วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560
มส.เบิ่งโขงส่องแผน"GMS"ที่ยังไม่ยั่งยืน
มส.เบิ่งโขงส่องแผน"GMS"ที่ยังไม่ยั่งยืน เสนอยุทธศาสตร์ มจร.วิทยาลัยสงฆ์นครพนมแก้สร้างสมดุลกายใจ แถมไขปริศนาพญานาคป้องโขง
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2560 พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายอาคารพระพรหมบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาลัยสงฆ์นครพนม จังหวัดนครพนม และเปิดการการประชุมวิชาการ ระดับนานาชาติ 2560 เรื่อง "พระพุทธศาสนากับการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในลุ่มน้ำโขง สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0" ที่ มจร.วิทยาลัยสงฆ์นครพนม ในการนี้ได้ปาฐกถานำโดยได้ย้อนประวัติศาสตร์การจัดตั้งแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) และแนวทางการส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพื่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในลุ่มน้ำโขง สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 สรุปได้ดังนี้
ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศร่วมกันจัดตั้งแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) เมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันบนพื้นฐานของการมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมโดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) หรือ เอดีบี
GMS เป็นเขตเศรษฐกิจธรรมชาติที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน (มณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมียนมาร์ ประเทศไทย และเวียดนาม ครอบคลุมพื้นที่ 2.6 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรรวม 333.8 ล้านคน
แผนงาน GMS ซึ่งเอดีบีและหุ้นส่วนการพัฒนาให้การสนับสนุน ช่วยให้มีการจัดทำและดำเนินโครงการความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่มีลำดับความสำคัญสูงหลากหลายสาขา
ทั้งนี้ เพื่อสร้างอนุภูมิภาคที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความปรองดอง และความมั่งคั่งตามวิสัยทัศน์ แผนงาน GMS ได้กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน 3 ด้าน (3 Cs) ดังนี้
สร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ระหว่างกันให้มากขึ้นผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่ยั่งยืน และยกระดับโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งให้เป็นแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (economic corridors) ทั้ง Highway, High speed train รวมถึงระบบ Internet
เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน (competitiveness) ผ่านการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมบูรณาการของตลาด กระบวนการผลิตและห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำประเทศไทยก้าวสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) จากประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle-income Country) ในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องต่อสู้กับ “กับดักรายได้ปานกลาง” (middle-income trap) ได้แก่
xx การละเลยการพัฒนาเทคโนโลยี
xx การไม่สนใจในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
xx ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
xx ข้อจำกัดทางด้านสาธารณูปโภค
xx เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองขาดเสถียรภาพ
xx ขาดธรรมาภิบาล
xx ข้อจำกัดทางด้านการคลัง
สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน (community) ผ่านโครงการและแผนงานที่ตอบสนองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
สรุปความได้ว่า พระพุทธศาสนาที่จะสามารถเป็นปัจจัยแห่งการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในลุ่มน้ำโขง สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้ ก็ต้องปรับตัวตอบรับยุทธศาสตร์ 3 ด้าน (3 Cs) ดังนี้
ต่อ Connectivity คือ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสาร (Training skill of communication) ด้วยการจัดตั้งศูนย์ภาษา และห้องปฏิบัติการภาษา (language center, Language laboratory) ในวิทยาลัยสงฆ์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ต่อ Competitiveness คือ การที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนานวัตกรรม (innovation) โดยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความสามารถในการใช้สมอง (brain power) ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายต่อไป พระพุทธศาสนามีหลักการสำคัญที่สามารถนำไปปรับใช้สนับสนุนการพัฒนาความสามารถในการใช้สมอง กล่าวคือ การฝึกอบรมจิตด้วยสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งวิทยาลัยสงฆ์จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ต่อ Community คือ การที่นำหลักพรหมวิหารธรรม มาพัฒนานิสิตและสังคมโดยรวม เพื่อให้สามารถสร้างสมดุลแห่งการพัฒนา ทั้งกาย สังคม จิตใจ และปัญญา รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และปัญญา ที่อยู่บนฐานของความพอเพียง
ขณะเดียวกัน พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี มจร ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา ได้เสนอบทความเรื่อง "แม่น้ำโขง: แม่ผู้อารีสู่วิถีชีวิตและลมหายใจของลูก" เผยแผ่ผ่านทางเฟซบุ๊ก "Hansa Dhammahaso" ความว่า
