วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"กิ๊กภัย"ภัยของครอบครัวยุค ๔.๐ คิดจะรักต้องรักให้เป็นรักด้วยปัญญา

     

ในยุค ๔.๐ เราเห็นเหตุการณ์ของความรักที่สามารถทำลายหรือฆ่ากันได้ ด้วยประโยคที่ว่า " หมดรัก " อะไรเป็นสาเหตุที่นำไปคำว่าหมดรัก เพราะพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนแล้ว " มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ต้องการความรักมากกว่าความเจ็บปวด " ซึ่งความจริงความรักเป็นสิ่งสวยงามฆ่าใครไม่ได้แต่ตัวโทสะที่ฝังรากลึกใต้ภูเขาน้ำแข็งระเบิดออกมานั่นเองที่ฆ่าคนอื่นได้และหัวใจที่ขาดความรักมนุษย์จึงโหยหาในรูปแบบต่างๆ ในปัจจุบันมนุษย์มีความเจ็บปวดเพราะความรักอยู่บ่อยครั้ง เพราะจริงๆ แล้วมนุษย์เอง หนีไม่พ้นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า " นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ หมายถึง  ความรักอื่นเสมอด้วยตนไม่มี "  มนุษย์ทุกคนรักตนเองเสมอในความเป็นจริงเนื้อแท้แล้ว เพราะความรักตนนี้เอง จึงสามารถทำลายหรือฆ่าคนอื่นได้ เพื่อให้ตนสามารถอยู่รอดและปลอดภัย จึงมีคำถามว่า ทำไมมนุษย์จึงย่อมตัดสินใจฆ่าคนอื่นได้  คำตอบคือ เพราะมนุษย์รักตนเอง ซึ่งไม่มีความรักใดเสมอตน พระอาจารย์ ว.วชิรเมธีเคยกล่าวว่า " เหตุผลสำคัญที่มนุษย์ทุกคนต้องการความรักนั้นก็เพราะว่า เราแต่ละคนไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง อะไรก็ตามที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ก็มักต้องแสวงหาบางสิ่งบางอย่างจากภายนอกเข้ามาเสริม เข้ามาเติม เข้ามาเพิ่มพูน เพื่อให้เรารู้สึกอิ่ม รู้สึกเต็ม รู้สึกสมบูรณ์"
         



โดยบ่อเกิดของความรักในพระพุทธศาสนาดังพุทธภาษิตว่า " ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน ปจฺจุปนฺนหิเตน วา  เอวนฺตํ ชายเต เปมํ อุปฺปลํ ว ยโถทเก" แปลว่า ความรัก ย่อมเกิด เพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการคือ เพราะอยู่ร่วมกันในปางก่อนเป็นบุพเพสันนิวาส และเพราะเกื้อกูลกันในปัจจุบันช่วยเหลือซึ่งกัน ส่งผลให้เป็นเนื้อคู่กันในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งความรัก พระพุทธเจ้ามิได้ทรงนิยามความรักด้วยคำบาลีคำใดคำหนึ่ง แต่พระองค์ได้ทรงให้คำนิยามเกี่ยวกับความรักไว้มากมาย คือ ๑)ความรักคือความใคร่ (กามะ) ๒)ความรักคือความกำหนัดยินดี (ราคะ) ๓)ความรักคือความทะยานอยาก(ตัณหา) ๔)ความรักคือความรักใคร่เยื่อใย (สิเนหะ) ๕)ความรักคือความเพลิดเพลิน (นันทิ) ๖)ความรักคือความอยาก (อิจฉา) ๗)ความรักคือความผูกพัน (ปฏิพัทธา) ๘)ความรักคือความปรารถนา (ปัตถนา) ๙)ความรักคือความอยากได้ (โลภะ) ๑๐)ความรักคือความพอใจ (ฉันทะ) ๑๑)ความรักคืออารมณ์ที่น่ารักน่าใคร่(เปมะ) ๑๒)ความรักคือความรักปรารถนาให้คนอื่นสัตว์อื่นมีความสุข (เมตตา) ๑๓)ความรักคือความสงสาร ต้องการให้พ้นจากความทุกข์ (กรุณา) จึงพอสรุปว่าความรักจึงมี ๔ ระดับ คือ " รักตัวกลัวตาย รักใคร่ปรารถนา รักเมตตาอารี  รักมีแต่ให้ " ความรักระดับสูงสุดคือ ความรักที่ประกอบด้วยเมตตาและกรุณา เป็นความรักของพระพุทธเจ้า 
         


