วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

นิสิตสันติศึกษา"มจร"ฝึกสันติภายใน เป็นฐานสร้างสันติภาพโลกจากไทยสู่สวีเดน





ระหว่างวันที่ 22-25 ม.ค. 2561  พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้นำนิสิตหลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขาสันติศึกษา ทั้งไทยและนานาชาติ  กว่า 40 รูป/คน ได้เดินทางไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ภายใต้โครงการ "ลมหายใจแห่งสันติภาพ"  ที่วัดท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ



ทั้งนี้พระมหาหรรษา เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการสัปดาห์แห่งสติ สัปดาห์แห่งสันติ ซึ่งจะดำเนินการจัดสัปดาห์สุดท้ายของทุกเดือน  เพื่อฝึกฝนและพัฒนาสันติภาพภายในให้เกิดขึ้นในจิตใจ เพื่อจะได้นำสันติภายในมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสันติภายนอก สันติภายในและสันติภายนอกจึงเป็นสิ่งที่มิได้แยกขาดจากกันทั้งในลมหายใจและการใช้ชีวิตเพื่อตนเองและผู้อื่นในสังคม ทั้งนี้การสร้างสันติภาพต้องอาศัยสติอย่างมากในการจัดการปัญหา การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการฝึกสติที่ได้ผลดีที่สุดและเหมาะสมสำหรับนิสิตสันติศึกษาซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "วิศวกรสันติภาพ"





สถานที่ในการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นศาลาการเปรียญและลานโพธิ์ที่ได้อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากประเทศศรีลังกา ภายในสวนสันติธรรมที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ตามพุทธประวัติ โดยพระปราโมทย์ วาทโกวิโท วิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี พระนิสิตปริญญาเอกสาขาสันติศึกษา มจร ที่เข้าร่วมโครงการด้วย ได้บรรยายบรรยากาศของสวนว่า



แวะสวนสันติธรรม ซึ่งเป็นสถานที่เคยปลูกต้นไม้หลายชนิด เมื่อเวลาผ่านไปทำให้สิ่งที่เราสร้างผลิตไว้ให้ผล ทำให้จิตใจเบิกบานเพราะเห็นผลงานของตน การศึกษา การสร้างสันติภาพ การลงทุนทำสิ่งใดก็ตามย่อมส่งผลเสมอ แต่ต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ เราจึงไม่ควรเร่งรีบ ปลูกมะม่วงได้มะม่วงแน่นอน ทำสิ่งใดได้สิ่งนั้นแน่นอน ต้นไม้ยิ่งโตมากๆ ใบยิ่งเล็กเท่านั้น เปรียบเหมือนคนเรายิ่งมีตำแหน่งที่สูง ขึ้นสูงเท่าไหร เราต้องทำตัวให้เล็ก ทำตัวเล็กยิ่งเข้าใกล้ความสุข มีความอ่อนน้อมถ่อมตนความร่มเย็นเป็นสุขในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นต้องประกอบด้วย "ร่มไม้ ชายคา ศาลา วารี "เป็นการเปรียบเทียบว่าร่มเย็นเป็นสุขเป็นดุจร่มโพธิ์ร่มไทร ชายคาเป็นที่หลบแดดหลบฝน ศาลาก็เป็นที่พักร้อนพักผ่อน และวารีก็ทำให้สรรพสิ่งมีชีวิตเป็นอยู่ได้




