นสถานที่จัดอบรม



วันแรกผ่านไปด้วยดี  วันที่สองวิทยากรอยากจะฝึกให้ยากขึ้น จึงสร้างเหตุการณ์สมมุติขึ้นมาว่า  มีผู้ก่อการร้ายจับตัวประกันสองคน ให้สมาชิกสองคนรับบทเป็น “ตัวประกัน” คนที่เหลือสวมบทบาทเป็นผู้เจรจาเพื่อให้สองคนนั้นได้รับอิสรภาพ  ส่วนวิทยากรรับบทเป็นผู้ก่อการร้าย  เมื่อชี้แจงบทเรียบร้อยแล้ว เขาก็ควักบุหรี่ออกมาสูบ



ผู้เข้าฝึกอบรมคนหนึ่งประท้วงขึ้นมาทันทีว่า “ที่นี่ห้ามสูบบุหรี่ เพราะนี้เป็นห้องสวดมนต์” ผู้ก่อการร้ายตอบว่า  “ผมไม่สนใจหรอก  คุณอยากเจรจาเรื่องสูบบุหรี่ หรืออยากให้เพื่อนของคุณได้อิสรภาพ?” ผู้เข้าอบรมก็บอกว่า “ถ้าคุณสูบบุหรี่ในนี้ เราก็ไม่เจรจากับคุณ” ผู้ก่อการร้ายจึงพูดว่า “ก็ได้ หยุดสูบก็ได้” ว่าแล้วก็เดินไปที่แท่นบูชา แล้วขยี้ก้นบุหรี่บนตักพระพุทธรูป”


ทุกคนในห้องไม่พอใจมาก มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “คุณรู้ไหมว่าทำอะไรลงไป นี่พระพุทธรูปนะ”


ผู้ก่อการร้ายตอบว่า “ผมไม่สนใจ นี่ไม่ใช่พระพุทธรูปของผม  และนี่ก็ไม่ใช่ห้องสวดมนต์ของผม  ตอนนี้ผมหยุดสูบบุหรี่แล้ว  พวกคุณอยากเจรจาเรื่องเพื่อนของคุณหรือเปล่า ไม่งั้นผมก็จะออกจากห้องนี้ไป”


ตอนนี้ทุกคนโมโหจนลืมไปว่าตนกำลังสวมบทบาทสมมุติ  มีคนหนึ่งบอกเขาว่า “เราเชิญคุณมาที่นี่เพื่อจัดอบรม  เรารู้ว่าคุณไม่ใช่ชาวพุทธ แต่นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา คุณควรเคารพสถานที่แห่งนี้ด้วย”


วิทยากรซึ่งยังสวมบทผู้ก่อการร้ายอยู่จึงพูดว่า “คุณอยากรู้ว่าผมเคารพสถานที่นี้แค่ไหนหรือ?” ว่าแล้วเขาก็เดินไปมุมห้องแล้วฉี่ใส่พื้น


เท่านั้นแหละทุกคนอดใจไม่อยู่ ต่างวิ่งไปทำร้ายเขา  เตะต่อยสารพัด จนเขาล้มลง แต่ก็หนีออกมาได้ พร้อมกับบอกให้ “ตัวประกัน” เป็นอิสระ แล้วเขาก็ไม่กลับมาอีกเลย


คำถามคือ ทำไมผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งตั้งใจฝึกสันติวิธี จึงลงเอยด้วยการเตะต่อยวิทยากร ทั้งที่หลายคนไม่เคยทำร้ายใคร ยุงก็ไม่ตบ บางคนกินมังสวิรัติด้วย คำตอบก็คือ เพราะคนเหล่านั้นเห็นว่า วิทยากรทำไม่ถูกต้อง แต่เขาลืมไปว่า นี่เป็นการแสดง ไม่ใช่ของจริง และเป็นความตั้งใจของวิทยากรที่อยากให้โจทย์ยากๆ ว่าจะใช้สันติวิธีได้อย่างไรหากถูกยั่วยุหรือเจอเรื่องกระทบใจ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านั้นกลับลืมตัวเมื่อถูกยั่วยุ หันไปใช้ความรุนแรงกับวิทยากร   


ทำไมเขาเหล่านั้นลืมตัว  ก็เพราะเขาเห็นความไม่ถูกต้อง และเนื่องจากยึดมั่นในความถูกต้องมาก พอเห็นคนอื่นทำสิ่งไม่ถูกต้อง ก็เลยลืมตัว ลืมไปว่า นี่คือเรื่องสมมุติ เป็นแบบฝึกหัดเพื่อใช้สันติวิธีแก้ปัญหา ผลก็คือ ทุกคนสอบตกหมดเลย ทั้งๆ ที่เป็นแค่การซ้อมหรือเป็นสถานการณ์จำลองเท่านั้น


นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การมีสำนึกเรื่องความถูกต้อง แม้เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมันมาก เราอาจจะลงเอยด้วยการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาได้


ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า "ความดี ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็กัดเจ้าของได้" ผู้คนจำนวนไม่น้อยทุกข์เพราะความดี ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจทำให้คนอื่นทุกข์ เพราะยึดมั่นในความดีแบบของตนด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ  บินลาดิน หรือ ไอเอส คนเหล่านี้เชื่อมั่นว่าเขาทำความดี  เขากำลังอุทิศตนเพื่อพระเจ้า เมื่อมีความไม่ดีหรือความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น เขาก็ต้องจัดการโค่นล้มหรือทำลาย ซึ่งรวมถึงสังหารคนที่คิดหรือทำไม่เหมือนเขา


กลุ่มไอเอสเกลียดคนยุโรปมาก เพราะว่าเป็นพวกวัตถุนิยม บูชาเนื้อหนัง  กระทำสิ่งที่เหยียดหยามพระเจ้า เพราะฉะนั้นจึงต้องทำลาย  เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เข้าไปก่อการร้ายในปารีส ฆ่าผู้คนนับร้อย กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก คนเหล่านี้ทำในนามของความถูกต้อง ในนามของสิ่งสูงส่ง คือพระเจ้า แต่ความยึดมั่นถือมั่นนั้น กลับทำให้เขาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำสิ่งที่ชั่วร้ายได้



นี้เป็นสิ่งที่เราต้องระวังมาก โดยเฉพาะผู้ใฝ่ธรรม เมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่าเราเป็นคนดี มีความเชื่อที่ดีงาม หากยึดมั่นในความเชื่อของเรา  เราก็อยากให้คนอื่นเป็นเหมือนเรา เชื่อเหมือนเรา แต่ถ้าเขาเชื่อไม่เหมือนเรา เห็นแย้งเรา เราก็เห็นเขาเป็นศัตรู แล้วความโกรธความเกลียดก็ตามมา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๗. วรรคที่ ๗ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต

  วิเคราะห์ ๗. วรรคที่ ๗ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต: ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎก...