วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

นำร่องทำพระไตรปิฏกฉบับสากลระบบดิจิทัล




มส.ประชุมเตรียมจัดงานการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ไทยเป็นเจ้าภาพ คาดชาวพุทธจากทั่วโลก 1,300 รูป/คนเข้าร่วม เตรียมจัดทำสหบรรณานุกรมพระไตรปิฏกฉบับสากลแบบดิจิทัล



เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดี มจร ในฐานะประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ครั้งที่ 2 โดยมีผู้แทนชาวพุทธจากประเทศต่างๆ ทั้งวัชรยาน มหายาน และเถรวาท  เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเตรียมการของฝ่ายเลขาธิการ และภาระงานต่างๆ ที่ได้มอบหมายให้คณะกรรมการแต่ละฝ่ายไป ในการดำเนินการเตรียมการจัดงานการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ภายใต้หัวข้อหลัก "คุณูปการของพระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์" ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ






ที่ประชุมได้อนุมัติการจัดพิมพ์พระไตรปิฏกฉบับสากลครั้งที่ 2 จำนวน 10,000 เล่ม  จัดพิมพ์ฉบับแปลเป็นภาษาไทยจำนวน 10,000 เล่ม และอนุมัติการดำเนินการจัดทำสหบรรณานุกรมพระไตรปิฏกฉบับสากลแบบดิจิทัลอย่างเป็นทางการ



และมีการประชุมต่อเนื่องมาถึงวันที่ 16  มกราคม พ.ศ.2561 โดยได้สรุปงานทั้งหมด รวมถึงการติดตามงานของฝ่ายเลขาธิการ เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ระหว่าง 25-27 พฤษภาคม 2561 ภายใต้หัวข้อหลัก "คุณูปการของพระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์" ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของการเชิญนักวิชาการจากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนบทเรียน และในส่วนพิธีการเฉลิมฉลอง ซึ่งปีนี้จะเชิญพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก จำนวน 1,300 รูป/คน



ขณะเดียวกันคณะกรรมการจัดทำพระไตรปิฏกฉบับสากลที่ประกอบด้วย ศ.ดร.พระคำหมาย ธัมมสามิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนารัฐฉาน ประเทศเมียนมา ดร.ยวนฉี  พุทธสมาคมประเทศจีน ดร.จาโนส เจเลน อธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกต ปูดาเปส ประเทศฮังการี นายอีกิล ล็อตเต้ ประเทศนอร์เวย์  พร้อมด้วยผู้แทนจากมหาจุฬาฯ นำโดยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ได้ประชุมปรึกษาหารือทางไกลกับ ศ.ดร.ปีเตอร์ ฮาว์วีย์ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการอนุญาตให้ประเทศต่างๆ แปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงการเตรียมจัดพิมพ์พระไตรปิฏกสากล ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 จำนวน 10,000 ชุด และเตรียมจัดพิมพ์ฉบับภาษาไทยที่ผ่านการแปล จำนวน 10,000 ชุด เพื่อมอบแก่ผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกที่จะเดินทางมาร่วมงานวิสาขโลกในปีนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...