ป.ป.ส.ร่วมกับคณะสงฆ์ทั่วประเทศป้องกันยาเสพติด พระพรหมบัณฑิต มส. แนะแนวพระวินยาธิการมีส่วนร่วม ชี้ใช้วิปัสสนาป้องปราบแบบยั่งยืน
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นประธานในการเปิดโครงการถวายความรู้พระวิินยาธิการระดับจังหวัดทั่วประเทศเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด จัดโดยสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยมีพระเลขาเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะเขต เจ้าคณะอำเภอจากทั่วประเทศเข้ารับการฝึกอบรม ที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
ในโอกาสนี้ พระพรหมบัณฑิต ได้บรรยายในหัวข้อ "นโยบายแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดของมหาเถรสมาคม" ความว่า ขออนุโมทนาต่อสำนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้มาจัดกิจกรรมนี้ ที่ผ่านมาปัญหายาเสพติดได้คุกคามเยาวชนและคุกคามเข้ามาในวัด การรู้ปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหา คือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ปัญหายาเสพติดที่เกิดจากชาวบ้าน เป็นเรื่องที่กิจของสงฆ์ต้องช่วย บ้านและวัดต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน บ้านกับวัด หมายความว่า คฤหัสถ์ บำรุงศาสนา บรรพชิต ช่วยธรรมะ ตอบแทนกัน ปัญหายาเสพติดเกิดจากมาตรการรักษาศีล 5 ในข้อที่ 5 ยังไม่บรรลุ โครงการรักษาศีล 5 ประสบความสำเร็จ ยาเสพติดก็ไม่สามารถเข้าไปทำลาย ถ้าพระสงฆ์ช่วยสร้างปราการญาติโยม โดยการสอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น วัดจะต้องเป็นวัดสีขาว ป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาทำลาย ถ้ากำแพงวัดที่สร้างขึ้นเกิดบ่อนเซาะ ยาเสพติดเข้ามา จะสั่งสอนก็ไม่มีใครฟัง
ในฐานะพระวินยาธิการมีหน้าที่สอดส่องดูแลพระภิกษุสามเณรปฏิบัติงานปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยการปกครองภิกษุและสามเณรให้ปลอดยาเสพติดและอบายมุข การจัดให้การศึกษา อบรมพระภิกษุ สามเณร ฆราวาส รู้พิษภัยยาเสพติด การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ต้องสอดแทรกเรื่องโทษพิษภัยยาเสพติด เป็นโครงการกิจกรรมที่ต้านยาเสพติด เนื่องจากปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่ขึ้นกับเยาวชนและเยาวชนเป็นเหยื่อ ในการเทศน์ ก็ต้องสอดแทรก แก้ปัญหาโดยไม่ต้องพึ่งพิงยาเสพติด ประสานกับบ้านและราชการ ที่เรียกว่า บวร สถานที่เป็นที่อบรม ชี้แจงทำความเข้าใจ ให้เกิดการศึกษาเข้าใจ อาคารสถานที่ก่อสร้างมีไว้เพื่อ เป็นการช่วยสังคม ช่วยป้องกัน บำบัด และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ในปัจจุบันมียาเสพติดรูปแบบต่างๆแพร่ระบาดในหมู่ประชาชนกระจายทั่วไปเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจและสังคม กระทบถึงศีลธรรมและวัฒนธรรมของชาติ รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอย่างมีระบบ
บทบาทของคณะสงฆ์และวัดจะต้องเป็นศูนย์สงเคราะห์รักษาทางกายและใจ ถือได้ว่าบทบาทของสงฆ์เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวพุทธ เรียกว่า โลกัตถจริยา ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ยาเสพติดเป็นปัญหา เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทุกคนต้องร่วมมือ วัด ครอบครัว ชุมชนต้องร่วมมือกัน เพราะบทบาทของศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของชาวไทย พระพุทธศาสนาจึงต้องเป็นหลักยึดมั่นในใจของประชาชนด้วยหลักธรรมคำสอนที่ผดุงไว้ซึ่ง ศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมอันดีเพื่อรักษาระเบียบแห่งสังคมให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข รวมทั้งบุคลากรของพระพุทธศาสนา ทั้งพระภิกษุและสามเณรจะต้องกระทำตนเป็นต้นแบบแห่งคุณธรรม จริยธรรม อันดีงามให้กับสังคม และรักษาความเคารพศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาไว้
ทั้งพระภิกษุ สามเณร ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกา พุทธศาสนิกชนทั้งปวง ต้องร่วมกันปกป้องสถาบันพระพุทธศาสนาให้พ้นจากภัยคุกคามของยาเสพติด และทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักยึดมั่นของประชาชนในการก้าวผ่านวิกฤติยาเสพติดให้จงได้ เช่น โครงการหลวง โครงการส่วนพระองค์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2512 ด้วยพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในการจัดหาพืชให้ชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือปลูกทดแทนฝิ่น ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ป่าไม้ต้นน้ำถูกทำลายลงมากมาย แต่ยังเป็นต้นตอของยาเสพติด ที่เป็นปัญหาสำคัญของโลกในเวลานั้น ทรงทราบว่าชาวเขาที่ยากจนมีรายได้จากการปลูกฝิ่น และเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าช่วยเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด ทำให้นโยบายการระงับ การปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่น ได้ผลดี
"ดังนั้น การล่มสลายของจีน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหายาเสพติด เกิดจากการทำลายตัวเอง ไม่ใช่เพราะต่างชาติอย่างเดียว เหมือนคนไทย ถ้าไม่มีตัวบ่อนทำลาย ศาสนาก็เช่นเดียวกัน ใครจะมาทำลายไม่ได้ ถ้ามันไม่มีสนิม ความอ่อนแอ เปรียบเสมือนกบนอนสบายอยู่ในหม้อ โดยไม่รู้ว่าโดนสุมไฟ กว่าจะรู้ตัวว่าอยู่ในน้ำเดือด ตัวกบก็สุก เปรียบได้กับปัญหาเรื่องยาเสพติดของประเทศไทยในขณะนี้ที่ทุกคนต้องตระหนักและร่วมกันป้องกันและแก้ไขข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวกับยาเสพติด" พระพรหมบัณฑิต กล่าว
พระราชวรมุนี ดร. รองอธิการบดี มจร กล่าวว่า ต่อไปคณะสงฆ์จะต้องทำงานตามแนวทางของ PDCA มีการวิคราะห์ SWOT ในการทำงานป้องกัน พระสงฆ์จะต้องทำงานเชิงรุกเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราต้องทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ตามแผนการปฏิรูปพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ทำงานเยอะมากแต่ขาดการทำ KM คือการจัดการขององค์ความรู้ เราทำงานไว้มากแต่ไม่มีกระบวนการของ KM ทำไมพระพุทธโฆษาจารย์ พระพรหมบัณฑิตมีหนังสือออกมามากมาย เพราะมีการทำ KM อย่างต่อเนื่อง
"เราจึงต้องยกระดับการทำงานเพราะพระวินยาธิการ เป็นคำใหม่ที่ใช้เรียกพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดให้มีหน้าที่ช่วยเหลือด้านการปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัด โดยเฉพาะหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยด้านการปฏิบัติวินัยของพระภิกษุสามเณร หรือเรียกว่า ตำรวจพระ หมายถึง พระภิกษุชาวไทยผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระวินัย หน้าที่ของพระวินยาธิการ คือ ตรวจตรา แนะนำ ตักเตือน และชี้แจงระเบียบปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรในจังหวัด พระวินยาธิการเป็นตำแหน่งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้การปฏิบัติหน้าเป็นไปอย่างติดๆ ขัดๆ" พระราชวรมุนี กล่าว
พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า วินยาธิการ (วิ-นะ-ยา-ทิ-กาน/ (วินย + อธิ + การ, แปล "เจ้าการพระวินัย") หรือเรียกว่า ตำรวจพระ หมายถึง พระภิกษุชาวไทยผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระวินัย เรียกเต็มว่า "พระวินยาธิการ" ในการถวายความรู้ในเรื่อง นโยบายแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดของมหาเถรสมาคม การสร้างเครือข่ายการป้องกันยาเสพติด การนำพระธรรมวินัยและกฎหมายป้องกันยาเสพติด การระดมความคิดเพื่อการป้องกันยาเสพติด และการใช้วิปัสสนากรรมฐานกับการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ดังนั้นถือว่าเป็นการปฏิรูปคณะสงฆ์ โดยคณะสงฆ์ลุกขึ้นมาปฏิรูปตนเองซึ่งการปฏิรูปมี 2 งานคือ งานเก่าจัดให้เป็นระบบระเบียบ และคิดงานใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เท่าทันกับยุคไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้น พระวินยาธิการเป็นส่วนของงานปกครองคณะสงฆ์ จะต้องทำงานต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
..........................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูล Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น