วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561
"พระว.วชิรเมธี"พร้อมหนุนวิจัยป.เอกสันติศึกษา
"พระว.วชิรเมธี"มอบ450ทุนศึกษา"ประถม-ป.เอก" พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการทำวิจัย ป.เอก สันติศึกษา "มจร" มุ่งเสริมสร้างการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เป็นกระบอกเสียงให้มหาจุฬาฯสร้างสันติสุขให้กับสังคม
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงวันที่ 29 มกราคม ศิษยานุศิษย์ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จ.เชียงราย ประธานศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ต่างเดินทางไปร่วมงานอายุวัฒนมงคล พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมสมทบปัจจัยเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงพระนิสิต นิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระมหาวุฒิชัยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะกรรมการบัณฑิตวิทยา มจร และมีเงื่อนไขคือเมื่อทำวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์สำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องนำเล่มวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ไปมอบให้กับศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวันเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
และปี 2561 นี้ก็เช่นเดียวกัน ได้จัดงานภายใต้ชื่อ "วันแห่งการให้ปีที่ 5" และได้มอบทุนทั้งสิ้น 450 ทุน โดยทุนการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท 6 ทุน และดุษฎีนิพนธ์ีระดับปริญญาเอก 4 ทุน สำหรับพระนิสิต นิสิต มจร โดยทุนละ 10,000 บาท ในจำนวนนี้มีพระนิสิตและนิสิตปริญญาเอกรุ่นแรก สาขาสันติศึกษา มจร ได้รับคัดเลือกเข้ารับมอบทุนด้วยจำนวน 3 รูป/คน
ก่อนจะเริ่มพิธีมอบทุึนพระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้เข้าถวายเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร แก่พระมหาวุฒิชัย เนื่องจากพระปราโมทย์ได้เคยสัมภาษณ์ช่วงทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง" รูปแบบการฝึกอบรมแบบธรรมะโอดีเพื่อเสริมสร้างองค์กรสันติสุข " และเป็นพระต้นแบบด้านการเผยแผ่ในยุคปัจจุบันที่เข้าใจเข้าถึงคนในยุคปัจจุบัน และวิทยานิพนธ์นี้ผ่านการทดลองและไปใช้จริง พร้อมกันนี้ได้นำเสนอโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกภายใต้เรื่อง "พระวิทยากรสันติภาพ" ทำให้พระมหาวุฒิชัยสนใจเป็นอย่างมาก พร้อมกล่าวว่า "ผมอ่านสาราณียธรรมของท่าน เขียนดีภาษางดงามมาก เป็นการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ เป็นกระบอกเสียงให้มหาจุฬาฯ ผมตามอ่านอยู่และสิ่งสำคัญต้องทำเป็นหนังสือ เดี๋ยวผมถวายทุนเพิ่ม"
ขณะที่นายสำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้เข้าถวายเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เนื่องจากได้รับมอบทุนการระดับปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร เมื่อปี 2559 และเข้ารับทุนระดับปริญญาเอก เรื่อง "พุทธนวัตกรรมการใช้สื่อออนไลน์เพื่อสร้างสันติภาพของพระสงฆ์สู่สังคมไทย"