ความรักของพระพุทธเจ้าเป็นความรักสรรพสัตว์ทั้งโลก เป็นความเมตตาอันบริสุทธิ์ อันประกอบด้วยสติปัญญายิ่งใหญ่และเมตตากรุณาบริสุทธิ์ โดยเรียกความรักนี้ว่า"มหากรุณาธิคุณ" พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "เรารักราหุลฉันใด เราก็รักเทวทัตฉันนั้น" พระองค์รักขนาดบุคคลที่คิดจะฆ่าและพยายามลงมือฆ่าพระองค์ ถือว่าเป็นการทำได้ยากสำหรับบุคคลทั่วไป  หลายคนตั้งคำถามในโลกออนไลน์ว่า ทำไมคนที่เคยรักกันมากที่สุด จึงสามารถฆ่ากันได้แบบไร้เยื้อใย ด้วยความโหดเหี้ยม อาจจะมีคำตอบมากมายหลายมุมมองของสาเหตุแล้วแต่จะใช้ฐานอะไรมอง  แต่มีผู้กล่าวไว้ว่า " ในสภาวะจิตหนึ่งทุกคนสามารถฆ่าคนอื่นและฆ่าตนเองได้ " ถือว่าเป็นการมองในแง่มุมพระพุทธศาสนา เมื่อจิตนั้นไม่ได้รับการพัฒนาหรือฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เมื่อเจอสิ่งที่มากระทบทางตา หู  จมูก ลิ้น  กาย ใจ  หรือ โลกธรรมฝ่ายลบ คือ ทุกข์ นินทา  เสื่อมลาภ   เสื่อมยศ จึงตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาเพียงระยะสั้นแต่ขาดการแก้ปัญหาระยะยาว แก้ปัญหาระยะสั้นเป็นการใช้ความรุนแรงอะไรบางอย่างอันขาดสติ  คำสอนทางพระพุทธศาสนาจึงเน้นย้ำให้เราฝึกจิต เจริญภาวนาเพื่อกำหนดให้เท่าทันสิ่งที่มากระทบ จะได้ไม่เกิดปรากกฎการณ์ " โดน  ดิ้น  ดัน  ดับ " ในชีวิตของเรา 
         


ในยุคปัจจุบันชีวิตคู่บริหารจัดการไปไม่รอด ล้มเหลวเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะมีการศึกษาระดับใดก็ตาม ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ จากการวิจัย " เพศชายกับเพศหญิงมักมีเหตุผลที่ต่างกันในการนอกใจแฟนหรือคู่สมรส " สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จึงกล่าวว่า " ความสุขของครอบครัว คือ สันติสุขของสังคม " เมื่อครอบครัวมีความสุขย่อมทำให้สังคมมีความสุขเหมือนกัน การริหารชีวิตคู่ในทางพระพุทธศาสนามีเครื่องมือในการบริหารครอบครัวให้รอดและปลอดภัย คือ ฆราวาสธรรม อันประกอบด้วย " สัจจะ  ทมะ  ขันติ  จาคะ " ถือว่าเป็นเครื่องมือป้องกันอันสุดยอดของบุคคลจะมีชีวิตคู่และครอบครัวที่มีความสุขถ้านำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะภัยของชีวิตครอบครัว คือ "กิ๊กภัยภัยจากการมีกิ๊ก" ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อกันนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจและความทุกข์ในที่สุด รวมถึงจบลงด้วยการฆ่ากัน เพราะเมื่อรักก็เกิดความผูกพัน ยึดถือมั่นว่าเป็นของเรา ใครจะมาเอาไปเป็นเจ้าของไม่ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วสักวันเราต้องลาจากกันด้วยความตายในที่สุด เเต่เราไม่ได้ฝึกการพลัดพราก เมื่อรักก็มีการครอบครองพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า " ปิยโต ชายเต โสโก ปิยโต ชายเต ภยํ  ปิยโต วิปฺปมุตตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ  แปลว่า  โศกเกิดจากสิ่งที่รัก ภัยเกิดจากสิ่งที่รัก ผู้พ้นจากความรัก โศก ภัย ก็ไม่มี "
         


ถ้ามนุษย์ทุกคนตระหนักรู้ในศีล อันเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข คำว่า ศีล ในมุมมองนั้นมองว่าเป็น  "การเคารพไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น " ด้วยการเคารพชีวิตทุกชีวิต ไม่ใช้ความรุนแรง  เคารพในสิทธิสิ่งของคนอื่น  เคารพในชีวิตคู่ที่สัญญาต่อกัน เคารพในครอบตนเองและครอบครัวคนอื่น  เคารพในความจริง   และเคารพในสุขภาพของตนเอง  เมื่อมนุษย์เคารพในตนเองและผู้อื่นถือว่าเป็นหลักประกันสังคม หลักประกันชีวิต หลักประกันครอบครัว หลักประกันสุขภาพ ให้มีแต่ความสุขและพยายามพัฒนาตนเองให้มีความรักระดับเมตตาและกรุณา สามารถรักคนได้ทุกคนในโลกใบนี้ รักแม้บุคคลที่เป็นศัตรูของเรา ดังคำกล่าวว่า " จงรักศัตรูเพราะเขาคือครูของเรา " ครูที่ทดสอบสติปัญญา ทดสอบธรรมะที่อยู่ภายในจิตใจของเรา
         

ฉะนั้น ชีวิตคู่ต้องมีธรรมะกำกับเป็นเครื่องนำทาง ถ้าชีวิตไม่มีธรรมะกำกับเป็นชีวิตที่พิกลพิการ  ชีวิตคู่ชีวิตสมรสก็เช่นกัน คำว่า สะมะ แปลว่า เสมอ สมดุล ทางสายกลาง ชีวิตคู่ต้องเสมอกันคือ" ศรัทธาเสมอกัน  ศีลเสมอกัน   จาคะเสมอกัน  ปัญญาเสมอกัน" มงคลสมรส จึงหมายถึง การมีอุดมการณ์ รสนิยม ความพึงพอใจ และธรรมะเสมอกัน  นำไปสู่การครองเรือนเลิศล้ำ ครองธรรมเลิศลอย  มีสติในการดำเนินชีวิตคู่ หรือพูดง่ายๆ คือ ๑บวก๑ ต้องเป็นหนึ่งเท่านั้น


...........

(หมายเหตุ : สาราณียธรรม พระอาจารย์ปราโมทย์   วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก   สาขาสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กpramote od pantapat)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กมธ.สร้างสันติภาพชายแดนใต้จัดเสวนาที่ "สันติศึกษา มจร"

เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชว...