วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560
มส.ตรวจเยี่ยมนิสิต"มจร"ปฏิบัติธรรมประจำปี2560
มส.ตรวจเยี่ยมนิสิต"มจร"ปฏิบัติธรรมประจำปี 2560 ชี้การศึกษามหาจุฬาฯเพื่อรักษาคำสอนพระพุทธศาสนาให้โอกาสการพัฒนาปริยัติและปฏิบัติ เตือนอย่าแสวงหาเป้าหมายชีวิตผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าจิตตกรีบยกจิต
วันที่ 24 ธ.ค.2560 พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ตรวจเยี่ยมโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐานประจำปีการศึกษา 2560 ของนิสิตระดับปริญญาตรีในส่วนกลางที่อาคารหอประชุม มวก.48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามระเบียบมหาวิทยาลัยทุกปีการศึกษานิสิตทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจะต้องเข้ารับการฝึกภาคปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามสถานที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนดในพิธีเปิด โดยปีการศึกษานี้มีนิสิตทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 17,694 รูป/คน ระหว่างเดือนธันวาคม 2560 และมกราคม 2561
ในโอกาศนี้พระพรหมบัณฑิต ได้ให้โอวาทความว่า ขอแสดงความชื่นชมยินดีที่มีโอกาสปฏิบัติธรรมเป็นบุญพิเศษสำหรับนิสิตและคณาจารย์ ซึ่งศึกษาปริยัติแล้วมาปฏิบัติ เป็นการพัฒนาตนพัฒนาจิตใจของนิสิต สมกับปรัชญามหาจุฬา ที่ว่า "จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม " การพัฒนาจิตใจเราได้จากการมาปฏิบัติ เมื่อพัฒนาตนเองแล้วก็ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพีฒนาสังคมต่อไป ปฏิบัติจนสามารถแนะนำคนอื่นได้ การพัฒนาชาติเริ่มประชาชน พัฒนาคนเริ่มที่จิตใจ พัฒนาอะไรต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน การปฏิบัติกรรมฐานกับการพัฒนาตนเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งปริยัติและปฏิบัติเป็นเกื้อกูลกัน ปริยัติเป็นลายแทงไปหาขุมทรัพย์
การเดินทางตามลายแทงคือ การปฏิบัติ ได้พบขุมทรัพย์คือปฏิเวธ ถ้าลายแทงผิดเราก็เดินทางหาขุมทรัพย์ผิดที่ ไม่พบขุมทรัพย์ ปริยัติเป็นสิ่งสำคัญเพื่อไปหาขุมทรัพย์ ซึ่งปริยัติเป็นการศึกษาพระไตรปิฏกเป็นฐานของการปฏิบัติ ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจะอยู่รอดที่เพราะการมีปริยัติปฏิบัติและนำไปสู่ปฏิเวธ ปริยัติบริบูรณ์สามารถทำให้ปฏิบัติและปฏิเวธบริบูรณ์ได้ หมายถึง เวลาการจัดสอนกรรมฐาน ผู้สอนคือพระวิปัสสนาจารย์ใช้ปริยัติมาสอนนิสิต จะต้องศึกษาปริยัติมาอย่างถ่องแท้ให้เกิดความเข้าใจ มาสอนถูกต้อง ผู้ปฏิบัติจะได้ปฏิบัติถูก แต่ถ้าศึกษาปริยัติมาผิดก็สอนผิด ปฏิบัติผิด ทำให้เดินทางไปในทางที่ผิด ส่งผลให้ขึ้นท่าเรือผิด หรือไปสู่เป้าหมายอื่น ซึ่งไม่ใช่พระนิพพาน ผิดไปจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา เราเรียกว่าเดียรถีย์ หมายถึง ผู้แสวงหาเป้าหมายชีวิตผิดไปจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพราะปริยัติผิดปฏิบัติจึงผิด ปฏิเวธก็ไม่เกิดผล
ดังนั้น ปริยัติเป็นหลักในการดำรงพระพุทธศาสนา การศึกษาในมหาจุฬาเพื่อศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่การศึกษาเพียงทฤษฏีไม่มีการปฏิบัติ ย่อมไม่ส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตจิตใจ จึงต้องปฏิบัติ พัฒนาชีวิตในฐานะเป็นคนดีของสังคม เรามีคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐาน คุณธรรมของผู้เรียนต้องมีฉันทะ มีใจรักในการเรียนรู้ ชอบวิชาที่เรารัก จึงทำให้เราประสบความสำเร็จ เมื่อเราไม่มีฉันทะ ก็ขาดสมาธิ เรียกว่า ฉันทะสมาธิ ถ้าเราขาดฉันทสมาธิทำให้การเรียนไม่สำเร็จ การปฏิบัติเป็นการฝึกจิตเอาไปช่วยปริยัติในการเรียนการการสอนการทำงาน ทำอย่างไรไม่ให้จิตตก เราต้องฝึกการยกจิตให้สูงขึ้น " ถ้าจิตตกให้ยกจิต " กำลังเรียนอยู่จิตตก เราต้องรีบยกจิตให้มาอยู่กับอารมณ์ในปัจจุบัน การฝึกกรรมฐานจะช่วยให้เรามีจิตอยู่ในปัจจุบัน เรานำไปใช้ในการเรียน เพราะถ้าจิตตกจิตวุ่นวาย กรรมฐานจะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน
ฉะนั้น หัวใจสำคัญ คือ "จิตตกให้ยกจิต" เมื่อเราเรียนหรือมีอคติกับผู้สอน เราไม่อยากเรียนเราไม่อยากทำงาน ท้อแท้ เหนื่อย ให้เรารีบยกจิตของเรา ดั่งสิทธัตถะนั่งอยู่กลางป่าอันมืดสนิท มีความกลัว แต่ท่านมีโยนิโสมนสิการ คิดตรวจสอบความกลัว โดยบอกกับตนเองว่า ถ้านั่งอยู่เกิดความกลัว จะนั่งจนหายกลัว คิดไม่ยอมแพ้ คิดไม่หนีเข้าวัง " โยนิโสมนสิการเป็นอาหารของสติ " เห็นคุณค่าในวิชานั้นๆ ที่เราเรียน มองเห็นคุณค่าของวิชาที่เราเรียนเราศึกษา จิตจะเบิกบานในสิ่งที่เรียน ปริยัติรักษาพระพุทธศาสนา ปฏิบัติทำให้เราเรียนปริยัติได้ดีขึ้น เรียนเก่ง เพราะมีฉันทะและโยนิโสมนสิการ เมื่อเราเห็นคุณค่าการปฏิบัติเราจึงออกไปเผยแผ่ได้อย่างมั่นใจ ปฏิบัติเกื้อต่อการปริยัติและการทำงาน มหาจุฬาให้โอกาสทุกคนที่เข้ามาเรียนพัฒนาตนเอง
.........
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กPramote OD Pantapat พระปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาจาสันติศึกษา มจร)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร
"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น