วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2561

เปิดจองแล้ว!ตั๋วร่วมประชุมสันติภาพโลกที่สวีเดน



หวังก้าวข้ามอัตลักษณ์หลอมรวมความเข้าใจระหว่างศาสนามากกว่าสร้างขัดแย้ง :  พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา  มจร รายงาน


การประชุมสันติภาพโลก ณ เดอะชิตี้ ฮอลล์ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน ถึง วันที่ ๓ เดือนกรกฏาคม พศ.๒๕๖๑ โดยมีผู้นำทุกศาสนาทั่วโลกร่วมประชุม world peace awards ๒๐๑๘ ซึ่งมีพระวิเทศปุญญาภรณ์ หรือ เจ้าคุณสวีเดน เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน เป็นประธานในการจัดงานในครั้งนี้ร่วมกับรัฐบาลของสวีเดน การประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญต่อโลกมากเพราะจะมีผู้นำทั้งทุกศาสนาจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม โดยยกเรื่อง "การเสริมสร้างสันติภาพ การแก้ปัญหาสังคมโลกได้อย่างยั่งยืนการต่อต้านก่อการร้าย การใช้หลักวิปัสสนาสร้างสันติภาพ และการชูวัฒนธรรมชูความสัมพันธ์นานาชาติ และการทูตเพื่อสันติภาพ " มาเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ในการประชุมสันติภาพโลกที่สวีเดนครั้งนี้ มีการเสนอคนไทยได้เข้ารับรางวัลทูตสันติภาพ (peace ambassador) ด้วย



ศาสนาจึงเป็นทางรอดของสังคมโลกเพราะศาสนาร้อยเรียงให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม ยิ่งต่างกันยิ่งต้องเรียนรู้กันต้องสร้างความเข้าใจ จากการเสวนาการอยู่ร่วมกันในพหุวัฒนธรรม ภายใต้หัวข้อว่า "สังคมพหุวัฒนธรรม มุมมองต่างศานิกชน" ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬา กล่าวว่า โลกของเราแคบลงทำให้ใจของเราแคบลงเหมือนกัน เพราะเราไม่ค่อยเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โลกเรามีความหลากหลายมาก จึงต้องฟังและเรียนทุกศาสนาในโลกใบนี้ เพราะเราจะเจริญเติบโตไปด้วยกัน เรามีความหลากหลายกันทางวัฒนธรรม เป็นความงดงาม เหมือนดอกไม้ในแจกัน (Diversity is Beautiful) เพราะความหลากหลายคือ กฎของธรรมชาติ ท่านพุทธทาสกล่าวว่า " โลกนี้มีศาสนาเดียวไม่ได้ ต้องมีความหลากหลายสังคมพหุวัฒนธรรมแต่ต้องเคารพให้เกียรติกัน หาวิธีจะอยู่ร่วมกับเขา ไม่ต้องให้เขามาเป็นเรา ให้เขาเป็นเขาดีที่สุด ที่ขัดแย้งกันเพราะเราอยากให้เขามาเป็นเรา การแต่งกายเป็นความงามของแต่ละวัฒนธรรม เช่น ชุดแต่งกายของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนา การแต่งกายของผู้นับถืออิสลาม การแต่งกายของผู้นับถือศาสนาคริสต์ หรือ ศาสนาอื่นๆในโลก ใบนี้ ล้วนแต่มีความสวยงาม คำว่า Multicultural Society เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นสังคมที่มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ ที่มีความแตกต่างกัน แต่มีการยอมรับและให้เกียรติกัน


