วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เป็นหนี้! ไป "ธ.ก.ส." แก้หนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์





วันที่ 27 ธ.ค.2560 นายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายชาติชายพยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้าร่วม “โครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับ
ผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดพิษณุโลก”



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานในพิธีได้กล่าวมอบนโยบายเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่น ที่จะดำเนินการ อย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย หลุดพ้นจากความยากจน อย่างยั่งยืน จากนั้นได้มอบใบอนุญาตประกอบกิจการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดพิษณุโลกและใกล้เคียง จำนวน 4 ราย และมอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.จำนวน 10 ราย และตัวแทนลูกค้าธนาคารออมสิน จำนวน 10 ราย โดยมีผู้บริหารของกระทรวงการคลัง ผู้บริหาร ธ.ก.ส. และผู้บริหารธนาคารออมสินร่วมเป็นสักขีพยาน




นายอภิรมย์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะนโยบาย “การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์” เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจากข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 พบว่ามีเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนจำนวน 3,959,030 ราย และมีหนี้นอกระบบ  448,496 ราย มูลหนี้เฉลี่ยต่อรายจำนวน 59,520 บาท  โดยในจังหวัดพิษณุโลก มีเกษตรกรที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 65,774 ราย เป็นเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบ 4,982 ราย มูลหนี้ 358 ล้านบาท เฉลี่ยหนี้ต่อราย 71,858 บาท



ธ.ก.ส.ได้เข้าไปช่วยเหลือลดภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกแล้ว  2,045 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 855.02 ล้านบาท ด้วยการให้สินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และสินเชื่ออาชีพเสริมเพิ่มรายได้  ซึ่งนอกจากจะทำให้หนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว ธ.ก.ส.ยังมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ในการดำเนินชีวิตของเกษตรกรด้วย การให้ความรู้ การทำบัญชีครัวเรือน การประหยัดอดออม การสร้างรายได้จากอาชีพเสริม อย่างเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่ดำ  การผลิตผักสลัด และการเพาะเห็ด ที่นำมาจัดแสดงในงานนี้  รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ยามจำเป็น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และป้องกันไม่ให้เกษตรกร กลับไปก่อหนี้นอกระบบอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๗. วรรคที่ ๗ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต

  วิเคราะห์ ๗. วรรคที่ ๗ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต: ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎก...