วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

เริ่มแล้ว!ขับเคลื่อน"ตำบลช่อสะอาดแห่งแรกของไทย"




หลักสูตรสันติศึกษา มจร ร่วมกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ป.ป.ช.จังหวัด ถกนายอำเภอปรางค์กู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่น สพฐ.และกศน. ยกตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ต้นแบบนำร่อง



วันที่ 25 มกราคม 2561ที่ผ่านมา หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา มจร ร่วมกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดศรีสะเกษ (ป.ป.ช.) ร่วมกันปรึกษาหารือกับนายอำเภอปรางค์กู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารท้องถิ่นในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดศรีสะเกษ (สพฐ.)  และสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด (กศน.)   เพื่อหาแนวทางและแสวงหาฉันทามติในการพัฒนาตำบลต้นแบบในฐานะ "ตำบลช่อสะอาดแห่งแรกของประเทศไทย" ซึ่งการขับเคลื่อนตำบลช่อสะอาดครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการต่อยอดจากหมู่บ้านช่อสะอาดที่ได้โครงการจนประสบความสำเร็จมากว่า 3 ปีแล้ว ที่วัดบ้านท่าคอยนาง ตำบลสวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ และศาลาประชาคมตำบลสวาย




นายชล การะเกษ  กำนันตำบลสวาย กล่าวว่า จากเห็นพัฒนาการของหมู่บ้านช่อสะอาดแล้ว เชื่อมั่นว่า จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาตำบลช่อสะอาดประสบความสำเร็จ และที่สำคัญชาวบ้านส่วนใหญ่มีต้นทุนทางความเชื่อทางศาสนาที่ดี เชื่อว่าโครงการนี้จะดึงพลังความสามัคคีออกมา เพื่อสร้างตำบลช่อสะอาดให้เป็นตำบลแห่งความซื่อสัตย์ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างยั่งยืน



ขณะที่นายชาญชัย พลศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวสนับสนุนว่า ช่อสะอาดเกิดจากการเสริมพลังของมือในชุมชน ถ้ามือสะอาดแล้ว การทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนก็จะทำให้ชุมชนมีพลังในการพัฒนา เพราะความซื้อสัตย์จะช่วยพยังให้ชุมชนไว้เนื้อเชื้อใจซึ่งกันและกัน มีเอารัดเอาเปรียบกัน สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดจะระดมคณะทำงานจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง



พระมหาหรรษา  ในฐานะผู้เริ่มพัฒนาต้นแบบหมู่บ้านช่อสะอาดร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 5 ของ ป.ป.ช. โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต เป็นที่ปรึกษา โดยได้ย้ำว่า ดีใจที่ได้เห็นผู้นำของตำบลสวายคือนายชลที่มองเห็นความสำคัญของโครงการพัฒนาตำบลต้นแบบของตำบลช่อสะอาดในครั้งนี้  แล้วกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ 10 หมู่บ้านในตำบลได้เห็นความสำคัญของการเข้าสู่ตำบลช่อสะอาด





"หมู่บ้านช่อสะอาดไม่สามารถเจริญเติบโตด้วยอย่างโดดเดี่ยว การที่จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาร่วมกับหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบล ต้องทำให้ทั้งตำบลสะอาด เพื่อให้พลังสะอาดช่วยขับไล่พลังสกปรก หรือพลังที่ไม่ดีให้อ่อนตัวลง พลังสะอาดจะช่วยกระตุ้นให้สังคมมีภูมิคุ้มกันในการร่วมกันต่อต้านการทุจริตตั้งแต่ระดับชุมชนฐานราก และดึงพลังแห่งความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชนออกมาร่วมสร้างและพัฒนาชุมชนให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกัน และเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป" พระมหาหรรษากล่าวและว่า




โครงการพัฒนาตำบลช่อสะอาดนี้ เป็นการทำงานแบบ Social Lab หมายถึงการเอาชุมชนเป็นห้องปฏิบัติการจริง โดยจะเริ่มต้นจากการที่ทีมงานทั้งนอกและในชุมชนร่วมกันใช้หลัก SWOT มาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของแต่ละหมู่บ้าน ทั้ง 10 หมู่บ้านในตำบล แล้วนำประเด็นต่างๆ มาพูดคุยในแต่ละหมู่บ้าน ก่อนที่จะปรึกษาหารือกันในภาพรวม แล้วนำไปสู่การประชาคมทั้งตำบล เกี่ยวกับแผนที่ของเส้นทางการพัฒนาตำบลช่อสะอาด หลังจากนั้น จะเป็นการลงนามความร่วมเพื่อเข้าสู่การเป็นตำบลช่อสะอาดร่วมกัน ทั้งจากทุกหมู่บ้านในตำบล ส่วนงานท้องที่ท้องถิ่น และส่วนงานสนับสนุนภายนอกที่มาจากภาคเอกชน ส่วนงานราชการ และองค์กรทางศาสนา รวมถึงมูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิต่อต้านการทุจริต และมูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...