ในความจริงเราไม่มีศาสนาแต่เพราะเรากลัวอะไรบางอย่าง เราจึงหาเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ไม่มีความมั่นคงในการใช้ชีวิต "ศาสนาจึงเป็นเครื่องร้อยเรียงให้เราอยู่ร่วมกัน " ผู้นำศาสนาท่านหนึ่งกล่าวว่า "การเกิดขึ้นของศาสนา มีเป้าหมายเพื่อความสงบ ร่มเย็นเป็นสันติสุขของชาวโลก" จึงมีคำถามว่า ศาสนาช่วยโลก หรือ โลกช่วยศาสนาเพราะศาสนาจะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอทางรอดแก่มนุษยชาติได้อย่างไร? ศาสนากำลังพ่ายแพ้ต่อวัตถุนิยมหรือช่วยดึงมนุษย์ออกจากกับดักของวัตถุนิยมและศาสนากำลังพ่ายแพ้ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง ทำไมเราต้องมีพหุวัฒนธรรม เพราะเป็นการก้าวข้ามพรมแดนเป็นการเชื่อมโยงในพหุวัฒนธรรม มีการพึ่งพาอาศัยกัน ทำไมต้องมีพหุวัฒนธรรม เพราะเราไม่อดทนต่อกัน ไม่อดทนต่อความแตกต่าง อดทนที่จะฟังเพื่อปรับเข้าหากัน ไม่ใช่ฟังเพื่อจับผิด เราจึงต้องมี ๔ สากล เพราะธรรมชาติอย่างไรก็สากล เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมโลก ประกอบด้วย



๑)"มนุษย์สากล" พระพุทธเจ้าพยายามบอกมนุษย์ว่าเราสามารถเข้าถึงธรรมได้ทุกคน พระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบวรรณะ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดและคืนความเป็นธรรมให้แก่มนุษย์ เพื่อให้มนุษย์สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ว่าเราเป็นมนุษย์มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน เราคือพี่น้องกัน เราย่อมไปสู่ทะเลเหมือนกัน เพราะสิ่งที่จำแนกชั่วดี คือ การกระทำของมนุษย์ มิใช่ชาติวรรณะ " ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว " บุคคลผู้พิสูจน์ความจริงนี้ คือ ท่านดร.อัมเบดการ์ เกิดมาจากวรรณะจัณฑาลสู่ประธานร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศอินเดียจนเป็นที่ยอมรับ



๒)"เมตตากรุณาสากล" เราต้องมีความเมตตามนุษย์เหมือนกัน ช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติ มีผู้นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามมาพักรวมกัน เพราะเมื่อมนุษย์มีความทุกข์ เราจึงต้องมีความเมตตากรุณาในฐานะมนุษย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ด้วยการไม่มีอคติ คือ ความลำเอียง (Bias) ลำเอียงเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว เมตตาจึงค้ำจุนโลก ความรักเพื่อนมนุษย์โดยไร้เงื่อนไขใดๆ



๓)"ปัญญาสากล" เป็นปัญญาที่ข้ามพ้นในการยึดมั่นอัตลักษณ์ของตนเองว่า แบบของเราดีกว่า ยูเนสโก จึงกล่าวไว้ "เคารพ ยอมรับ ตระหนักรู้คุณค่าความแตกต่างทางวัฒนธรรม ร่วมรับผิดชอบ ปกป้อง รักษา ดูแล เอาใจใส่ต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมื่อเกิดปัญหา นิ่งสงบ ฟัง เพื่อหาทางออกบนทางเลือกที่หลากหลาย และดึงอัตลักษณ์เฉพาะมาเป็นอัตลักษณ์ร่วมสากล พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า " ขันติ ปรมัง ตโป ตีติกขา ความอดทนคือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง "



๔)"สันติภาพสากล" คือ เรามีความสากลด้านสันติภาพ ผู้นำทางการเมืองบางประเทศพยายามแบ่งแยกแล้วปกครอง พระพุทธเจ้าเน้นสันติภาพตรัสว่า " There is no greater happiness than peace แปลว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี " ซึ่งสัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญากรรม ย่อมกลัวต่อความตาย ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงให้ผู้อื่นฆ่า ทำไมเราต้องดูแลลมหายใจของตนเอง เพราะถ้าเราโกรธ เกลียด คนรอบข้างก็รับพลังความเกลียดโกรธไปด้วย เราต้องดูแลลมหายใจของตนเองให้ดีที่สุด