กล่าวถึงคัมภีร์มหาชาติเวสสันดรชาดกนั้นได้กล่าวถึงป่า คือ"จุลพน"ป่าเล็กป่าโปร่ง และ "มหาพน" ป่าใหญ่ไพรกว้าง ทั้งสองกัณฑ์นั้นได้พรรณนาเรื่องป่า ทำให้รู้สึกดีต่อป่าชื่นชมความงามของธรรมชาติ โดยมี "ป่าในป่า" เป็นความเจริญทางธรรมชาติ "ป่าในเมือง" เป็นป่าคอนกรีต ตึกสูงเป็นความเจริญทางวัตถุ และ "ป่าในคน" เป็นพฤติกรรมที่ต่ำทราม อำมหิต โหดร้าย เป็นคนป่าเถื่อน อันมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นตัวนำ ถือว่าอันตรายให้โทษมากที่สุด ป่าจึงให้คุณมาก คือ ให้ชีวิต ให้ชีวา ให้เวลา ให้อากาศ ให้อาหาร ให้อาวาส ให้อารมณ์ คนโบราณจึงนิยมปลูกไม้  2  ประเภท คือ ไม้ดอก หมายถึง ไม้ประดับดอกดูความสวยงาม และไม้แดก หมายถึง ไม้ที่รับประทานยอด ใบ ผล ป่าจึงเกี่ยวข้องกับมนุษย์และพระพุทธศาสนาโดยตลอด ซึ่งวัดในอดีตจึงเป็นอาราม วัดที่มีสวนในป่าทำให้เกิดความรื่นรมย์ยินดีเป็นรมณียสถาน เช่น "เชตวัน เวฬุวัน มหาวัน อัมพวัน ชีวกัมพวัน" ในหลักธุดงค์ 13  ข้อ มีข้อหนึ่งระบุว่า "อยู่ป่าเป็นวัตร" พระที่อยู่ป่าเป็นวัตร คือ พระมหากัสสปะเถระ เป็นรับเอตทัคคะรับการยกย่องในการอยู่ป่า พระพุทธเจ้าจึงเกี่ยวข้องกับ "โพธิรุกฺขา ต้นโพธิ์" พระองค์ทรง " เดินกลางดิน กินกลางดอน นอนกลางทราย ตายกลางป่า " พระองค์ทรงผูกพันกับป่ามาโดยตลอด



ดังนั้นพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า " ยสฺส รุกขสฺส ฉายาย นิสีเทยฺย สเยยฺย วา น ตสฺส สาขํ ภญฺเชยฺย มิตฺตทุฏฺโฐ หิ ปาปโก ซึ่งหมายความว่า บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านรานกิ่งและใบของต้นไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม"แสดงให้เห็นว่า"กตัญญต่อธรรมชาติ "แล้วธรรมชาติจะรักษาเรา สวนสันติธรรมจึงเป็นพลังให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีชีวิตต่อไป



อย่างไรก็ตาม นิสิตหลักสันติศึกษาหลังจากร่วมโครงการ "ลมหายใจแห่งสันติภาพ" แล้ว บางส่วนจะได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมสันติภาพโลกที่ประเทศสวีเดนในวันที่ 30 มิ.ย.2561 ที่มีพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรปร่วมเป็นเจ้าภาพ  ทั้งนี้พระวิเทศปุญญาภรณ์(บุญทิน) เจ้าอาวาสวัดพุทธารามสวีเดน เลขานุการสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป ได้แจ้งว่า ผู้ประสงค์จะร่วมงานและต้องการทราบข้อมูลสามารถติดต่อที่ ckk48@hotmail.com หรือที่ไอดีไลน์thestar2017



พระวิเทศปุญญาภรณ์เปิดเผยด้วยว่า วันที่ 10 ก.พ.ที่จะถึงนี้ได้รับนิมนต์ไปร่วมงาน "ฉลองครอบรับพรนานาศาสนาเพื่อสันติภาพ" ที่กรุงปารีส ประเทสฝรั่งเศส ซึ่งจัดโดยสหพันธ์ครอบครัวเพื่อความสามัคคีและสันติภาพโลก ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดตั้งเพื่อส่งเสริมคุณค่าของสถาบันครอบครัว โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการครอบครัวไทย,ลาว รู้ รัก สามัคคี โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเสริมสร้างครอบครัวและชุมชนให้มีความรัก และความอบอุ่น ซึ่งจะช่วยสร้างชุมชนไทยและลาวที่ประเทศฝรั่งเศสให้เข้มแข็ง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: ลอยใจกลางสายธรรม

  ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno     คลิกฟังเพลงไทยที่นี่ (Verse 1) วันเพ็ญเดือนสิบสอง ลอยใจล่องสายธรรม ปริยัติปฏิบัติธรรมนำ เ...