พระปราโมทย์ ได้ระบุว่า จุดเริ่มต้นของการเขียนจริงๆ โดยเฉพาะการเขียนลงเฟชบุ๊กนั้น เกิดจากการไปฟังการสัมมนา จากผู้เชี่ยวชาญ ครูบาอาจารย์ ก็สรุปลงในไลน์แล้วเรียบเรียงภาษาให้เชื่อมโยงเป็นภาษาที่สร้างความสันติสุข เพราะมองว่าเก็บไว้อ่านคนเดียวเป็นเพียงปัจเจกปัญญาทำอย่างไรจะให้คนอื่นได้อ่านด้วยเป็นสาธารณปัญญา ทำให้มีผู้คนเข้ามาอ่าน เป็นความสุขที่ได้แบ่งปัน เหตุผลลึกๆ คือ ความสุขที่ได้แบ่งปันความรู้ดีให้คนอื่น เห็นอะไรดีๆแล้วหัวใจอยากแบ่งปันผ่านข้อความที่สร้างสรรค์ จนทำให้นักข่าวเชิงพุทธคือ นายสำราญซึ่งเรียนปริญญาเอกมหาจุฬาฯ นำไปสื่อสารเป็นข่าวออกไปทั่วโลกให้คนรับรู้ จึงเป็นข่าวสารด้านบวกในทางพระพุทธศาสนา เหตุสำคัญประการเพราะเราเรียนหลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬาฯ ความเป็นสันติศึกษาต้องเป็นต้นแบบของการสื่อสารออกไปเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น สื่อสารเชิงสร้างสรรค์มิใช่สื่อสารเพื่อทำลายใคร การโพสต์ในสื่อสารออนไลน์จึงเป็นชี้วัดภายในของบุคคลคนนั้น
ในโลกออนไลน์มีเรื่องราวมากมายทั้งเชิงลบและเชิงบวก ถ้าเราโพสต์ แชร์ คอมเมนท์ ด้วยภาวะอันขาดสติและมีอคติเพียงครั้งเดียวอาจจะนำไปสู่การใช้ชีวิตหรือการทำงานเพียงชั่วข้ามคืน อาจจะดังแบบบวกหรือดังแบบลบก็ได้ จากการศึกษาและการตกผลึกการโพสต์ในปัจจุบันนั้นสามารถแบ่งออก 3 ประเภท ในสื่อออนไลน์ โดยมีเฟชบุคเป็นสำคัญ คือ
1)"การโพสต์ธรรมดา"หมายถึง การโพสต์ทั่วไป เป็นอัตเดทชีวิตประจำ หรือการไปเที่ยวที่ใดก็โพสต์ วิวทิวทัศน์ เป็นการบอกเรื่องราว การโพสต์ธรรมดา" อ่านแล้วจิตใจอยู่ในระดับเท่าเดิม " ชีวิตผู้อ่านผู้โพสต์ไม่แย่ลงแต่ก็ไม่ดีขึ้น
2)"การโพสต์ดราม่า"หมายถึง การโพสต์ไปแล้วทำให้ตนเองและคนอื่นมีจิตใจแย่ลง เช่น การด่าทุกประเภท การบ่นชีวิต บ่นรถติด บ่นทุกรูปแบบ การประชดอะไรบางอย่าง มีการแชร์ในทางลบ ในการโพสต์ดราม่า "อ่านแล้วจิตใจต่ำลง"
3)"การโพสต์คุณค่า" หมายถึง การโพสต์แล้วทำให้จิตใจสูงขึ้น โพสต์แล้วกลับมาอ่านก็ยังทำให้รู้สึกจิตใจสูงขึ้น เช่น ประสบความผิดหวังในชีวิตแทนที่จะโพสต์ดราม่ากลับโพสต์คุณค่า ที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น ทำให้เราได้ข้อคิดจากความผิดหวัง เป็นการโพสต์คำคม ข้อคิด หรือแชร์ข้อความดีๆ ที่ช่วยให้สังคมได้ข้อคิด แบ่งความรู้เพื่อให้สังคมดีขึ้น หรือ การโพสต์ข่าวสารทางบวกช่วยจรรโลงจิตใจ ถือว่าเป็นการโพสต์ให้เกิดคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่นสังคม
ประเด็นการโพสต์แบบดราม่า "เราต้องหาคุณค่าในดราม่าให้เจอก่อน " แล้วค่อยโพสต์ หมายถึง การหาคุณค่าในเรื่องดราม่าให้เจอก่อนโพสต์ เราเห็นใครทำอะไร ผิด เห็นใครทำอะไรพลาด อย่าเพิ่งแชร์หรือด่า เราต้องหาคุณค่าจากดราม่าให้เจอค่อยโพสต์ เราจะต้องฝึก หรือเวลามีเรื่องแย่ๆ กับเรา จงหาคุณค่าก่อนโพสต์ เพราะ " ในเรื่องดราม่ามีคุณค่าซ่อนอยู่เสมอ " คนทำผิดสอนเราว่าอย่าทำแบบนั้น คนทำพลาดสอนเราว่าอย่าทำแบบนั้น เราเจอเรื่องแย่ๆ ต้องกลับสอนตนเองว่าเราจะพัฒนาเองไม่แย่อีกอย่างไร เรื่องราวดราม่าที่เกิดขึ้นจะมีคุณค่าเสมอ หาให้เจอค่อยแชร์ค่อยโพสต์ เพราะสิ่งเราโพสต์ไปไม่สามารถย้อนคืนได้ บางครั้งจะกลับไปลบไม่ทันแล้ว เพราะเข้าไปอยู่ในกระทู้หรือความทรงจำของผู้คนเรียบร้อยแล้ว คิดก่อนโพสต์ พอมีเรื่องดราม่าเกิดขึ้น บอกตนเองว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้เรียนรู้เรื่องอะไร
ทุกครั้งที่จะโพสต์เรื่องดราม่าต้องคิดเสมอว่า " นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า " เราเห็นใครกำลังมีความทุกข์ เราอย่าไปแบ่งความทุกข์คนอื่นมาเป็นความทุกข์ของเรา ดราม่าได้แต่ต้องบอกว่า " นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า " ยิ่งเราโพสต์ แชร์ คอมเมนส์ ดราม่ามากๆ ชีวิตเราจะมีแต่เรื่องดราม่า เพราะเราให้ความสนใจสิ่งใด ใจจะดึงดูดสิ่งนั้น แต่ถ้าเราให้ความสนใจโพสต์ แชร์ คอมเมนต์ แบ่งปัน กดไลท์ เรื่องราวที่มีคุณค่า ชีวิตเราก็จะเจอแต่เรื่องดีๆ มีคุณค่ามีความสุขประสบความสำเร็จ ในชีวิต "จงเป็นมนุษย์ที่มุ่ง มอบคุณค่า ไม่เป็นมนุษย์ที่มุ่ง สร้างดราม่า " เป็นการสร้างสังคมที่งดงามจากปลายนิ้วของเราเอง
