วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"เศรษฐพงค์"แนะ"กสทช."อีก ติดเน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุม-มีคุณภาพ



เมื่อวันที่ 2 พ.ค. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19  จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อย่างในอนาคต โดยเฉพาะด้านการศึกษา ตนจึงอยากฝากไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เร่งสนับสนุนสนการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อการศึกษาทุกระดับ หลังจากที่พบว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดฯ ทำให้เกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการปรับตัวหลายด้าน  เช่น การเว้นระยะห่าง การกักตัวอยู่บ้าน และพบว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้เกิด New Normal ด้านการศึกษา ที่ทำให้ภาคการศึกษาต้องทบทวนรูปแบบการเรียนการสอน จากเดิมที่ต้องสอนภายในห้องเรียน สอนผ่านตัวบุคคลากรทางการศึกษา เป็นรูปแบบการสอนด้วยระบบออนไลน์ หรือ การศึกษาผ่านเทคโนโลยี เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสอันตราย  แต่การปรับรูปแบบของการศึกษานั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เตรียมพร้อมสำหรับชีวิต อาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าด้วย 

"การระบาดของไวรัสโควิด เป็นโอกาสให้ภาคการศึกษาทบทวนรูปแบบการเรียนการสอนใหม่  โดยใช้บทบาทของเทคโนโลยีให้ความรู้แก่เยาวชน และกำหนดวิธีเรียนรู้ของเยาวชนยุค  Generation Z, Generation Alpha และเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งการส่งเสริมบทบาทของเทคโนโลยีดังกล่าว จำเป็นต้องเร่งผลักดันโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการศึกษาทุกระดับ เพราะจะเป็นสิ่งที่ยกระดับการศึกษารูปแบบใหม่ และศักยภาพของการเรียนรู้ของเยาวชนให้ทันโลกยุคใหม่ได้อย่างทันท่วงที" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว  

รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ภาคการศึกษาได้ปรับรูปแบบใหม่ คือ 1. ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะความเข้าใจต่อการเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก และก้าวข้ามความแตกต่างของคน ด้วยวิธีทำงานร่วมกันทั่วโลก 2. กำหนดนิยามบทบาทของครูผู้สอนใหม่ เพราะไม่ใช่เป็นบุคคลให้ความรู้แก่ผู้เรียน แต่คือ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ และเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์  ดังนั้นบทบาทของนักการศึกษา คือ มุ่งสู่การพัฒนาเยาวชนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณา 3. การสอนทักษะชีวิต การมีความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ และการทำงานร่วมกัน ควบคู่ไปกับการเอาใจใส่และความฉลาดทางอารมณ์ คือจำเป็นสำหรับอนาคต ที่สามารถส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพและทำงานข้ามกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างกันได้ และ 4. ปลดล็อคเทคโนโลยีเพื่อส่งมอบการศึกษา เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มี สร้างเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้ระยะไกลสำหรับนักเรียนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโรงเรียนระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษา ให้เกิดประโยชน์ในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับนักเรียนทั่วโลก

"ศุภชัย"นำทีมประชุมใหญ่สามัญประจำปีชูนโยบายขับเคลื่อน"เศรษฐกิจดิจิทัล"

ขณะที่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯได้จัดประชุมสามัญประจำปี 2562 ขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งสภาฯ โดยจัดประชุมในรูปแบบ E-Meeting ตามพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ซึ่งสภาดิจิทัลฯได้ผลักดันจนสำเร็จเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการบริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดการประชุมฯบริษัทได้ในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในการประชุมสามัญประจำปี 2562 นี้มีวาระสำคัญคือการประกาศนโยบายและแผนงานของสภาฯที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลสู่สากล และให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดพฤติกรรม New normal ที่จะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy พร้อมกันนี้สภาดิจิทัลฯได้ออกคู่มือวิธีการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่สอดคล้องกับพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริษัทเอกชนต่าง ๆ ได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องการแสดงตน และการลงมติ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือวิธีการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้ที่ www.dct.or.th โดยหวังเป็นอย่างยิ่งจะช่วยให้แต่ละบริษัทสามารถจัดประชุมฯโดยเฉพาะในช่วงนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียน ต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปี
          
สภาดิจิทัลฯมีวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถประเทศ รวมไปถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ โดยสภาดิจิทัลฯมีภารกิจสำคัญ 5 ประการคือ 1.กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดใหม่แก่ประเทศไทย 2.สร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3.พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 5.เสริมสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก
          
ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ มีสมาชิกที่เป็นสมาคมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล 22 สมาคม ประกอบด้วยบุคคลและนิติบุคคลกว่า 4,000 ราย ครอบคลุมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งด้านฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ด้านซอฟต์แวร์ ด้านบริการดิจิทัล ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ และด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: หนุ่มมหานักข่าว

 ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่  (Verse 1)   บวชเป็นมหา ศึกษาธรรมะนานปี ร่ำเรียนบาลี ด้วยใจที่มุ่งมั่นกล้า...