วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"นักวิชาการ มจร"โต้นักวิชาการมะกัน ระบุ"พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสภาษาบาลี"



วันที่  4 พฤษภาคม พ.ศ.2563  หลังจากมีนักวิชาการพุทธศาสนามหายานชื่อ  ดร. Jan Nattier ชาวอเมริกัน ปาฐกถา เกี่ยวกับภาษาบาลี โดยปาฐกถาว่า "พระพุทธเจ้าเจ้าไม่ได้พูดภาษาบาลี"  ในการเผยแผ่ธรรมะของพระองค์ กลายเป็นเรื่องฮือฮาในสังคมชาวพุทธในประเทศไทย เรื่องนี้ รศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี โพสต์เฟซบุ๊กความว่า
           
เป็นที่ฮือฮา ! ฝรั่งบอก พระพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสภาษาบาลี
           
พวกเรา นี่ก็แปลก ! ต้องอ้างฝรั่ง จึงเชื่อและเห็นคล้อยตาม
  
เป็นที่ฮือฮากันใหญ่ คนฟังอาจจะคิดว่า "เป็นข้อค้นพบใหม่" กันเลยทีเดียว (พูดถึงเพื่อนเถรวาทชาวไทยด้วย) คลิป YouTube นาทีที่ 9.21
             
…. we will have to ask some very basic questions for example what language did the buddha speak that’s pretty basic now if you ask a pious Theravada Buddhist today if you ask one of my neighbors in Thailand They’ll be eager and quick to reply he spoke Pali ……


(มีรอยยิ้มแบบ ???? จากผู้บรรยาย และเสียงหัวเราะ)  ช่อง YouTube :  https://youtu.be/aCCkA12ynLs





ข้อความตอนหนึ่ง  "อาจจะช็อกเลยทีเดียว เมื่อรู้ว่า "บาลี ไม่ใช่ภาษาสำหรับบันทึกคำสอนดั้งเดิมนาที 27.30 เป็นต้นไป  … Pali are not original teachings in anyone’s dialect they are translations or at least transpositions into different wording using various progress elements…..
          
ข้อมูลที่ Jan Nattier บรรยายชั่วโมงกว่า ๆ คามคลิปเต็ม มีประโยชน์หลายอย่าง  บางเรื่อง  ผมกลับพบว่า Jan Nattier ประมวลข้อมูลความรู้สาระที่มีอยู่ในคัมภีร์เถรวาทนั่นแหละ มาพูดใหม่ ที่พวกเราฮือฮากัน "เพราะพวกเรา เรียนห่างเหินคัมภีร์เก่าของเราต่างหาก"

เรื่อง "บาลี ไม่ใช่ภาษา"  เรื่องนี้ผมเรียนตั้งแต่ชั้นบาลีไวยากรณ์ว่า "พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลิ"  ภาษาสำหรับรักษาพระพุทธพจน์  เมื่อศึกษาคัมภีร์ปทรูปสิทธิ ก็ยิ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสด้วย “ภาษาบาลี” รับรู้กันตั้งแต่เรียนแล้วว่า ในสมัยพระพุทธองค์ไม่มีภาษาบาลี  พระพุทธองค์ทรงเทศนาเผยแผ่อริยสัจด้วยภาษามูลมาคธี จะแปลว่า ภาษามคธเก่า มาคธีโบราณก็ได้  (อ้างอิงจากคัมภีร์ ปทรูปสิทธิ และคัมภีร์สายเถรวาทหลายแห่ง ปรากฏข้อความว่า  สา มาคธี  มูลภาสา ฯลฯ สมฺพุทธา จาปิ ภาสเร)

อรรถกถาหลาย ๆ แห่ง เช่นอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค เป็นต้น ก็ยืนยันชัดเจนว่า "พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษามูลมาคธี มาคธิกา แปลว่า ภาษาชาวมคธ"   ในการประกาศเผยแผ่ศาสนธรรมเลือกแคว้นใหญ่ที่มีอิทธิพลทั้งเศรษฐกิจ ภาษาและวัฒนธรรม คือ แคว้นมคธ พระอัครสาวกซ้ายขวา ที่เป็นกำลังในการเผยแผ่ก็เป็นชาวแคว้นมคธ พระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวา มีอิทธิพลกำลังสำคัญในการเผยแผ่ระดับพระธรรมสังคาหกาจารย์ (ผู้สังคายนาพระธรรมวินัย) ต้องนำบทธรรมบรรยายของท่านนับเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธพจน์ คือ "ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค"  (พระไตร ปิฎกเล่มที่ 31 ของไทย)
         