โดยเราทุกคนช่วยกันแชร์คุณค่ามากกว่าแชร์ดราม่า สังคมเรามีดราม่าเยอะมาก เป็นพลังลบ เราต้องช่วยกันแชร์พลังบวก คือ โพสต์คุณค่า ฝึกพลิกใจจากลบมาเป็นบวก เทคโลโลยี 4.0 แต่บางครั้งจิตใจเรายัง 0.4 เทคโนโลยีเป็นของกลางๆ ใช้ให้เกิดคุณค่าหรือดราม่าก็ได้ เราต้องใช้เทคโนโลยีให้มีสติและปัญญา การสร้างสังคมของเราให้น่าอยู่เมื่อเราช่วยกันโพสต์คุณค่ามากกว่าดราม่า
ดังนั้น การโพสต์จึงมี 3 ประการ คือ โพสต์ธรรมดา โพสต์ดราม่า โพสต์คุณค่า สังคมจะน่าอยู่ถ้าเราช่วนกันโพสต์สิ่งที่เป็นคุณค่า แต่ถ้ามีเหตุต้องโพสต์ดราม่าจึงบอกว่า " เรื่องราวนี้สอนให้เรารู้ว่า " จึงมีคำสอนเรื่องการสื่อสารในโลกออนไลน์เตือนเราว่า "อย่าใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยภูมิปัญญาขั้นต่ำ" แม้จะทำความดีแล้วยังมีเรื่องราวดราม่าจงมองคุณค่าให้เจอให้เรื่องราวนั้น เพราะตาที่สวยที่สุด คือ ดวงตาที่มองความดีคุณค่าของคนอื่น ถามตนเองว่าโพสต์ดราม่าหรือโพสต์คุณค่าในแต่ละวัน อย่าลืมว่าเรื่องดราม่ามีเรื่องคุณค่าซ่อนอยู่เสมอ การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันจึงต้องมีสติและปัญญา ลักษณะที่ว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จงเป็นมนุษย์ที่มอบคุณค่ามากกว่ามนุษย์ที่สร้างดราม่า ภายใต้ เทคโนโลยี 4.0แต่อย่าให้จิตใจของเราเป็น 0.4
พระปราโมทย์ ระบุด้วยว่า ไร่เชิญตะวันเป็นแหล่งเรียนรู้ความเป็นสันติภาพทุกศาสนาสามารถเข้ามาเรียนรู้ในความเป็นพหุวัฒนธรรม โดยมุ่งการอยู่ร่วมกันมากกว่าการมุ่งทำร้ายกัน สันติภาพจึงเป็นเครื่องมือชี้วัดมนุษยชาติ ทุกคนต่างต้องการสันติภาพภายในและสันติภายนอก เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ทุกครั้งที่เดินทางมาไร่เชิญตะวันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของแหล่งเรียนรู้ในมิติต่างๆ นี่คือ ต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน
การอยู่ในสังคมนี้ไม่ได้วัดว่าใครเก่ง แต่วัดว่าใครจะสงบมากกว่ากัน ขนาดเราปฏิบัติขนาดนี้ เวลาเราเจอโลกธรรมมาทดสอบ เรายังออกนอกเส้นทางในบางครั้ง ถ้าเราสงบกิเลสตนเองได้ เราจะสามารถจัดการกับคนอื่นได้ คนเก่งมีมากในสังคม ซึ่งรู้สันติวิธีในการจัดการความขัดแย้ง แต่ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งได้เพราะภายในไม่สงบ ภายในยังฝึกไม่พอ เราต้องพัฒนาภายในอีกมากมาย เรามีเวลาไม่มากพอที่จะไปโกรธ เกลียดคนอื่น มีแต่เวลามอบความรักให้คนอื่น บางครั้งพวกเราเองยังรักกันไม่ได้ แล้วเราจะไปรักใครได้จะต้องฝึกรักพวกเดียวกันก่อนจะไปรักคนอื่น เราต้องฝึกเป็นสะพาน สะพานที่มีความเข้มแข็งเพื่อให้คนอื่นก้าวข้าม
ดังนั้น การมีโอกาสเดินทางมาไร่เชิญตะวันเป็นการมารับพลังภายในเพื่อเตรียมออกไปทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ เพราะโลกนี้มีอะไรมากมาย เราจะต้องพัฒนาตนให้มีสันติภายในก่อน ซึ่งสังคมปัจจุบันท้าทายเรามาก เราจึงต้องมีสติ ขันติ สันติ เดินตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ภายใต้คำว่า "สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี"
..........
(หมายเหตุ : ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ีที่เฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat พระปราโมทย์ วาทโกวิโท)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น