ทุกอุปสรรคมีบททดสอบ ทุกบทสอบเราจะผ่านด้วยสันติวิธี เงื่อนไขของการประชุมหรือการเสวนาเราต้องจูนคลื่นเสาอากาศเครื่องรับ เพื่อการสื่อสารที่ดี ตั้งแต่ปี ๒๐๐๗ จนถึงปัจจุบัน เราจะหาข้อมูลจาก Google โดยถามคำถามมากที่สุด คือ "ใครคือพระเจ้า ความรักคืออะไร ศาสนามีความหมายต่อฉันอย่างไร " เป็นคำถามท้าทายมากสำหรับทุกศาสนา ในปัจจุบันหนึ่งพันกว่าล้านคนไม่มีศาสนา เพราะเรามี " ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน " แต่เราไม่ได้หมายความว่า ทุกศาสนาในโลกเหมือนกันทั้งหมด เรามีลัทธินิกายมากมาย ศาสนาอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด พระเยซูคริสต์เป็นความหวังของสังคมชาวยิวในสมัยนั้น พระเยซูมีการเสวนาปราศจากอคติกับศัตรูไม่ใช้รุนแรง ความท้าทายในโลกปัจจุบันถ้าเราไม่คุยกันจะเกิดอคติและความขัดแย้งมีอคติทางความคิด บางคนกลายเป็นพวกหัวรุนแรง บ้าคลั่งทางศาสนา ปัจจุบันเราเอาศาสนาออกไปจากสังคมหรือสาธารณะไปเป็นเรื่องส่วนตัว มีการสร้างศาสนาใหม่ของทุกคน "Super Religion " ถือว่าไม่ถูกต้อง เราจะต้องตระหนักว่า "สิทธิขั้นพื้นฐาน คือ เสรีภาพการนับถือศาสนา" เราจึงต้องเดินทางไปด้วยกันเพื่อสันติภาพ มีการนั่งรถไฟขบวนเดียวกันเป็นเชิงสัญลักษณ์คือการมาประชุมร่วมกัน เวลามาเจอกันอย่าคุยหลักการมาก เพราะแค่กินยังแตกต่างกันในแต่ละศาสนา แต่ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในระดับผู้นำและระดับรากหญ้า เราต้องคุยกันเสวนาระหว่างศาสนา มิตรภาพระหว่างศาสนา ด้วยการฟังผู้อื่นอย่างเคารพและมิตรภาพ เข้าใจผู้อื่นอย่างถ่องแท้ บางครั้งแม้แต่ศาสนาเดียวก็มีหลากหลายนิกาย ต้องสร้างความเข้าใจในศาสนาของตนเองก่อน ก่อนจะไปเคารพคนอื่นต้อง ต้องเคารพศาสนาของตนเองก่อน การเสวนาเป็นสื่อสารจาก ๒ ฝ่าย เพื่อนำไปสู่ " การพูดการฟัง การให้ การรับ มิตรภาพ "



อุปสรรคในการเสวนา คือ "การขาดความรู้ ยึดติดในอดีต ขาดเสรีภาพ บิดเบือนความจริง " วิธีการเสวนาทางสายกลางนำไปสู่การสร้างสันติภาพคือ" Identity : อัตลักษณ์ Diversity : ความต่าง คือ ความเชื่อ วัฒนธรรม ความคิด ท่าที และ Plurality : ความหลากหลาย " ผู้นำศาสนาท่านหนึ่งกล่าวว่า " เมื่อใดก็ตามถ้าหากปากกาของพวกเราหัก สิ่งที่เหลืออยู่ มีเพียงอย่างเดียวคือ มีดพก " ปากกาหมายถึง การเสวนาพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจแต่ถ้าปากกาหัก หมายถึง การไม่คุยกันก็จะทำร้ายกัน เป็นอาวุธที่ใช้ทำร้ายกัน เทคโนโลยีสมัยใหม่มีอิทธิพลมากสำหรับคนปัจจุบัน วัตถุนิยมครอบงำคนในสังคมปัจจุบัน ในเทคโนโลยียากจะหาความจริงใจ สามารถตั้งชื่อปลอมได้ ไร้ซึ่งความจริงใจ เพราะไม่มีโอกาสได้เจอหน้ากัน ทุกศาสนาเป็นรถไฟขบวนเดียวกันมุ่งสู่สันติภาพเหมือนกัน แต่คนปัจจุบันขาดการเข้าถึงศาสนาของตนอย่างแท้จริง เราในฐานะศาสนิกต้องระวังเพราะเรามีพหุวัฒนธรรม แม้แต่เพศก็เป็นพหุวัฒนธรรม อดีตหญิงชายต่างกัน แต่ปัจจุบันเราแต่งกายเหมือนกันมากบางครั้งมองยากว่าชายหรือหญิง ความหลากหลายต้องมีความงดงาม เราต้องอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง ท่านพุทธทาสมองว่า ศาสนาคือที่พึ่ง ความรัก เช่น การบวชต้นไม้จะช่วยให้เคารพต้นไม้ แต่ความเชื่อนี้อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด บางคนอาจจะขอสึกต้นไม้แล้วตัดต้นไม้ แต่จริงๆ เราต้องให้มองให้ประโยชน์ของต้นไม้สร้างปัญญา ความเชื่อใช้ได้เฉพาะกลุ่ม เพราะบางกลุ่มไม่มีความเชื่อ จุดร่วมกันคือ การเคารพซึ่งกันและกัน