ด้วยความหลากหลายของ "มูลมาคธี"  ตามสำเนียงพื้นเพของพระสาวก และอาจเจือปนด้วยภาษาถิ่นเดิมของแต่ละท่าน พระกัจจายนะจึงได้รจนาระเบียบกฎเกณฑ์ภาษามูลมาคธีขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นภาษากลาง และใช้เป็นหลักจดจารึกพระพุทธพจน์โดยเฉพาะ โดยท่านตั้งอธิการสูตรครอบคลุมกัจจายนสูตรทั้งหมดว่า "ชินวจนยุตฺตํ หิ"  แปลว่า (สูตรที่แสดงต่อไปนี้) ถูกต้องเหมาะสมกับพระพุทธพจน์ แปลให้เข้าใจง่าย ๆ คือคัดเลือกหลักภาษาเฉพาะที่เหมาะสมกับพระพุทธดำรัสเท่านั้น

จากหลักฐาน กัจจายนสูตร "ชินวจนยุตฺตํ หิ"  ข้อนี้ ทำให้ทราบว่า "มูลมาคธี"  มีความหลากหลายผสมผสานปรากฤตโบราณบ้าง สันสกฤตบ้าง ภาษาถิ่นบ้าง พระอรหันต์ อริยสาวก สาวก มีมาจากต่างแคว้น ต่างเมือง ต่างภาษาวัฒนธรรม ท่านก็ต้องเลือกภาษาของตนและของคนพื้นเมืองในการเผยแผ่ธรรม ดังนั้น พระมหากัจจายนะ  จึงรจนากัจจายนสูตร กฎเกณฑ์หลักภาษามูลมาคธี เพื่อให้สาวกรักษา สืบทอด พระพุทธพจน์ต่อไปได้ กฎเกณฑ์ระเบียบภาษาที่รจนาขึ้นใหม่นี้ มีจุดมุ่งหมายรักษา พระพุทธพจน์ พระอรรถกถาจารย์ในยุคหลัง จึงเรียกว่า "ปาลิ" 
         
ปาลิ คือ ระเบียบกฎเกณ์ภาษาที่บัญญัติขึ้นใหม่(จากมูลมาคธี) เป็นภาษากลางของพุทธศาสนา(เถรวาท) เป็นภาษาที่ปรุงแต่งรักษาคัมภีร์โดยเฉพาะ แน่นอนครับ ภาษาดั้งเดิมของพุทธศาสนา ไม่ใช่ภาษาบาลี แต่เป็น"มูลมาคธี"  ใหม่  นี่คือสิ่งที่ชาวพุทธเถรวาทผู้ศึกษาคัมภีร์ รับรู้กันมานานแล้วว่า คำว่า "ปาลิ ไม่มีในพระไตรปิฎก  ปาลิ พึ่งมีปรากฏในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา" 
       
มีผู้นำบางบทบางตอนเรื่องนี้ แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ขออนุโมทนา และขออนุญาตแชร์ให้แพร่หลาย พวกเราจะได้กลับไปศึกษาคัมภีร์สัททาวิเสสเถรวาทดั้งเดิม เมื่อ Jan Nattier ถามอีก จะได้ไม่ตอบว่า "พระพุทธเจ้า พูด (ตรัส) ภาษาบาลี"  ตาม link facebookhttps://www.facebook.com/insideexplorer/videos/2722833591279346/

 อย่างไรก็ตามเวลา 20.00 น.วันนี้วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC) มจร จะจัดรายการออนไลน์ ฟังความเป็นจากนักวิชาการเพิ่มเติม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: แสงทานแห่งสันติ

 ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   (ท่อนนำ) เมื่อใจปล่อยวาง ไม่อ้างโศกเศร้า ทำบุญเพียงเร้า ด้วยใจบริสุทธิ์ (ท่อนสร้อย) แสงทานส่...