แม่น้ำยาวที่สุดในโลกคือแม่น้ำอเมเซอน ความยาว 7000 กิโลเมตร แต่แม่โขงยาวราว 4,000 กิโลเมตร ความเชื่อที่เป็นแกนของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างก็มีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน คือ "พญานาค" ซึ่งเชื่อมวิถีชีวิต และวิถีปฏิบัติ ผ่านความเชื่อสำคัญที่ซ่อนตัวอยู่สัตว์ชนิดหนึ่งที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา ทั้งการทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธเจ้าจากพายุลมฝนแห่งตรัสรู้ การบวช รวมถึงการที่พระพุทธเจ้าแต่งเพลงให้ชายหนุ่มร้องแก้เพลงลูกสาวของพญานาค ลำน้ำแม่โขงได้ทำหน้าที่ประดุจ "แม่" ที่เชื่อมโยงลูกๆ ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามเข้าหากัน ใช้ชีวิตด้วยกัน ผ่านการหล่อเลี้ยงร่างกาย และหล่อเลี้ยงจิตใจผ่านพิธีกรรมและความเชื่อต่างๆ แม่คนนี้ รักลูกทุกคนเสมอเหมือนกัน ให้ชีวิตและจิตใจและลูกทุกคนด้วยความเท่าเทียม เที่ยงธรรม และเป็นธรรม
แต่ด้วยหลักภูมิรัฐศาสตร์ได้จัดระบบระเบียบของการบริหารจัดการทางการเมืองตามหลักการแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide&Rule) ของอังกฤษและฝรั่งเศส ได้แบ่งเขตแดนของประเทศต่างๆ โดยใช้แม่โขงเป็นเขตแดน (Territory) การแบ่งลักษณะนี้ เป็นการกระชากลูกแต่ละคนออกจากอกของแม่ จากลูกที่ต้องอาศัยสายเลือดของแม่เป็นแดนกำเนิด กลายเป็นลูกที่มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเจริญเติบโต ต่างคนต่างมีวิถีคิดและอุดมการณ์ของตัวเอง จนกลายเป็นว่า ลูกแม่เดียวกันแต่ต่างอุดมการณ์ และบางครั้ง ลูกบางคนได้ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจกัน แทนที่จะใช้ไอเย็นจากแม่ชโลมใจ
อย่างไรก็ตาม ในบรรดาลูกทั้ง 6 คนนั้น มีลูกบางคนพยายามที่จะฉกชิงผลประโยชน์จากวิถีชีวิตและลมหายใจของแม่ ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ลูกคนโตที่มีกำลังมากกว่า ได้ใช้ศักยภาพ และพละกำลังของตัวเองโดยการสร้างเขื่อนจำนวนมาก เพื่อกักกันเลือดเนื้อและลมหายใจของแม่เอาไว้สร้างประโยชน์แก่ตัวเอง โดยไม่สนใจน้องๆ อีก 5 คนที่พากันนั่งเงียบมองพฤติกรรมของพี่ชายคนโตด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ
วันดีคืนดี พี่ชายคนโตพยายามเชื่อม (Connectivity) พี่น้องในลุ่มน้ำเข้าหากัน โดยเอารถไฟเข้ามาเชื่อมตามนโยบาย "One Belt One Road" โดยพี่ชายคนโตอ้างเหตุผลกับน้องๆ 3 ข้อ
(1) เหตุผลทางการเมือง ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณว่า พี่ต้องการสันติภาพ เปิดกว้าง และต้องการหยิบยื่นโอกาสการพัฒนาให้แก่น้องๆ ทุกคน จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
(2) เหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จะเป็นการย้ายกำลังผลิตและฐานการผลิตของพี่ไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อใก้น้องๆ มีความมั่งมีศรีสุข
(3) เหตุผลทางด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยข้อเสนอดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับน้องๆ ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ และประชาชนตามเส้นทางสายไหม
น้องๆ หลายคนเฝ้ามองและชื่นชมวิสัยทัศน์ของพี่ อีกทั้งมีความยินดีปรีดาที่จะดำเนินตามรอยเท้าพี่ ใช้เรือดำน้ำพี่ ใช้รถถังพี่ พร้อมให้พี่มาช่วยสร้างหนทาง และนำรถไฟความเร็วสูงวิ่งไปมาหาสู่ระหว่างพี่กับน้อง เพื่อให้พี่กับน้องสามารถมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ขายของได้มากขึ้น ไปท่องเที่ยวมากขึ้น ซื้อของและแลกเปลี่ยนกันและกันได้อย่างดีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม น้องๆ บางคนก็ยังมองพี่ด้วยความหวาดระแวง ทั้งจากประสบการณ์ที่เห็นพฤติกรรมของพี่ รวมถึงการที่มีเพื่อนบ้านคอยสะกิด รวมถึงการยุแยงตะแคงรั่ว เพื่อมิให้หลงไหลได้ปลื้มกับพี่คนนี้มากจนเกินไป และให้ใจเย็นๆ มองสิ่งต่างๆ ให้รอบด้าน ก่อนค่อยตัดสินใจ ถึงกระนั้น ถึงจะหวาดระแวงบ้าง แต่เมื่อบวกลบคูณหารกันแล้ว น้องหลายคนจึงตัดสินใจร่วมชาตาเดียวกันกับพี่ตามข้อเสนอของพี่ที่หยิบยื่นให้
"เป็นชาติเป็นเชื้อ ถ้ามีความเอื้อเฟื้อก็เหมือนเนื้ออาตมา ถึงเป็นชาติเป็นเชื้อถ้าไม่มีความเอื้อเฟื้อก็เหมือนเนื้อในป่า" ในฐานะที่แม่มีลูก 6 คนนั้น แม่ได้มอบชีวิตและลมหายใจให้กับลูกทุกคนแล้ว คำถามที่สำคัญ คือ "ลูกๆ ทุกคน จะร่วมมือประสานพลัง (Synegy) เพื่อสร้างความมั่นคง (Security) มั่งคั่ง (Prosperity) และ ยั่งยืน (Sustainability) อย่างไร จึงจะนำไปสู่การร่วมแบ่งปันความสุข ช่วยโอบอุ้มความทุกข์ที่พี่ๆ น้องๆ พากันเผชิญหน้า และหาทางออกร่วมกัน
"No man is an island. ไม่มีใครอยู่คนเดียวในโลกนี้ได้ " ชัดเจนว่า ลูก ทั้ง 6 คน ไม่ว่าคนไหนก็ตาม ไม่สามารถอยู่รอดปลอดภัยในกระแสความเชี่ยวกรากของน้ำในลุ่มน้ำแม่โขงโดยลำพัง หากแต่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เฝ้าระวัง และเติมเต็มสิ่งที่ขาด แบ่งปันความอุดมสมบูรณ์อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม เมื่อนั้น แม่คนนี้ ย่อมมีความสุขกายสบายใจ ที่ลูกๆ ได้ช่วยกันประคองหัวใจของแม่ โดยการประคองกันและกันระหว่างพี่กับน้องให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกตลอดไปฯ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น