ถ้าเราไม่มีความเมตตา เราจะไม่ได้รับความเมตตาเช่นกัน ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาเกิดมาจากศานิกชนระดับรากหญ้า ผู้นำสามารถเชื่อมกันได้ แต่ศาสนิกไม่สามารถเชื่อมกันได้ มีความหวาดระแวงกัน ทำอย่างไรให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันได้ คำตอบ คือ ผู้นำศาสนาต้องสร้างการพูดคุยกัน ต้องลงพื้นที่ไปด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกันจะได้เรียนรู้กัน เราจำเป็นต้องรักและถนุถนอมกันและกัน ผู้นำต้องเริ่มก่อนในการลงพื้นที่ ผู้นำต้องเป็นต้นแบบระวังการกระทบกระทั่งกันในทางศาสนา ที่สิงคโปร์การให้งบประมาณศาสนาเดียวจะไม่ให้เด็ดขาด เพราะจะสร้างความขัดแย้ง แต่ถ้าให้ทุกศาสนาเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันจะมีงบประมาณให้เป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีในการสนับสนุนศาสนา ในประเทศไทยเราควรตระหนักมากเรื่องการสนับสนุนงบให้กับทุกศาสนามีความเท่าเทียมกัน เน้นการอยู่ร่วมกันโดยยกกุฏีจีน ๓ ศาสนา ๔ ความเชื่อ เป็นต้นแบบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข



มีคำกล่าวว่า "ฝูงสุนัขที่มีสิงโตนำ ย่อมดีกว่า ฝูงสิงโตที่มีสุนัขนำ"ผู้นำต้องใส่ใจต่อคนต่องาน เน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ผู้นำต้องทำหน้าที่แบบชาวสวน หมายถึง ทำงานกับสิ่งมีชีวิต กับดักของผู้นำ คือ หลงตัวเอง ท่านปรีดี พนมยงค์ "เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าขาดประสบการณ์ เมื่อถึงเวลาที่ข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไร้ซึ่งอำนาจ " มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า " อำนาจนั้นเหมือนยาเสพติด ถ้าได้มาย่อมวางไม่ลงและต้องการอยู่เสมอ ไม่มีวันที่จะวางลงได้ " ทางศาสนาคริสต์จึงสอนว่า "จงรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง จงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังที่ท่าน ต้องการให้เขาปฏิบัติต่อท่าน " พระเยซูคริสต์ขอให้คริสชนเป็นผู้นำในการรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก to be servant " เรามาในโลกนี้เพื่อรับใช้ " ผู้นำศาสนาต้องจับแมลงวันด้วยน้ำผึ้ง คือ ร่วมฟังอย่างนุ่มนวลมิใช่ไปฆ่าหรือใช้ความรุนแรงโดยใช้ศาสนา
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนท่านที่สนใจร่วมเดินทางด้วยกันเพื่อการเข้าร่วมประชุมสันติภาพโลก ณ ประเทศสวีเดน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพของโลก ด้วยคำกล่าวที่ว่า " สันติส่วนบุคคลเป็นสันติภาพสากลของโลกใบนี้ หรือ สันติในเรือนใจคือ หัวใจของสันติภาพของโลก " นั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ.ร่วมสืบสานพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ ...