วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

สสส.ยก"สุโขทัยโมเดล"นำรองธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ทั่วไทย




"สสส."ยก"สุโขทัยโมเดล"นำรอง ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ หวังบูรณาการงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา





เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 พระราชวิมลเมธี เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และเลขานุการ ครั้งที่ 1/2561 ณ วัดสังฆาราม อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ผอ.รพ.บ้านด่านลานหอย สรรพากรพื้นที่สุโขทัย ร่วมประชุมด้วย



การนี้ มีพระราชวรมุนี,ดร. (พล อาภากโร,ป.ธ.9) รองเจ้าคณะภาค 6, รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) และประธานคณะทำงานโครงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เมตตาเป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง "งานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ระดับจังหวัด"



พระราชวรมุนี กล่าวว่า การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา จะสำเร็จได้ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การปฏิบัติได้ เราต้องเริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิด และคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัย เห็นไปในทิศทางเดียวกัน (วิสัยทัศน์) รวมถึงมองเห็นภาพเดียวกันทั้งองค์กร และที่สำคัญเดินไปตามแผนที่วางไว้ (ยุทธศาสตร์) ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เรามีแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (2560-2564) คณะสงฆ์มีพันธกิจหรือภาระงานของคณะสงฆ์ 6 ด้าน คือ (1) ด้านการปกครอง (2) ด้านศาสนศึกษา (3) ด้านศึกษาสงเคราะห์ (4) ด้านเผยแผ่ (5) ด้านสาธารณูปการ (6) ด้านสาธารณสงเคราะห์ และเพิ่มธุระงานพิเศษอีก 1 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก



กล่าวโดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 2560-2564 เรากำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ของแผนฯไว้ว่า "พุทธศาสตร์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน" การจะขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ต้องอาศัยค่านิยมที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ให้เดินหน้าไปได้ เหมือนน้ำมันเครื่องที่เป็นตัวหล่อลื่นเครื่องยนต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค่านิยม (Core Value) คือ "อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา สู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน"



วันนี้เรามียุทธศาสตร์ชาติ เป็นกรอบการพัฒนาระยะยาวของประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ส่วนคณะสงฆ์เราอยู่กันภายใต้พระธรรมวินัย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจารีตประเพณี ในปี 2560-2564 นี้เรามีแผนยุทธศาสต์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เป็น กรอบการพัฒนาระยะยาวของเราเพื่อดำเนินงานตามภารกิจทั้ง 6 ด้านที่จะขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนาให้เติบโตยั่งยืนในแต่ละด้าน ดังนี้ (1) ด้านการปกครอง การบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิพล เพื่อส่งมอบศาสนบุคคลที่มีคุณภาพ (2) ด้านศาสนศึกษา การจัดและการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อส่งมอบศาสนทายาท



(3) ด้านศึกษาสงเคราะห์ สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์แก่คฤหัสถ์ เพื่อส่งมอบโอกาสทางการศึกษาให้พุทธบริษัท (4) ด้านการเผยแผ่ การสื่อพุทธธรรมสู่สังคมให้เกิดสันติสุข เพื่อส่งมอบแนวทางการดำเนินชีวิตวิถีพุทธ(5)ด้านสาธารณูปการ การบริหารจัดการศาสนสมบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อส่งมอบสถานที่สำหรับพุทธศาสนิกชน (6) ด้านสาธารณสงเคราะห์ การอนุเคราะห์และสงเคราะห์ประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประชาชนผู้ทุกข์ร้อนเบื้องต้น และ (7) การพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาพื่้นที่สำหรับดำเนินกิจกรรมพระพุทธศาสนาระดับชาติและนานาชาติ



ในการดำเนินการ อาจจะต้องทำความเข้าใจกับนิยามศัพท์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เช่น เรามีสิ่งที่คณะสงฆ์ต้องทำร่วมกัน (พันธกิจ) ความเชื่อมั่นร่วมกันของคณะสงฆ์ (ค่านิยม) สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 5-20 ปีหลังการปฏิรูปกิจการฯ (วิสัยทัศน์) เป้าหมายหลักที่ต้องทำให้บรรลุวิสัยทัศน์ (เป้าประสงค์) กระบวนการขับเคลือนสู่เป้าหมาย (ยุทธศาสตร์) มีวิธีการเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ (กลยุทธ์) มีแผนงาน กิจกรรม งบประมาณ (โครงการ)



ความหมายง่าย ๆ ของคำว่ายุทธศาสตร์ คือ เราต้องดำเนินงานให้แตกต่างจากเดิมอย่างไร เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ งานปฏิรูปมีระยะในการดำเนินการตามแผนฯ เช่น ในปี 2560-2561 จะเป็นงานสร้างมาตรฐานกระบวนการทำงานมาตรการ แผน นโยบายในทุกด้านของกิจการคณะสงฆ์ ในส่วนคณะสงฆ์ระดับจังหวัด ก็จะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด พ.ศ. 2560-2564 เชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2560-2564 รวมถึงตัวอย่างการจัดทำแผนพัฒนาวัด



จะเห็นว่าโครงการ/กิจกรรมที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแผนงาน กิจกรรม งบประมาณในการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ และเป้าประสงค์ที่เรากำหนดไว้ ตามแผนแม่บทของคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ต้องบูรณาการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นส่วนหนึ่งแผนยุทธศาสตร์จังหวัด หรือวัด กล่าวเป็นตัวอย่างในวันนี้ เช่น งานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มหาเถรสมาคมมีมติรับทราบและใ้หการขับเคลือ่นธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 อยู่ในแผนงานของคณะกรรมการฝายสาธารณะสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม มีพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธาน และได้มีพิธีประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2560 เมื่อในวันที่ 20 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา เพื่อใช้่เป็นกรอบและแนวทางในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์กันเองตามพระธรรมวินัย ชุมชนสังคมดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำชุมชนสังคม



การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนุน 20 พื้นที่นำร่องทั่วประเทศ เพื่อหวังบูรณาการงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา วันนี้จึงเป็นการหารือกับคณะพระสังฆาธิการ จ.สุโขทัย ที่ได้ร่วมกำหนัดให้้จังหวัดสุโขทัย้ข้าร่วมเป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่อง ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ในระดับจังหวัด โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ จังหวัดสุโขทัย โดยมีพระราชวิมลเมธีเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยเป็นที่ปรึกษา ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ มีคณะกรรมการประกอบด้วยเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และมีทีมเลขานุการทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์นำโดยฝ่ายสาธารณสุข



คณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยโมเดล หวังใช้การขับเคลืือนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ. 2560 เป็นกรอบและแนวทางบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาสู่การปฏิบัติ อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลศาสนบุคคล การสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรในเขตปกครองทำบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อใช้เป็นหลักฐานราชการ และการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ตามมติมหาเถรสมาคม มติที่ 191/2560 และมติที่ 695/2560 โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ผอ.รพ.บ้านด่านลานหอย สรรพากรพื้นที่สุโขทัย ร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการ



เห็นได้ว่า การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติในระดับพื้นที่นี้ นับเป็นกิจกรรมภายใต้แผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยอยู่ในแผนงานด้านสาธารณสงเคราะห์ นับเป็นรูปแบบทำงานเชิงบูรณาการที่เห็นเป็นรูปธรรม ระหว่างคณะสงฆ์และภาคีเครือข่าย โดยยึดหลัก "ทางธรรม นำทางโลก" เพื่อ "พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข" สืบไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...